โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์
หนึ่งในเอกลักษณ์ของโนรา นอกจากจะมีโนราที่เป็นตัวรำยืนพื้นแล้ว ยังมีอีกหนึ่งสีสันที่ขาดไม่ได้ทั้งในเชิงการแสดง และในเชิงพิธีกรรม นั่นคือ “ นายพราน ”
นายพราน จะเป็นพรานออกมานาดแขนโชว์ความตลกขำขันได้ ก็ต้องอาศัยเครื่องสวมหน้าอย่างหนึ่ง ที่เรียกกันว่า “ หน้าพราน ” หรือ “ หัวพราน ” สำหรับหน้าพรานนั้น ทำจากไม้แกะสลัก โดยมากนิยมไม้เนื้ออ่อน โดยหลักใช้ไม้ขนุน แต่อาจมีไม้ชนิดอื่นบ้าง หากทางผู้สั่งต้องการ แต่ก็มีบางท่าน ใช้หัวกล้วยพังลาแกะสลักก็มี เพราะหัวกล้วยนั้นอ่อนนุ่ม สะดวกต่อการเกลานั่นเอง
ขั้นตอนในการทำหน้าตาพราน เมื่อสามารถเลือกไม้ได้แล้ว ช่างที่ทำก็จะทำการร่างโครงหน้า แล้วแกะสลัก หรือที่เรียกกันบ้าน ๆ ว่า “แคว๊ก หน้าพราน” โดยจะแกะสลักเป็นรูปใบหน้าบุคคล ด้านบนทำเป็นริมไรผม ใช้ร้อยเข้ากับขนนกเพื่อทำเป็นผมของตาพราน ส่วนด้านล่างจะตัดช่วงริมฝีปากล่างและส่วนคางออก เพื่อสะดวกในการเจรจา ที่จมูกและที่ตาจะเจาะรูไว้ เพื่อสะดวกต่อการหายใจและสังเกตแลมอง
หลังจากแกะสลักหน้าพรานเสร็จ ขั้นตอนต่อไป ช่างจะทำการลงสีหน้าพราน ในตรงนี้ก็จะมีการตบแต่งแล้วแต่กำลังเงินของผู้สั่ง ถ้าสั่งหน้าพรานธรรมดา นายช่างจะทาสีหน้าให้เป็นสีแดง หรือสีอื่นๆตามที่ผู้สั่งต้องการ ทาหนวดและนัยน์ตาดำด้วยสีดำ ทาฟันและดวงตาสีขาว แต่ถ้าหากคนสั่งมีกำลังทรัพย์ นายช่างจะนำเปลือกหอยที่ขัดจนขาวราวกับมุกมาประดับเป็นดวงตาและเป็นฟันให้ บางคนนำงาช้างมาตัดทำเป็นฟันของหน้าพรานเลยก็มี
เท่าที่ผู้เขียนเคยทัศนาจร เคยพบหน้าพรานที่วัดแห่งหนึ่งในตำบลคีรีวง อ.ลานสกา ที่นำเอาฟันของคนจริงๆ ที่เสียชีวิตไปแล้วนำมาใส่ไว้ ซึ่งก็เป็นหน้าพรานที่แปลกอีกหน้าหนึ่ง
หลังจากเสร็จขั้นตอนการลงสีแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการนำผ้ามาเย็บด้วยขนนกเพื่อทำเป็นผมของหัวพราน เมื่อทำสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว ขั้นตอนสุดท้าย คือการนำหน้าพราน หรือ หัวพรานไปให้ราชครูโนราผู้รู้พระเวท หรือ นำไปให้นายพรานของคณะโนราที่มีวิชาอาคมแข็งกล้า เป็นผู้เบิกเนตรเสกอาการ อัญเชิญตาพรานองค์นั้นๆ สถิตลงยังหน้าพราน เมื่อเสร็จขั้นตอนนี้แล้ว ผู้ที่สั่งจองหน้าพราน ก็สามารถนำหน้าพรานขึ้นบูชาบนหิ้งครูหมอโนราได้เลย โดยถือคติกันว่า หน้าพรานคือตัวแทนของครูหมอในฝ่ายชายทั้งหมด มิได้จำเพาะแค่พรานเท่านั้น
______________________________________________________________________
อ่านบทความอื่น ๆ
“จันทร์รู้เรื่อง” ไปเที่ยวทิพย์ ดู “มัมมี” กันเถอะ
“จันทร์รู้เรื่อง” สุนทรียศาสตร์ ลัทธิ และความเชื่อทางศิลปะตะวันตก
เจ้าที่ และ พระภูมิ แตกต่างกันอย่างไร
You must be logged in to post a comment Login