Connect with us

Politics

ร่มธรรม จารึก! ประวัติศาสตร์ “รัฐบาลเสดสา ทวีหนี้สิน”!!

Published

on

“ร่มธรรม” ชวน ปชช. ร่วมจารึกประวัติศาสตร์ “รัฐบาลเสดสา ทวีหนี้สิน” งบ 68 เป็นงบแห่งการกู้ ในรัฐบาลแห่งการก่อหนี้

ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ได้สรุปการอภิปรายของพรรคในวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ 2568 ว่า วาระของในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถือเป็นวาระที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเงินงบประมาณเหล่านี้มาจากภาษีของพี่น้องประชาชน ดังนั้นจึงต้องใช้การพิจารณาอย่างรอบคอบว่ารัฐบาลจะนำเงินของพี่น้องประชาชนไปทำอะไร นอกจากนี้งบประมาณรายจ่ายประจำปียังเป็นเครื่องสะท้อนว่ารัฐบาลมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศอย่างไร จะนำนโยบายที่หาเสียงไว้ไปสู่การปฏิบัติโดยวิธีใด และที่สำคัญรัฐบาลจะช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้หรือไม่

“เราคาดหวัง แม้จะรู้ว่าไม่มีหวังว่าการจัดทำงบประมาณปีนี้ จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาพี่น้องประชาชน และตอบสนองความท้าทายของประเทศ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ค่าของชีพสูงขึ้น น้ำมัน ค่าไฟ ราคาสินค้าทางการเกษตรผันผวน อีกทั้งมีปัญหาความเป็นอยู่คุณภาพชีวิต มิจฉาชีพระบาด ยาบ้าเต็มเมือง คุณภาพการศึกษาตกต่ำ และปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งมลพิษทางอากาศ สารเคมี ภัยแล้ง ไปจนถึงภาวะโลกร้อน สิ่งที่ปรากฏก็ต้องผิดหวังอีกครั้ง เพราะเป็นงบประมาณที่ตั้งหน้าตั้งตากู้เงินมาแจก สร้างหนี้ให้กับประเทศ แต่กลับเมินเฉยต่อปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนและความท้าทายของประเทศ” นายร่มธรรม กล่าว

พร้อมกับได้ให้เหตุผลของการไม่เห็นด้วยกับร่างงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ว่า

ประเด็นที่หนึ่ง รัฐบาลจัดทำ “งบประมาณแบบดันทุรังกู้เงิน” ก่อหนี้มหาศาลอย่างไม่สมเหตุสมผล


– งบประมาณ ปี 68 วงเงิน 3,752,700 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่แล้ว 7.8% ขณะที่ประมาณการรายได้ของรัฐบาลอยู่ที่ 2.88 ล้านล้านบาท หมายความว่าจะต้องกู้เพื่อมาชดเชยการขาดดุลถึง 8.65 แสนล้านบาท ถือเป็นการตั้งงบประมาณรายจ่ายที่ขาดดุลหรือเกินจากรายได้ไปสูงจนเกือบชนเพดาน


– ยอดหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึง 11 ล้านล้านบาท คิดเป็น 65% ของจีดีพี และตามแผนของรัฐบาล ก็คาดว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นอีกจนเกือบ 70% ซึ่งเกือบชนเพดานหนี้ในช่วงท้ายของรัฐบาล


– ด้านโครงสร้างงบประมาณรายจ่าย พบว่า เป็นรายจ่ายประจำไปถึง 2.7 ล้านล้านบาท คิดเป็น 72% ของงบประมาณทั้งหมด จะเห็นว่าลำพังเพียงงบรายจ่ายประจำอย่างเดียวก็ใกล้เคียงกับรายได้ของรัฐบาลที่มีอยู่ 2.8 ล้านล้านบาทไปแล้ว  หมายความว่ารัฐบาลจะต้องตั้งงบประมาณขาดทุนอย่างต่อเนื่อง หรือต้องกู้อย่างต่อเนื่องต่อไป

– ด้านรายจ่ายลงทุนอยู่ที่ 9.08 แสนล้านบาท คิดเป็น 24.9% แม้จะเพิ่มจากปีที่แล้วเกือบ 2 แสนล้านบาท แต่ส่วนใหญ่จะเป็นผลมาจากโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ที่ใส่มาในงบประมาณปีนี้ แต่ภาพรวมแล้วถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับรายจ่ายประจำและประเทศควรมีการลงทุนที่มากกว่านี้ ซึ่งเราคาดหวังว่าในปีต่อ ๆ ไป รัฐบาลต้องจัดงบลงทุนให้สูงขึ้นและอยู่ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น

– งบประมาณจำแนกตามกลุ่มรายจ่าย ปีนี้งบกลางเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 6.14 แสนล้านบาท เป็น 8.05 แสนล้านบาทในปีนี้ เพิ่มขึ้นมากถึง 31% เป็นงบรายจ่ายบุคลากร 5.49 แสนล้านบาท คิดเป็น 68.2% ของงบกลางทั้งหมด เป็นเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉิน 9.5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 11.8%  สำหรับเงินสำรองกรณีฉุกเฉินนั้น ได้เกิดคำถามว่ามีการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 67 ต่ำมาก โดย ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 67 มีการเบิกจ่ายไปเพียง 2.5% ของงบประมาณ ซึ่งถือว่าน้อยมาก เพราะงบประมาณส่วนนี้ควรใช้กับการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติที่ผ่านมาทั้งภัยแล้งมลพิษในสัดส่วนเหมาะสมกว่านี้

สำหรับงบ 68 มีรายการใหม่ที่ชื่อว่า ค่าใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ จำนวน 1.52 แสนล้านบาท โดยงบก้อนนี้ทราบกันว่าจะนำไปใช้เพื่อทำโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท

“ผมไม่อยากจะเชื่อว่า นี่เป็นฝีมือของผู้บริหารธุรกิจ ท่านจะบอกว่าจะก่อพายุหมุนทางเศรษฐกิจ ก่อสึนามิการลงทุนบ้างแต่เท่าที่ดู ผมคิดว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นี้คือการก่อมรสุมเงินกู้ ที่จะโปรยหนี้ให้ท่วมกันทั่วหน้ามากกว่า เพราะหนี้เหล่านี้จะเป็นสิ่งที่พี่น้องประชาชนทั้งประเทศต้องแบกรับ ที่ต้องมาจ่ายภาษี จ่ายเงินกู้ทั้งเงินต้นและเงินดอก บางคนก็แซวว่าโครงการนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือจะกระตุ้นยอดขายให้กับบริษัทกันแน่ ซึ่งนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต จากนโยบายเรือธงวันนี้ได้กลายเป็นนโยบายเรือเกลือ เหมือนที่ท่าน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้กล่าวไป และผมคิดว่าในสุดท้ายก็จะกลายเป็นนโยบายเรือล่มในที่สุด” นายร่มธรรม กล่าว

พร้อมกับแนะรัฐบาลว่า จะต้องคำนึงถึงการเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนที่มีความยั่งยืนในทุกมิติมากกว่านี้ เราต้องพัฒนาเรื่องพื้นฐานให้มาก ทั้งเรื่องการพัฒนาคน การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน แหล่งน้ำ สิ่งแวดล้อม ที่ดินทำกิน การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจฐานรากที่เท่าเทียมให้กับประชาชน โดยเฉพาะธุรกิจรายเล็กรายย่อย และการลงทุนกับสิ่งใหม่ๆ ธุรกิจสีเขียว ส่งเสริมการส่งออก ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และการท่องเที่ยวให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่คิดว่าเอาเงินในอนาคตมาแจกแล้วตกให้เป็นภาระของประชาชนและภาระรัฐบาลต่อไป

ประเด็นที่สอง รัฐบาลจัดทำ “งบประมาณแบบเมินปัญหา” ไม่ตอบสนองต่อความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และไม่ตอบโจทย์ความท้าทายของประเทศ โดยรัฐบาลพยายามดันทุรังเรื่อง ดิจิทัล วอลเล็ต และการผลักดันเศรษฐกิจ แม้เราจะไม่เห็นว่ามีมาตรการใดประสบความสำเร็จเท่าไรนัก นอกจากนี้งบประมาณปีนี้ก็ไม่ได้สะท้อนการให้ความสำคัญของรัฐบาลในประเด็นอื่นๆ ทั้งที่เรามีปัญหาและความต้องการมากมาย ตั้งแต่เรื่องการเกษตร เรื่องสวัสดิการ แรงงาน การศึกษา ยาเสพติด สุขภาพ ไปจนถึงเรื่องการท่องเที่ยวและกีฬา และที่สำคัญที่อยากเน้นย้ำคือปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งฝุ่นพิษ พีเอ็ม 2.5 ภัยแล้ง และสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่รัฐบาลกลับจัดทำงบประมาณทั้งปีนี้และปีที่แล้ว เหมือนชื่อนายกฯ ซึ่งเป็นจัดงบประมาณสิ่งแวดล้อมแบบ “นิด นิด”

“ปัญหาทั้งหมดรัฐบาลทราบดี มีการตั้งเป้าหมายไว้ทุกด้าน แถลงนโยบายสิ่งแวดล้อมชัดเจน และไปร่วมสัญญากับเขาไว้ทั้งโลก แต่มาวันนี้ทั้งเป้าหมายและแผนปฏิบัติการณ์ต่างๆ ก็ยังไม่เห็นอย่างเป็นรูปธรรม พอมาดูงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมแบบน้อยนิด ก็ต้องบอกว่า รัฐบาลเมินปัญหานี้ เหมือนรู้แต่ไม่ทำ เพราะเอาเงินไปทำโครงการเรือเกลือหมดแล้ว” นายร่มธรรม กล่าว

พร้อมกับเสนอให้รัฐบาลผลักดันปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นวาระแห่งชาติจริงๆ โดยเริ่มจากเงินเดือนของเจ้าหน้าที่ที่ดูแลป่า ทั้งที่มีภารกิจหน้าที่ที่สำคัญแต่ค่าตอบแทนต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ และมีปัญหาเงินเดือนออกล่าช้า

ส่วนปัญหาโลกร้อน รัฐบาลก็ต้องเร่งออกแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แผนปรับตัวสภาพภูมิอากาศก็ต้องเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมเสียที พร้อมกับเร่งนำ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ามาพิจารณาในสภา เราสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสของประเทศได้ทั้งเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว คาร์บอนเครดิต พลังงานสะอาดแต่ต้องทำแล้วให้ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด แต่ถ้ารัฐบาลสัญญาและลงมือทำแบบเฉื่อยช้า ตั้งงบประมาณแบบนี้ ดูเหมือนกำลังพลิกโอกาสให้เป็นวิกฤตอยู่ เพราะบางเรื่องเงิน 10,000 บาท ก็ไม่สามารถซื้อได้ โดยเฉพาะสุขภาพและชีวิตของพี่น้องประชาชน

ประเด็นที่สาม  รัฐบาลจัดทำ “งบประมาณเมินท้องถิ่น” งบประมาณปี 68 รายได้ของท้องถิ่นทั้งสิ้นอยู่ที่ 8.39 แสนล้านบาท คิดเป็น 29.1% ของรายได้สุทธิของรัฐบาล หมายความว่าอำนาจส่วนใหญ่ของการบริหารงบประมาณถูกจัดสรรไว้ที่ราชการส่วนกลางถึง 70.9%  ขณะที่รายได้ของอปท. เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 4.9 หมื่นล้านบาท แต่ก็เป็นสัดส่วนเท่าเดิมเหมือนที่ตั้งไว้ในงบประมาณปี 67 และยังต่ำกว่าเป้าหมายที่จะทำให้ท้องถิ่นมีรายได้ไม่น้อยกว่า 35% ต่อรายได้สุทธิของรัฐบาล อีกปัญหาที่สำคัญของท้องถิ่น ส่วนใหญ่ให้มาแต่ภาระ แต่ไม่ได้ให้งบประมาณมาด้วย หลายโครงการเกินศักยภาพท้องถิ่น

“เราในฐานะตัวแทนของประชาชนสามารถหยุดยั้งงบประมาณที่สร้างหนี้ก้อนโต แต่ประชาชนต้องตายผ่อนส่งฉบับนี้ได้ ผมจึงขอให้เราได้ร่วมกันลงมติในวันนี้อย่างรอบคอบและนึกถึงเจ้าของเงินงบประมาณที่แท้จริง นั่นก็คือประชาชนทุกคน และหากร่างงบประมาณฉบับนี้ผ่านในวาระรับหลักการ เราจะจดจำและจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทยว่างบประมาณปี 68 คืองบประมาณแห่งการกู้ และรัฐบาลนี้คือรัฐบาลแห่งการก่อหนี้ “รัฐบาลเสดสา ทวีหนี้สิน” ”  นายร่มธรรม กล่าวในที่สุด

#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: