Connect with us

Culture & Art

“จันทร์รู้เรื่อง” ไปเที่ยวทิพย์ ดู “มัมมี” กันเถอะ

Published

on

โดย ผศ.เยาวนาถ นรินทร์สรศักดิ์


สวัสดีค่ะ จันทร์นี้ จะพาท่านท่องไปกับ Flight ทิพย์ ย้อนอดีต กับ “ศิลปะยุคโบราณ” กันต่อ ค่ะ

              ย้อนอดีตแบบ ทิพย์ Trip ไปที่ ยุคสมัยอาณาจักรอียิปต์โบราณ เรียกได้ว่า ยุคนี้เป็น ยุคสมัยแห่ง ศิลปะ วิญญาณ ความเชื่อ และศรัทธา ค่ะ มีช่วงระยะเวลายาวนานก่อนเริ่มเวลาของคริสตศักราช ประมาณ 5,000 ปีก่อนคริสตศักราช ในสังคมของอียิปต์มีการแบ่ง ชนชั้น วรรณะ หรือระดับของคนในสังคมไว้ ตั้งแต่ สูงสุดจนถึง ต่ำสุด คือ ตั้งแต่ ฟาโรห์ พระ ขุนนาง พ่อค้า ช่างฝีมือ ชาวนา จนกระทั่งถึง ทาส นั่นแสดงให้เห็นว่ายุคนั้น ฟาโรห์ (Pharaoh) เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด ชาวอียิปต์มีความเชื่อว่า “ฟาโรห์ เป็นตัวแทนของเทพเจ้า “รา” แห่งดวงอาทิตย์ เป็นสุริยเทพของชาวอียิปต์” เทพเจ้ารา เป็นเทพเจ้าที่ได้รับการบูชามาตั้งแต่อดีต  ชาวอียิปต์เชื่อว่า ฟาโรห์เป็นโอรสแห่งสุริยเทพ ที่ถูกส่งลงมาปกครองโลกมนุษย์ “เทพเจ้ารา” เป็นตัวแทนแห่งการฟื้นคืนชีพ เสมือนพระอาทิตย์ที่ขึ้นใหม่ในทุกๆ เช้าของโลกมนุษย์ นั่นอาจเป็นที่มาของการสร้าง “มัมมี่ฟาโรห์” ที่มีความหวัง ในการให้ กษัตริย์ฟาโรห์ กลับฟื้นคืนชีพในโลกเดิม ได้อีกครั้ง

เทพเจ้าราแห่งดวงอาทิตย์

              ชาวอียิปต์ตั้งแต่ ฟาโรห์ไปจนถึงทาส มีความเชื่อในเรื่องโลกหน้า ชาติหน้า สวรรค์นรก และการกลับคืนฟื้นชีวิตชีวิตขึ้นมาใหม่ และเชื่อว่าคนที่ตายไปแล้ว วิญญาณจะออกจากร่างไปให้สุริยเทพทั้ง 7 พิพากษา พิจารณา บาปบุญ คุณโทษ และเมื่อชดใช้ชำระกรรมแล้ว วิญญาณนั้นก็จะกลับเข้ามาสู่ร่างเดิม จึงเกิดประเพณีการรักษาศพหรือมัมมี่ (Mummy)  เพื่อรอรับวิญญาณที่จะกลับมาสู่ร่างอีกครั้ง ชาวอียิปต์มีศาสนา และพิธีกรรมอันซับซ้อนแทรกซึมอยู่ในวัฒนธรรมสังคมเป็นเวลานาน มีการนับถือเทพเจ้าที่มีลักษณะอันหลากหลาย ดังนั้นงานจิตรกรรม ประติมากรรมและสถาปัตยกรรมส่วนมาก จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อ โดยเฉพาะพิธีฝังศพ ฟาโรห์ ซึ่งมีความเชื่อว่าเมื่อตายไปแล้ว จะยังมีดวงจิตอยู่ในโลกใหม่ได้อีก จึงมีการรักษาศพไว้อย่างดีในลักษณะมัมมี่ รวมทั้งศพของเหล่าบริวารของฟาโรห์ และนำสิ่งของเครื่องใช้ที่มีค่าของผู้ตาย บรรจุตามลงไปด้วย นอกจากมัมมี่ ฟาโรห์ ซึ่งเป็นกษัตริย์แล้ว ชาวอียิปต์โบราณ ยังพบหีบศพจะสวยงามและหรูหราเพียงใด ก็จะขึ้นอยู่กับฐานะของผู้ตายและญาติผู้ทำศพ การทำมัมมี่นั้นจะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ และนักบวชโดยเฉพาะ ค่าใช้จ่ายก็ค่อนข้างสูง นอกจากฟาโรห์แล้ว มีแต่ระดับชั้น ฟาโรต์ ขุนนาง และคนมีฐานะเท่านั้น จึงจะสามารถทำศพมัมมี่ได้ นอกจากมัมมี่ที่เป็นมนุษย์แล้ว ยังมีมัมมี่สัตว์เลี้ยงที่เจ้าของโปรดปราน รวมไปถึงมัมมี่ของสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่คนอียิปต์มีความเชื่อ เช่น วัว แมว และ นกกระสาอีกด้วย

