Connect with us

News

ด่วน! เริ่ม 1 พ.ค.นี้ ฉีดฟรี! เพื่อป้องกันปอดบวม สมองอักเสบ!!

Published

on

เตรียมเปิดฉีดฟรี! วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ป้องกัน อาการไข้ น้ำมูกไหล จนถึงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ปอดบวมสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับอักเสบ

ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นสาเหตุที่สำคัญของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน พบได้บ่อยในประชากรทุกกลุ่มอายุ อาการแสดงมีตั้งแต่อาการไข้ น้ำมูกไหล จนถึงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวมสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับอักเสบ ฯลฯ พบอัตราป่วยประมาณร้อยละ 10-20 ของประชากร ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง และผู้ที่เป็นโรคอ้วน มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง และเสียชีวิต หากไม่ป้องกันการแพร่ระบาดจะทำให้โรงพยาบาลต้องรับภาระในการดูแลผู้ป่วย และก่อให้เกิดความสูญเสียด้านเศรษฐกิจด้านการรักษาพยาบาลตามมา

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สปสช.จึงได้มีการบรรจุ “บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล” เป็นสิทธิประโยชน์ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคภายใต้ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” มาอย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมือระหว่าง สปสช. และกรมควบคุมโรค โดยในปี 2565 ได้ดำเนินการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่จำนวน 4,200,000 โดส สำหรับฉีดให้กับประชาชนไทยที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม ทุกสิทธิการรักษา ไม่เสียค่าใช้จ่าย ครอบคลุมการป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ (an A/Victoria/2570/2019 (H1N1) pdm09-like virus, an A/Darwin/9/2021 (H3N2)-like virus; และ a B/Austria/1359417/2021 (B/ictoria lineage)-like virus.) ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด โดยเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม 2565 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมด

สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม ได้แก่ 1) หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (ให้บริการตลอดทั้งปี) 2) เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปีทุกคน 3) ผู้มีโรคเรื้อรัง ดังนี้ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4) บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5) โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) 6) โรคอ้วน (น้ำหนัก> 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) และ7) ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้

นพ.จเด็จ กล่าวว่า การเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในปีนี้ เบื้องต้นจะมีข้อความ SMS ส่งให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงเพื่อแจ้งให้เข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งท่านสามารถ Walk in เข้ารับบริการที่หน่วยบริการใกล้บ้านได้เลยไม่ต้องจองล่วงหน้า หรืออาจโทรสอบถามกับหน่วยบริการก่อน ยกเว้นกรุงเทพมหานครที่ยังคงระบบเปิดให้จองฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ล่วงหน้า ด้วยการลงทะเบียนผ่านแอป “เป๋าตัง” เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา โดยเป็นความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย
อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมการบริการ ในวันที่ 25 – 26 เมษายน 2565 จะมีการจัดการประชุมชี้แจงการดำเนินงานการให้บริการวัคซนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลให้กับผู้แทนหน่วยบริการทั่วประเทศ โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ธนาคารกรุงไทย และ สปสช. เพื่อให้การบริการและการดำเนินการเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

“ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป สปสช. ขอเชิญชวนประชาชนไทย 7 กลุ่มเสี่ยง ทุกสิทธิ เข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากช่วยลดความรุนแรงจากการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่แล้ว ยังลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นจากการติดเชื้อของทั้ง 2 โรค และลดอัตราการนอนโรงพยาบาลของผู้ป่วยโรคโควิด-19 รวมทั้งยังลดความสับสนการตรวจคัดกรองภาวะติดเชื้อร่วมระหว่างโรคไข้หวัดใหญ่กับโรคโควิด-19 ได้ ดังนั้นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทั้ง 7 กลุ่ม ควรเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฯ เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพตนเอง โดยสามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่คู่กับวัคซีนโควิด-19 ได้ ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

สำหรับข้อความ SMS ส่งให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงมีดังนี้ “วัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรีมาแล้ว ! สำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ไปฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฟรี! ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ไม่ต้องจอง ไปก่อนได้ก่อน ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม 2565 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมด สามารถค้นหาสถานพยาบาลใกล้บ้านผ่านกระเป๋าสุขภาพได้ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป”

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: