โดย อ่าย ณัฏฐา
สายรุ้งปรากฏการณ์จากธรรมชาติที่ถูกยกให้เป็นสัญลักษณ์ของการสร้างแรงบันดาลใจในหลากหลายวัฒนธรรม มาดูกันค่ะว่า ความหมายของสายรุ้งนั้นสามารถสื่อออกไปในทางใดได้บ้างนะคะ
การเกิดของสายรุ้งตามธรรมชาตินั้นมีความหลากหลายในตัวมันเอง เพราะสีของสายรุ้งเกิดจากอุณหภูมิที่พอเหมาะกับการตกกระทบที่พอดีของแสงแดดกับละอองน้ำที่อยู่ในอากาศ ทำให้เกิดเป็นแถบสายรุ้งขึ้นมานั่นเอง และรู้หรือไม่คะว่า ในแต่ละจุดที่เรายืนมองสายรุ้ง ก็สามารถให้มุมมองของสายรุ้งที่ต่างกันไป ทั้งนี้เป็นการหักเหของแสงในแต่จุดนั้นมีความต่างไปตามองศาที่เราอยู่นั่นเองค่ะ นอกจากนั้นสายรุ้งยังเป็นเสมือนภาพลวงตาที่ไม่สามารถสัมผัสได้แต่มีอยู่จริงอีกด้วย ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือความพิเศษของสายรุ้งที่ถูกตีความเป็นสัญลักษณ์ในเชิงวัฒนธรรมที่หลากหลายค่ะ
สายรุ้งกับความเท่าเทียมและสิทธิเสรีภาพ
ด้วยความหมายที่ค่อนข้างเป็นสากลและเป็นที่รู้จักกันดี สายรุ้งถูกให้เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของกลุ่ม LGBTQ+ โดยสัญลักษณ์สายรุ้งสำหรับคนกลุ่มนี้ได้ถูกออกแบบโดยคุณ Gilbert Baker ที่ออกแบบสายรุ้งที่ประกอบด้วยสีทั้งหมด 8 สี ประกอบด้วยสีชมพู(เพศ), สีแดง(ชีวิต), สีส้ม(เยียวยารักษาใจ), สีเหลือง(แสงตะวัน), สีเขียว(ธรรมชาติ), สีฟ้า(ศิลปะ), สีน้ำเงินเข้ม(ความเป็นหนึ่งเดียว) และสีม่วง(จิตวิญญาณ) เพื่อเป็นการสื่อถึงสังคมของชาวเกย์ค่ะ ทั้งนี้เพื่อต้องการสื่อถึงความเท่าเทียมกันของคนทุกเพศ ซึ่งถือเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งที่ทุกๆ คนย่อมมีสิทธิ และอิสรภาพเท่าเทียมกันโดยปราศจากการแบ่งแยกไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ, สีผิว, เพศ, ภาษา, ศาสนา, ความคิดเห็นทางการเมืองหรือเรื่องอื่นๆ ก็ตาม และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองความเท่าเทียมกันทางเพศจึงมีการกำหนดอย่างเป็นสากล ให้เดือนมิถุนายนเป็น Pride month หรือเรียกอีกอย่างว่าเดือนแห่งผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ในช่วงเดือนนี้ในหลายๆ ประเทศจึงมีการเดินขบวนพาเหรดและประดับธงสีรุ้งตามสถานที่ต่างๆเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง Pride Month ค่ะ
สายรุ้งกับแรงบันดาลใจทางศิลปะ
เนื่องจากสัญลักษณ์ของสายรุ้งเป็นการสื่อถึงความหลากหลาย และเป็นตัวแทนของสิทธิและเสรีภาพ จึงไม่แปลกเลยที่สายรุ้งจะถูกยกให้เป็นหนึ่งในลวดลายยอดนิยมของศิลปะบนเรือนร่าง เช่น การสักลายลงบนผิวหนัง นอกจากนั้นแล้ว ศิลปะแขนงต่างๆ อย่าง Street Arts หรือ Graffiti ก็นิยมนำสัญลัษณ์สายรุ้งมาทำเป็นภาพวาดที่มีความหลากหลายไปตามวัฒนธรรมเช่นเดียวกัน
สายรุ้งกับความสดใสของวัยเด็ก
เนื่องจากความหลากหลายของสีสันในสายรุ้งที่มีถึง 7 สี สีของสายรุ้งจึงมักถูกนำมาประกอบเข้ากับของเล่นเด็ก ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นการเรียนรู้ และพัฒนาการในสมองของเด็กๆ ที่จะช่วยให้เด็กๆสามารถรับรู้ได้ถึงสีที่มีความสดใส และแตกต่างกันไป โดยของเล่นที่มีสีสันสดใสนี้สามารถเริ่มใช้ได้กับเด็กที่มีอายุประมาณ 18 เดือน เพราะจะเป็นช่วงวัยที่เด็กๆ จะเริ่มมีความสามารถในการแยกแยะสีต่างๆ ได้ค่ะ
__________________________________________________________________________________________
อ่านบทความอื่น ๆ
เคล็ดไม่ลับของคนรวย เลือก “กำไล“ ยังไงให้มีแต่ “กำไร”