ผ้าพันร่างมัมมี่

ที่มีการค้นพบผ้าที่มีความยาว 100 เมตร ต่อการพันร่าง 1 ศพ โดยวัสดุที่ใช้ในการพันร่าง ได้แก่ ผ้าลินินชุบน้ำยางไม้ เพื่อกันห่อทบผ้าแบบแนบแน่น ให้ชิดสนิท ติดกับร่างอย่างเรียบแน่น ผ้าที่ใช้พันศพด้านในสุด เป็นผ้าที่ชโลมด้วยขี้ผึ้งและใช้เจลาติน ซึ่งจะเป็นตัวยึดผ้าให้ติดกันอย่างแนบสนิทอีกครั้ง ตามความเชื่อของชาวอียิปต์ ผ้าลินินที่นำมาใช้ จะนำมาจากวิหารของเทพเจ้า ตามความเชื่อที่ว่า จะเป็นผ้าศักดิ์สิทธิ์ ช่วยปกป้องคุ้มครองให้ร่างมัมมี่นั้นได้รับ ความสงบ ปราศจากสิ่งชั่วร้ายมารบกวน ชาวอียิปต์ถือกันว่าเลขมงคล คือเลข 7 ดังนั้นจึงต้องพันผ้ารอบศพให้ครบ 7 รอบ ซึ่งในแต่ละรอบนั้น จะมีการวางเครื่องรางเล็กๆ ไว้บนผ้าที่พันเพื่อรักษาวิญญาณตามประเพณีด้วย นอกจากนั้นยังเขียนจารึกที่ผ้าพันศพ เหมือนการบันทึกประวัติศาสตร์เอาไว้ และในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 15 ยังพบว่าชาวยุโรปจะนำผ้าห่อศพมัมมี่ ที่มีน้ำหนัก 1 ปอนด์ มาขาย ในราคา 8 ชิลลิ่ง เพราะคนยุโรปในยุคนั้น มีความเชื่อว่า “ผ้าห่อศพมัมมี่ช่วยรักษาอาการอาเจียนและรักษาบาดแผลได้”

ที่มาภาพ กด

              ในการทำมัมมี่นั้น ยุคแรกๆ ค้นพบว่ามีการนำเอาอวัยวะภายในสำคัญของผู้ตาย เช่น ปอด ลำไส้ ตับ และกระเพาะอาหาร มาบรรจุรวมกันเข้าไว้ในห่อผ้าลินิน และเก็บรักษาไว้พร้อมร่าง ส่วนของหัวใจจะเก็บไว้อยู่กับร่าง จะไม่นำออกมาจากศพ เพราะยุคนั้นมีความเชื่อที่ว่า วิญญาณจะกลับมาสู่ร่าง พร้อมกับมีหัวใจอยู่ในตัว นักประวัติศาสตร์ยังพบด้วยว่า อวัยวะเหล่านี้จะถูกห่อด้วยผ้าลินินผสมกับวัสดุธรรมชาติ เช่น ขี้เลื่อย โคลน จากนั้นใส่กลับลงไปในร่างศพที่ตากแห้งแล้ว นักประวัติศาสตร์พบว่าในบางยุค ก็มีการนำเอาอวัยวะเหล่านั้นใส่ในโถ ที่เรียกว่า “โถคาโนปิก (Canopic)” มีการนำเอาอวัยวะแต่ละชิ้น แยกใส่ในโถแต่ละใบ ในโถหนึ่งชุด จะมี 4 ใบ แล้ววางไว้ข้างมัมมี่ ในหลุมศพ

TUTANCAMUN CANOPIC JARS
ที่มีภาพ กด

              หน้ากากของมัมมี่ เป็นสิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้ ส่วนใหญ่ทำจากผ้าลินิน พอกด้วยปูนปิดทอง และฝังวัสดุประดับตกแต่งตามฐานะของผู้ตาย มีการวาดใบหน้าทั้งตา และคิ้วให้สวยงามประหนึ่งร่างนั้น ได้พรจาก 7 เทพเจ้า และนอนอย่างสงบภายใต้หน้กากที่สวยงาม เพื่อรอการฟื้นคืนจากโลกหลังความตาย

              หีบและโลงบรรจุมัมมี่ แบ่งลำดับตามชนชั้นเช่นกันสภาพศพของผู้มีฐานะดี จะใช้หีบและโลงซ้อนกันหลายชั้น เพื่อบรรจุร่างมัมมี่ ส่วนโลงชั้นไหนของชาวบ้านทั่วไป มักเป็นโลงไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แกะสลักฝาโลงเป็นรูปร่างหน้าตาของผู้ตาย หีบบรรจุโลงชั้นนอกสุด มักเป็นโลงหิน โลงศพที่นักประวัติศาสตร์ค้นพบแล้วทำให้โลกตื่นตะลึงมาแล้ว นั่นคือโลงศพชั้นในของมัมมี่ “ฟาโรห์ตุตันคามุน” ที่ทำจากทองคำแท้ ยิ่งเมื่อเปิดโลงทองคำออกมาก็ทำให้ตะลึงไปกว่าเดิม เมื่อพบว่าหน้ากากมัมมี่ “ฟาโรห์ตุตันคามุน” ก็เป็นทองคำแท้เช่นกัน บนโลงศพมีการจารึกคาถาปกป้องดวงวิญญาณให้ปลอดภัย ขณะที่ดวงวิญญาณเดินทาง สู่อีกภพภูมิอันแสนไกล และรอการฟื้นคืนจากโลกหลังความตาย

TUTANCAMUN MUMMY
ที่มาภาพ กด
TUTANCAMUN DEATH MASK
ที่มาภาพ กด

              ชาวอียิปต์โบราณ เชื่อว่า ก่อนผู้ตายจะไปสู่ยังปรภพได้ ก็ต้องผ่านดินแดนใต้โลก อันเป็นที่ที่เต็มไปด้วยมารร้าย สัตว์ที่ดุร้ายต่างๆ ซึ่งผู้ตายจะต้องอาศัยมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อปกป้องให้เดินทางได้โดยปราศจากภัยร้ายมาแผ้วพาน มนตราเหล่านี้ จะจารึกอยู่ในสมุดบันทึกที่เรียกว่า “มนตราสำหรับผู้ตาย” ซึ่งเป็น ตำราเขียนลงบนกระดาษปาปีรุส และจะถูกฝังไปด้วยกันกับผู้ตายในปิรามิด ถือเป็นการเสร็จสิ้นวิธีการทำมัมมี่  ในพิธีศพ ญาติพี่น้องของผู้ตายมาไว้อาลัยและทำพิธี “เปิดปากศพ” เพื่อเป็นการเลี้ยงอาหารให้ผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะเอาโลงไปใส่ในโลงหินที่แกะสลักเตรียมไว้ ที่ตั้งอยู่ในสถานเก็บศพ พร้อมด้วย เครื่องเรือน เสื้อผ้า สิ่งของเครื่องใช้ของมีค่า อาหารและเครื่องดื่ม จะถูกจัดวางเตรียมบรรจุไว้อย่างพร้อมเพรียง เพื่อเป็นเสบียงให้ผู้ตายได้เดินทาง สู่ปรภพโดยสะดวกปลอดภัย เมื่อเสร็จพิธีร่างของผู้ตายในมัมมี่ ก็พร้อมที่จะออกเดินทางสู่ดินแดนภพภูมิใหม่ ที่เขาจะถูกตัดสินตามความดีที่ได้สั่งสมไว้ยามเมื่อยังมีชีวิตอยู่ หากมีหัวใจดีบริสุทธิ์จริง ผู้ตายก็จะถูกส่งไปดินแดนอันสวยงามเพื่อชีวิตอันเป็นอมตะ ในดินแดนที่เรียกว่า “ทุ่งต้นกก” และอาจจะได้กลับมาสู่ร่างเดิมในร่างมัมมี่ของตนเองได้ ด้วยดวงจิตดวงเดิมและในกายสังขารเดิมของตนเอง

โดย ผศ.เยาวนาถ นรินทร์สรศักดิ์

_____________________________________________________________________________

อ่านบทความอื่น ๆ

“จันทร์รู้เรื่อง” สุนทรียศาสตร์ ลัทธิ และความเชื่อทางศิลปะตะวันตก

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Click to comment

You must be logged in to post a comment Login

Leave a Reply

Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: