Connect with us

On this day

8 สิงหาคม 2510 วันก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Association of South East Asian Nations หรือ อาเซียน (ASEAN)

Published

on

กำเนิดอาเซียน
สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ “อาเซียน”
ถือกำเนิดขึ้นในเช้าวันอังคารที่ 8 สิงหาคม 2510
เวลา 10.50 ภายในห้องโถงใหญ่ของพระราชวังสราญรมย์
ที่ทำการของกระทรวงการต่างประเทศ
ถูกบันทึกไว้ผ่านภาพการลงนามของผู้นำ 5 ประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียน ได้แก่
ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และประเทศไทย

หลังจากนั้นมาเกือบครึ่งศตวรรษ อาเซียนได้กลายเป็นสมาคมระหว่างประเทศ
ที่ผ่านประสบการณ์ในรูปแบบต่าง ๆ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผันผวน
ในเวทีระหว่างประเทศ อาเซียนได้พลิกผันตัวเองอย่างต่อเนื่อง มีการเติบโต
การเรียนรู้ และได้แสดงบทบาทในด้านต่าง ๆ ในทุกยุค ทุกสมัย
จนเป็นองค์กรระดับภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จ และเป็นที่รู้จัก ในระดับสากล

ทุกวันนี้อาเซียนเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในเวทีโลก แต่น้อยคนที่ทราบว่า
กว่าจะมีวันนี้ได้นั้น ผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการผลักดันให้เกิดอาเซียนจน
เป็นผลสำเร็จนั้น คือประเทศไทย
โดยเฉพาะนักการทูตไทย สองท่าน ซึ่งเป็นผู้ได้รับการยอมรับนับถือจาก
นักการทูตและผู้นำประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
คือ ฯพณฯ รัฐมนตรีฯ ถนัด คอมันตร์ และ ดร.สมปอง สุจริตกุล

ท่าน ดร. ถนัดฯ เป็นนักการทูตและการต่างประเทศ ผู้ได้รับการยกย่องว่า
เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และเป็นบิดาผู้ให้กำเนิดอาเซียน ด้วยคิดริเริ่มของท่าน
ที่จะสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยเป็นความร่วมมือที่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค
สามารถควบคุมทิศทางการดำเนินนโยบาย และอนาคตของตนเองได้อย่างแท้จริง
เพื่อนำตนเองให้รอดพ้นจากภัยสงครามเย็น
ระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต การแข่งขันเพื่อช่วงชิงความเป็นหนึ่ง
ในเอเชียระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต และการที่จีนเร่งขยายอิทธิพลด้านการเมือง
และการทหารของตนเข้าไปในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคจนทำให้เกิดการสู้รบ
ในรูปแบบของสงครามกองโจร และการก่อการร้ายในหลายประเทศ
รวมทั้งในประเทศไทยในวันแห่งประวัติศาสตร์ดังกล่าว
โลกได้เป็นสักขีพยานความเห็นร่วมกัน
ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจาก 5 ชาติ ได้แก่

  • ฯพณฯ อาดัม มาลิก (Adam Malik Batubara)
    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย
  • ฯพณฯ ตุน อับดุล ราซัก (Tun Abdul Razak Hussein) รองนายกรัฐมนตรี
    และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาแห่งชาติของมาเลเซีย
  • ฯพณฯ นาร์ซิโซ รามอส (Narciso R. Ramos) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฟิลิปปินส์
  • ฯพณฯ เอส ราชารัตนัม (S. Rajaratnam) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ และ
  • ฯพณฯ ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ของไทย
ผู้ก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Association of South East Asian Nations หรือ อาเซียน (ASEAN)
ภาพจาก History (asean.org)

เพื่อร่วมลงนามในเอกสารสำคัญฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของอาเซียน
และก่อนหน้าที่จะเข้าสู่การลงนามเอกสารสำคัญ
ที่มีชื่อว่าปฏิญญาอาเซียน (ASEAN Declaration)
หรือ ปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) ฉบับนี้

หลังจากที่ผู้นำ ผู้เป็นรัฐมนตรีกำกับดูแลนโยบายด้านการต่างประเทศ
จากมิตรประเทศทั้งสี่ชาติได้เดินทางมาถึงประเทศไทย
พวกท่านเหล่านั้นได้รับการต้อนรับจาก
พันเอก (พิเศษ) ดร. ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
โดยการเรียนเชิญผู้นำทั้ง 3 ท่าน ยกเว้นรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย
เดินทางไปที่บ้านพักรับรองของรัฐบาล ซึ่งตั้งอยู่ที่เขาสามมุข บางแสน
ในวันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม 2510 โดยการประชุมได้ถูกจัดเตรียมขึ้น 4 วัน
โดยแบ่งเป็นการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ 2 วันที่บางแสน
และการประชุมอย่างเป็นทางการอีก 2 วันที่กรุงเทพ
การประชุมที่บางแสนนั้น ได้จัดขึ้นในบ้านพักรับรองที่ไม่ไกลจากที่พัก
ของรัฐมนตรีเหล่านั้น โดยที่ประชุมแห่งนั้นมีชื่อว่า “บ้านแหลมแท่น”
ซึ่งเป็นบ้านพักรับรองของสำนักนายกรัฐมนตรี
ซึ่งอยู่ติดทะเลชายหาดบางแสนอันเงียบสงบ

การประชุมที่บางแสน
ภาพจาก กำเนิดอาเซียน – Dara ASEAN Center (google.com)

การประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมภายใต้บรรยากาศของ “Spirit of Bangsaen”
หรือ “จิตวิญญาณแห่งบางแสน” ซึ่งอีกไม่กี่วันต่อมา
ความเข้าใจร่วมกันที่บ้านแหลมแท่น ได้ถูกนำมาเป็นหลักการ
และกรอบการเจรจา เพื่อจัดตั้ง
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน และเป็นสาระสำคัญ
ที่นำไปสู่การจัดทำเอกสารปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration)
ในเวลาเดียวกัน ในวันเสาร์ที่ 5 และวันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม 2510  
ผู้นำด้านการต่างประเทศจากทั้ง 5 ชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ร่วมหารือกัน
ในบรรยากาศที่เป็นมิตรและสนิทสนม เพื่อสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่
ของความร่วมมือสำหรับภูมิภาค
ด้วยการหาข้อตกลงในการสร้างหลักการความร่วมมือระหว่างกัน

สาเหตุหลักที่ทำให้ที่ผ่านมาประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคไม่ประสบความสำเร็จ
ในการสร้างความร่วมมือระหว่างกันในระดับภูมิภาค น่าจะเป็นเพราะ
การที่ก่อนหน้านี้แต่ละประเทศในภูมิภาคโดยเฉพาะประเทศต่าง ๆ
ที่เพิ่งผ่านพ้นจากการเป็นอาณานิคม ยังคงยึดถือหลักการของเอกราช อธิปไตย
และบูรณภาพแห่งดินแดน ภายใต้ความรู้สึกชาตินิยม
ทำให้แต่ละประเทศมองถึงผลประโยชน์ของตนในกรอบที่แคบ
และไม่สามารถมองเห็นผลประโยชน์ของชาติในกรอบที่ใหญ่กว่าได้
ดังนั้น ความร่วมมือในระดับภูมิภาคจึงยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้

การที่ประเทศไทย โดย ดร.ถนัด คอมันตร์ ใช้ความพยายามในการชี้ให้ผู้นำประเทศเหล่านี้
ตระหนักถึง สภาพแวดล้อม และสถานการณ์ที่แท้จริงภายในภูมิภาค
ทำให้ผู้นำของประเทศต่าง ๆ เหล่านี้เห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือภายในภูมิภาค
เพื่อผลประโยชน์ของทุกประเทศร่วมกัน ซึ่งการใช้ความพยายาม
ในการโน้มน้าวความคิดของผู้นำประเทศต่าง ๆ เหล่านี้
ประเทศไทยได้ใช้การทูตแบบไม่เป็นทางการ (informal diplomacy) เป็นหลัก
โดยตอกย้ำถึง ความผูกพันที่ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งตัวผู้นำประเทศ
มีต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน ทั้งในด้านภาษา ศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี
ประวัติศาสตร์ และความเป็นอยู่ของประชาชน จนความไว้เนื้อเชื่อใจบังเกิดขึ้น
และผู้นำประเทศต่าง ๆ เริ่มที่จะมีท่าทีที่ผ่อนคลาย และเป็นกันเองต่อกัน
ซึ่งต่อมาการทูตแบบไม่เป็นทางการ การทูตแบบ sports shirt diplomacy
และการทูตบนสนามกอล์ฟ ในลักษณะนี้ได้กลายเป็นจารีต และจุดเด่นทางการทูต
ของผู้นำและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศสมาชิกอาเซียน เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

บรรยากาศในการลงนามในปฏิญญากรุงเทพ
ภาพจาก กำเนิดอาเซียน – Dara ASEAN Center (google.com)
ลายเซ็นของผู้ให้กำเนิด อาเซียน ภาพจาก กำเนิดอาเซียน – Dara ASEAN Center (google.com)

เรื่องหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศที่อบอุ่นและเป็นกันเอง
ในการประชุมผู้นำจากทั้ง 5 ประเทศ  คือการหารือในขั้นสุดท้ายเรื่องชื่อขององค์กรใหม่
ที่ได้ตกลงร่วมกันจะให้จัดตั้งขึ้น ก่อนที่จะมีการลงนามในปฏิญญากรุงเทพ
ในการหารือดังกล่าว ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า
นายอาดัม มาลิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย
ในฐานะผู้ที่มีความรู้ และประสบการณ์ทางการเมือง และการทูต มาอย่างโชกโชน
และในฐานะที่เป็นที่เป็นผู้มีความเป็นเจ้าบทเจ้ากลอน ควรจะได้รับเกียรติ
ให้เป็นผู้ตั้งชื่อสมาคมใหม่ ที่จะเกิดขึ้น
ภายหลังจากประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้ง 5 ชาติ
ก็เข้าสู่พิธีการลงนามในปฏิญญาของประเทศทั้ง 5 ณ วังสราญรมย์
กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเวลา 10.50 น. ของวันอังคารที่ 8 สิงหาคม 2510
เพื่อก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(Association of Southeast Asian Nation)  โดย ปฏิญญากรุงเทพฯ

ทำเนียบเลขาธิการอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย The headquarter of Association of Southeast Asia Nations (ASEAN) in Jalan Sisingamangaraja No.70A, South Jakarta, Indonesia.
ภาพจาก ASEAN HQ 1 – สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ – วิกิพีเดีย (wikipedia.org)

ประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมอาเซียน และประเทศสมาชิกผู้เข้ามาร่วมในภายหลัง
ได้พยายามสรรสร้างจิตวิญญาณของปฏิญญากรุงเทพให้แข็งแกร่งขึ้น
อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในระยะเวลาที่ผ่านมา สมาคมอาเซียนได้ผ่านกระบวนการต่าง ๆ
ทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ ผ่านความสัมพันธ์ส่วนตัวของผู้นำแต่ละประเทศ
ในการสานต่อเจตนารมณ์ในการร่วมกันเป็นประชาคมอาเซียน
และมีหลักการทางกฎหมายรองรับ อาทิ สนธิสัญญามิตรภาพ
และความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation)
ในปี 2519 และต่อมา สนธิสัญญาปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(Treaty on the Southeast Asia Nuclear Weapon-Free Zone – SEANWFZ)
หรือสนธิสัญญากรุงเทพฯ ในปี 2538 และแม้ว่า ในระยะแรก
ความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นวัตถุประสงค์หลักประการต้นๆ
ในการก่อตั้งสมาคมอาเซียน จะไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก
แต่ความพยายามในการเสริมสร้างความร่วมมือดังกล่าว
ก็ถือเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาสมาคมอาเซียนในระยะต่อมา
จนเกิดเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC)

วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งอาเซียน ภายในปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration)
ได้ระบุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งเอาไว้ถึง 7 ข้อ อันได้แก่ ..

  1. ส่งเสริมความร่วมมือและความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางเศรษฐกิจ
    สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และการบริหาร 
  2. ส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงส่วนภูมิภาค 
  3. เสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจพัฒนาการทางวัฒนธรรมในภูมิภาค 
  4. ส่งเสริมให้ประชาชนในอาเซียนมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดี 
  5. ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในรูปของการฝึกอบรมและการวิจัย
    และส่งเสริมการศึกษาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  6. เพิ่มประสิทธิภาพของการเกษตรและอุตสาหกรรม การขยายการค้า
    ตลอดจนการปรับปรุงการขนส่งและการคมนาคม
  7. เสริมสร้างความร่วมมืออาเซียนกับประเทศภายนอก องค์การ
    ความร่วมมือแห่งภูมิภาคอื่นๆ และองค์การระหว่างประเทศ
ตราสัญลักษณ์อาเซียน

ตราสัญลักษณ์อาเซียน

  • รวงข้าวสีเหลือง 10 ต้น หมายถึง ความใฝ่ฝันของบรรดาสมาชิก
    ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 10 ประเทศ ให้มีอาเซียนที่ผูกพันกัน
    อย่างมีมิตรภาพและเป็นหนึ่งเดียว
  • วงกลม หมายถึง เอกภาพของอาเซียน
  • ตัวอักษร “asean” สีน้ำเงินใต้ภาพรวงข้าว หมายถึง
    ความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อความมั่นคง สันติภาพ เอกภาพ
    และความก้าวหน้าของประเทศสมาชิกอาเซียน

สีที่ใช้ในตราสัญลักษณ์อาเซียน
ซึ่งนอกจากตราสัญลักษณ์ที่จะช่วยสร้างความเข้าใจในความเป็นอาเซียนแล้ว
สีที่ใช้ก็ยังมีส่วนที่ช่วยเสริมให้อาเซียนมีพลัง สามารถดำเนินไปได้ด้วยความอดทน
และมีความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน

  • สีเหลือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง
  • สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญและการมีพลวัติ
  • สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์
  • สีน้ำเงิน หมายถึง สันติภาพและความมั่นคง

กฎบัตรอาเซียน 
ได้มีการลงนามรับรองจากผู้นำอาเซียนในแต่ละประเทศไปเมื่อครั้งที่มีการจัดการประชุม
สุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2550 ณ ประเทศสิงคโปร์
ซึ่งเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่ได้เปลี่ยนแปลงให้ “อาเซียน”
กลายเป็นองค์กรที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลในฐานะที่เป็นองค์กรระหว่างรัฐบาล
อีกทั้งยังได้มีการให้สัตยาบันกฎบัตรอาเซียนครบทั้ง 10 ประเทศ
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2551 เป็นผลให้ “กฎบัตรอาเซียน”
มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2551 เป็นต้นไป

สาระสำคัญของกฎบัตรอาเซียน 13 หมวด

  • หมวดที่ 1 ความมุ่งประสงค์และหลักการของอาเซียน
  • หมวดที่ 2 สภาพบุคคลตามกฎหมายของอาเชียน
  • หมวดที่ 3 สมาชิกภาพ (รัฐสมาชิก สิทธิและพันธกรณีของรัฐสมาชิก
    และการรับสมาชิกใหม่
  • หมวดที่ 4 โครงสร้างองค์กรของอาเซียน
  • หมวดที่ 5 องค์กรที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน
  • หมวดที่ 6 การคุ้มกันและเอกสิทธิ์
  • หมวดที่ 7 กระบวนการตัดสินใจ
  • หมวดที่ 8 การระงับข้อพิพาท
  • หมวดที่ 9 งบประมาณและการเงิน
  • หมวดที่ 10 การบริหารและขั้นตอนการดำเนินงาน
  • หมวดที่ 11 อัตลักษณ์และสัญลักษณ์ของอาเซียน
  • หมวดที่ 12 ความสัมพันธ์กับภายนอก
  • หมวดที่ 13 บทบัญญัติทั่วไปและบทบัญญัติสุดท้าย

    ข้อมูลจาก

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Click to comment

You must be logged in to post a comment Login

Leave a Reply

Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: