Connect with us

Blog

ปลูกต้นไม้ในเมืองแบบธรรมชาติ ไม่ต้องดูแลรักษาได้หรือไม่

Published

on

ศิลปะของการวางแผน วางผัง ออกแบบพื้นที่สีเขียวในเมืองนั้น มิใช่การจัดสรรพื้นที่สีเขียวแค่การวาดภาพลงไปสวย ๆ แล้วจะปลูกพืชพรรณอะไรก็ได้ หรือจะปลูกพืชพรรณต่าง ๆ โดยคิดถึงแต่ความสวยงามเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ การออกแบบพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพนั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่จะได้รับจากการมีพื้นที่สีเขียว ประกอบกับการชั่งน้ำหนักข้อจำกัดด้านต่าง ๆ เช่น สภาพแวดล้อม งบประมาณ การดูแลรักษา ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันการปลูกพืชพรรณในพื้นที่สีเขียวหลายแห่งของเมืองใหญ่นำมาซึ่งภาระด้านการดูแลรักษา อาทิ การรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ การใส่ปุ๋ย การตัดแต่ง การเปลี่ยนย้าย ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรและพลังงานจำนวนมาก ในขณะที่ป่าไม้ตามธรรมชาตินั้น พืชพรรณไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาใด ๆ นำมาซึ่งประเด็นคำถามว่าจะสามารถปลูกพืชพรรณในเมืองโดยไม่ต้องดูแลรักษาได้หรือไม่

ความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพรรณในประเทศไทย

ปัจจัยสำคัญที่ควรคำนึงถึงเกี่ยวกับการเลือกพืชพรรณที่ต้องการการดูแลรักษาต่ำคือ การพิจารณาสภาพแวดล้อมของประเทศไทย ภูมิอากาศของประเทศไทยจัดอยู่ในเขตร้อนชื้น มีแสงแดดแรง พลังงานแสงอาทิตย์มาก มีฝนตกชุก ความชื้นสัมพัทธ์สูง อุณหภูมิสูง เป็นปัจจัยทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ในเขตภูมิอากาศอื่น ๆ เมื่อมีทั้งความหลากหลายและความมากมาย ต้นไม้ในธรรมชาติของประเทศไทยจึงมีการแข่งขันกันเจริญเติบโตเพื่อหาแสงอาทิตย์ ส่งผลให้ต้นไม้หลายชนิดพัฒนาไปจนมีความสูงในชั้นสูงสุดเหนือเรือนยอดของป่าตั้งแต่ 40-50 เมตร และมีพืชพรรณที่รับแสงในชั้นรอง ๆ ลงมาที่ระดับเรือนยอดสูงประมาณ 30 เมตร เรือนยอดรอง 20-25 เมตร ลงมาถึงต้นไม้ขนาดเล็กระดับ 10 เมตร ล่วงเลยไปเป็นไม้พุ่ม และไม้คลุมดิน ซึ่งจะได้รับแสงอาทิตย์น้อยที่สุด การเลือกใช้พืชพรรณจำเป็นต้องคำนึงถึงสังคมพืชเดิมของต้นไม้แต่ละชนิด เช่น หากนำต้นไม้ขนาดเล็กความสูง 10 เมตรในป่าดิบชื้นมาปลูกเป็นต้นไม้ชั้นบนสุดในพื้นที่สีเขียวของเมือง ต้นไม้จะได้รับแสงอาทิตย์มากกว่าที่จำเป็น ทำให้อัตราการสังเคราะห์แสงเพิ่มมากขึ้น ต้นไม้ต้องการน้ำมาใช้ในกระบวนการมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการดูแลรดน้ำเพิ่มเติมเพื่อให้ต้นไม้มีชีวิตรอด เจริญเติบโตต่อไปได้ ในขณะที่หากพิจารณาระบุต้นไม้สูง 10 เมตร ที่มาจากสังคมพืชป่าเต็งรัง อาจไม่จำเป็นต้องมีการดูแลรดน้ำมากเท่ากับต้นไม้ที่มาจากสังคมพืชป่าดิบชื้น 

ภาพจำลองสังคมพืชป่าดิบ (ปารณ ชาตกุล, 2558)

“การพืชพรรณให้เกิดความยั่งยืนในเมือง

จึงควรปลูกพืชพรรณให้ครบถ้วนตามจำนวนชั้นในสังคมพืชธรรมชาติ”

อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติอาจไม่สามารถนำพืชพรรณที่พบในสังคมพืชที่มีอยู่ก่อนมีการสร้างเมือง มาพิจารณาเลือกใช้สำหรับเมืองนั้นได้ทันทีหากสังคมพืชเดิมเจริญเติบโตในสภาวะแวดล้อมแตกต่างจากเมือง เพราะการสร้างเมืองจำเป็นต้องมีสิ่งก่อสร้างจำนวนมาก เช่น ถนนที่ ความสูงของอาคาร และความหนาแน่นของอาคาร ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมที่แตกต่างไปจากธรรมชาติดั้งเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการเลือกใช้พืชพรรณสำหรับเมือง จำเป็นต้องวิเคราะห์และพิจารณาเลือกใช้ตามสภาพแวดล้อมใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อพืชพรรณ ได้แก่ 

         1) ชั้นดินตื้นและมีปริมาณน้อยจากขนาดของหลุมปลูก ไม่สามารถสะสมอินทรียวัตถุรวมถึงแร่ธาตุต่าง ๆ สำหรับพืชพรรณได้ตามธรรมชาติ 

         2) ปริมาณข้องชั้นดินและการบดอัดดินเพื่อการใช้งาน และการสัญจร ทำให้ดินไม่สามารถเก็บกักน้ำและอากาศซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อต้นไม้ได้ตามธรรมชาติ 

         3) เมืองมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติจากปรากฏการณ์เกาะความร้อนของเมืองทำให้ต้นไม้มีการหายใจมากขึ้น ส่งผลให้ต้นไม้ต้องการน้ำเพิ่มมากขึ้น 

         4) พื้นที่บางแห่งอาจได้รับแสงมาก/น้อยแตกต่างจากธรรมชาติเพราะมีสภาพแวดล้อมที่มนุษย์เป็นผู้สร้างเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น คอร์ทกลางอาคาร พื้นที่ที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของอาคารขนาดใหญ่ สวนบนหลังคา 

         5) สิ่งก่อสร้างในเมืองอาจมีส่วนเปลี่ยนแปลงทิศทางลมตามธรรมชาติ ทำให้เกิดพื้นที่อับลมและช่องลมแรง ส่งผลต่อการเจริญเติบโต การหัก การโค่นของต้นไม้ที่นำมาปลูกได้ 

ดังนั้นสภาพแวดล้อมเมืองจึงมีความแตกต่างจากธรรมชาติเป็นอย่างมาก เป็นเรื่องยากที่จะทำให้ระบบนิเวศกลับมาสมบูรณ์เหมือนครั้งก่อนจะมีการก่อสร้างเมือง อย่างไรก็ตามหากมีการเลือกใช้พืชพรรณที่เหมาะสมแล้ว อาจทำให้การออกแบบพื้นที่สีเขียวในเมืองยังสามารถเอื้อเฟื้อต่อสรรพชีวิตและเสริมสร้างความสมบูรณ์ของนิเวศได้ในหลากหลายทิศทางที่เหมาะสม

เมื่อกลับไปพิจารณาที่หัวข้อว่าจะปลูกต้นไม้ในเมืองแบบธรรมชาติ ไม่ต้องดูแลรักษาได้หรือไม่ จะได้คำตอบว่า หากมีการออกแบบพื้นที่สีเขียวในเมืองตามรูปแบบเดิม เช่น ทางเท้า เกาะกลางถนน สวนสาธารณะในรูปแบบเดิม ๆ แม้ว่าผู้ออกแบบจะคัดเลือกต้นไม้มีความทนแล้ง/ทนน้ำท่วม และทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมมากเพียงใด ต้นไม้นั้นย่อมจะต้องการการดูแลรักษาเสมอ เพราะปริมาณดินในเมืองขาดสมบัติในการสำรองน้ำตามธรรมชาติ จำเป็นต้องมีการรดน้ำสม่ำเสมอ และพืชพรรณย่อมมีการเจริญเติบโต ผลัดใบ สลัดกิ่งที่ไม่ได้ใช้งานทิ้ง หรือแม้แต่การโค่นล้มตามธรรมชาติ แต่กระบวนการดังกล่าวไม่เป็นที่พึงประสงค์ภายใต้บริบทของเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ต้นไม้ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์จึงจำเป็นต้องได้รับการตัดแต่งดูแลอย่างสม่ำเสมอ การเลือกพืชพรรณให้ครบถ้วนตามลำดับในสังคมพืชที่เหมาะสมกับบริบทของเมืองจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดภาระการดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่ในเมืองลงไปได้ แต่ไม่ได้แปลว่าไม่จำเป็นต้องดูแลรักษาต้นไม้เหล่านั้น

ภาพภายในบัวส์ เดอ บูโลญ (Bois de Boulogne) ทางทิศตะวันตกของเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส
 

อย่างไรก็ตามหากมีการพิจารณาออกแบบพื้นที่สีเขียวในมุมมองที่มุ่งเน้นการสนับสนุนธรรมชาติเป็นหลัก จะพบว่าการวางแผนให้มีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ในเมือง ที่ตั้งใจให้เป็นพื้นที่ธรรมชาติ มีผู้ใช้งานไม่หนาแน่น อาจพิจารณาลดการดูแลรักษาลงได้มาก ดังกรณีศึกษาในเมืองต่างประเทศหลายแห่ง เช่น เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส และแคนเบอรา ประเทศออสเตรเลีย มีพื้นที่สีเขียวเป็นป่าบริเวณทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของเมือง, เมืองเล็กซิงตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา มีพื้นที่สีเขียวระหว่างหมู่บ้านที่อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าอยู่อาศัย ปล่อยให้เจริญเติบโตไปตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับพื้นที่สีเขียวริมน้ำที่เป็นป่าทางทิศตะวันออกของมหาวิทยาลัยคอร์แนล รัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งกรณีเหล่านี้สามารถนำสังคมพืชดั้งเดิมของพื้นที่กลับมาได้อย่างสมบูรณ์และไม่ต้องการการดูแลรักษา หากพื้นที่สีเขียวนั้นมีขนาดใหญ่มากเพียงพอ ต้นไม้ต่าง ๆ ในพื้นที่สามารถดำรงชีวิตและขยายพันธุ์ได้ตามธรรมชาติ ในอนาคตพืชพรรณชั้นรอง และสัตว์ต่าง ๆ จะเริ่มกระจายพันธุ์เข้ามาเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งผลให้อนาคตพื้นที่สีเขียวลักษณะนี้จะเอื้อประโยชน์ต่อเมืองได้มากทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ การลดอุณหภูมิของเมือง ส่งเสริมการถ่ายเทอากาศในระดับเมือง การปรับปรุงคุณภาพอากาศ ประโยชน์จากนิเวศบริการ การตรึงคาร์บอน การจัดการน้ำฝน มีความยั่งยืน มีส่วนช่วยให้เมืองมีความยืดหยุ่นต่อผลกระทบจากภายนอก และอีกมากมายหลายประการ โดยไม่จำเป็นต้องคิดถึงความสวยงามจากการออกแบบเลย ในขณะเดียวกัน พื้นที่นี้ยังจำเป็นต้องมีการจัดการความปลอดภัยของพื้นที่ที่ดี ประชากรในเมืองจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจ มีค่านิยมของงานภูมิสถาปัตยกรรมที่ดีและสมบูรณ์อย่างถูกต้อง และมีการปรับตัวเข้าใจวิถีธรรมชาติเพื่ออยู่ร่วมกับพืชและสัตว์ต่าง ๆ ได้บ้าง เท่านี้ก็สามารถสร้างพื้นที่สีเขียวดี ๆ สำหรับเมืองที่ไม่ต้องมีการดูแลรักษาให้เกิดขึ้นจริงได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปารณ ชาตกุล

ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการวิเคราะห์ภูมิภาค เมือง และสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์ (RUBEA)

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายการอ้างอิง

ปารณ ชาตกุล. (2558). เลียบขอบไพร. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Click to comment

You must be logged in to post a comment Login

Leave a Reply

Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: