หลักสูตรฐานสมรรถนะ กระทรวงศึกษาธิการ ที่ถูกคัดค้านถึงข้อเสียมาตลอด แต่กลับพบเร่งรีบเตรียมประกาศใช้ในช่วงนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2564 หลังจาก น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ออกมประกาศใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยให้มีการนำร่องใช้ทันทีในเดือนกันยายนนี้นั้น ปรากฏว่า มีทั้งนักวิชาการและผู้ที่อยู่ในวงการศึกษา หลายฝ่ายออกมาคัดค้านถึงความไม่เหมาะสม ผิดที่ ผิดเวลา ของช่วงเวลาที่เริ่มทดลองใช้ เพราะมีความเร่งรีบและยิ่งเวลานี้ยังอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 รวมถึงความไม่มีหลักประกันว่า หลักสูตรฐานสมรรถนะจะสามารถพัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้ดีกว่าหลักสูตรปัจจุบัน เพราะหลักสูตรแกนกลางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551
ซึ่งเป็นหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based Curriculum) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้กำหนดเรื่องสมรรถนะของผู้เรียนไว้ทั้ง 5 ด้านอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการตนเองอย่างมีสุขภาวะ, การคิดขั้นสูงและการเรียนรู้, การสื่อสารด้วยภาษา, การจัดการและการทำงานเป็นทีม และการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และยังมีการปรับปรุงหลักสูตรไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียน (Competency-based Learning) เป็นสำคัญ ด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning) ไม่ใช่มาสร้างหลักสูตรใหม่อยู่เรื่อยๆ
กรรมการพัฒนาหลักสูตรท่านหนึ่งที่ไม่ประสงค์ออกนาม เล่าให้ฟังว่า การปรับหลักสูตรจากหลักสูตรอิงมาตรฐาน มาเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา โดยคณะกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่มี รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน ได้ร่างไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่รองรับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติที่จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ และที่สำคัญการปรับหลักสูตรแต่ละครั้งจำเป็นต้องอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับครู ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนไม่น้อย และการปรับหลักสูตรดังกล่าวก็ต้องมีการเปลี่ยนหนังสือเรียนใหม่ทั้งหมดด้วย น้องที่เคยใช้หนังสือเรียนต่อจากพี่ ก็จะไม่สามารถใช้หนังสือเรียนจากพี่ได้เหมือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะวิชาหลัก เช่น วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่เป็นลิขสิทธิ์ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.)เป็นต้น
ดังนั้นตอนนี้จึงมีการเรียกร้องให้ชะลอการขับเคลื่อนหลักสูตรฐานสมรรถนะออกไปก่อน โดยเร็ว ๆ นี้ทราบว่าจะมีผู้เสนอคัดค้านการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า การปรับหลักสูตรครั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการเตรียมการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยมีสำนักพิมพ์เอกชนแห่งหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากเมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา สำนักพิมพ์เอกชนดังกล่าวได้โพสต์บนเพจเฟซบุ๊ก เชิญชวนครูลงทะเบียนร่วมอบรมเตรียมความพร้อมครู สู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ ด้วยการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะเป็นการเตรียมการเพื่อพิมพ์หนังสือเรียนรองรับหลักสูตรใหม่นี้ด้วย
เรื่องนี้จึงมีคำถามมามากว่า เหตุใดจึงเร่งรีบประกาศใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในช่วงนี้ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีการทำประชาพิจารณ์ อีกทั้งต่อไปก็จะตั้งสถาบันพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียน ซึ่งจะเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติอยู่แล้ว แต่ทำไมไม่ยึดตามราชกิจจานุเบกษา และกฏหมายรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องการปรับหลักสูตร
You must be logged in to post a comment Login