Connect with us

Politics

ศรีสุวรรณเข้าให้ปากคำต่อ กกต. กรณี ร้องขอให้สอบนโยบายแจกเงินดิจิทัล ของพรรคเพื่อไทย

Published

on

ชี้ หากไม่มีคำตอบ เจอกันที่ศาลปกครอง !!!

เมื่อช่วงสายของวันนี้ (11พ.ค.66) เวลา 10.00 น. ที่สำนักงาน กกต. ศูนย์ราชการฯ อาคาร B นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมาให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หลังจากได้รับหนังสือ “ด่วนที่สุด” จาก กกต. เพื่อให้มาให้ถ้อยคำประกอบคำร้อง กรณีที่สมาคมได้ยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย ที่เสนอนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10000 บาท เป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้กับพรรคและผู้สมัครพรรคเพื่อไทย อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องหรือไม่


         
ทั้งนี้ นายศรีสุวรรณให้ถ้อยคำยืนยันต่อ กกต.ว่าการหาเสียงโดยการแจกเงินดังกล่าวอาจเป็นการฝ่าฝืน ม.73(1) และ (5) ของ พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.2561 ประกอบ พรบ.เงินตรา 2501 พรบ.ธนาคารแห่งประเทศไทย 2485 พรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 พรก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 2561 และ พรก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) 2561 ได้


           
อย่างไรก็ตามแม้พรรคเพื่อไทยจะได้ชี้แจงนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่ต้องใช้เงิน ตามมาตรา 57 พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ต่อ กกต. และได้มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะเป็นการทั่วไปแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากตัวเลข 5,600,000 ล้านบาท ที่ต้องนำมาใช้ในนโยบายนี้ ยังเป็นที่สงสัยกันอย่างมากว่า วงเงินดังกล่าวต้องนำมาใช้ในครั้งเดียวก่อนเริ่มโครงการ จะอ้างนำภาษีที่ได้จากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย 1 แสนล้านบาท มารวมก่อนไม่ได้ ส่วนการตัดงบประมาณที่ซ้ำซ้อนก็ไม่แจ้งให้ชัดว่าจะตัดงบประมาณด้านใด ตัดงบบัตรคนจน
ตัดงบผู้สูงอายุ ใช่หรือไม่
             
ที่สำคัญ หากพรรคเพื่อไทยจัดสรรเงินที่จะต้องนำมาใช้จ่ายตามกรอบวงเงินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล จะไปกระทบกับวงเงินงบประมาณจากนโยบายการใช้จ่ายเงินอื่น ๆ ของพรรคเพื่อไทยที่มีรวม 70 นโยบาย 15 ด้าน ตามเอกสารชี้แจง ซึ่งกำหนดกรอบวงเงินที่ใช้ดำเนินการตลอดระยะเวลา 4 ปีตามวาระรัฐบาล รวมเป็นเงินกว่า 3 ล้านล้านบาทด้วย ซึ่งความเป็นไปได้มีน้อยมาก และหากมีความพยายามผลักดันนโยบายดังกล่าวออกมาใช้ก็อาจจะไปกระทบต่อวินัยการเงินการคลังของชาติ ซึ่งนอกจากสุ่มเสี่ยงที่จะผิดกฎหมายแล้ว ยังเป็นการหาเสียงที่ถูกครหาจากนักวิชาการและผู้ที่อยู่ในแวดวงการเงินการคลังมากมายอีกด้วย


              
อีกทั้งการชี้แจงนโยบายดังกล่าว อาจไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของ ม.57 พรป.พรรคการเมือง 2560 ที่กำหนดไว้หรือไม่ ซึ่ง กกต. ต้องพิจารณาและวินิจฉัยว่านโยบายหาเสียงดังกล่าว มีความเป็นไปได้ หรือมีการปกปิดข้อมูลที่ควรจะแจ้งหรือไม่ หากมีการปกปิด ก็อาจจะเข้าข่ายผิด พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 73(5) ได้ ซึ่งนโยบายในลักษณะ กกต.ต้องเร่งวินิจฉัยเพื่อวางบรรทัดฐานเกี่ยวกับการใช้นโยบายประชานิยมสุดขั้วมาใช้หาเสียง ซึ่งอาจก่อความเสียหายต่อการเงินการคลังของชาติได้ในอนาคต แต่หาก กกต.ไม่ดำเนินการใด ๆ สมาคมฯจำต้องนำความไปฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อสร้างบรรทัดฐานของการหาเสียงต่อไป นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
facebook @ ศรีสุวรรณ จรรยา

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: