On this day
8 สิงหาคม 2510 วันก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Association of South East Asian Nations หรือ อาเซียน (ASEAN)
Published
3 ปี agoon
กำเนิดอาเซียน
สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ “อาเซียน”
ถือกำเนิดขึ้นในเช้าวันอังคารที่ 8 สิงหาคม 2510
เวลา 10.50 ภายในห้องโถงใหญ่ของพระราชวังสราญรมย์
ที่ทำการของกระทรวงการต่างประเทศ
ถูกบันทึกไว้ผ่านภาพการลงนามของผู้นำ 5 ประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียน ได้แก่
ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และประเทศไทย
หลังจากนั้นมาเกือบครึ่งศตวรรษ อาเซียนได้กลายเป็นสมาคมระหว่างประเทศ
ที่ผ่านประสบการณ์ในรูปแบบต่าง ๆ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผันผวน
ในเวทีระหว่างประเทศ อาเซียนได้พลิกผันตัวเองอย่างต่อเนื่อง มีการเติบโต
การเรียนรู้ และได้แสดงบทบาทในด้านต่าง ๆ ในทุกยุค ทุกสมัย
จนเป็นองค์กรระดับภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จ และเป็นที่รู้จัก ในระดับสากล
ทุกวันนี้อาเซียนเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในเวทีโลก แต่น้อยคนที่ทราบว่า
กว่าจะมีวันนี้ได้นั้น ผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการผลักดันให้เกิดอาเซียนจน
เป็นผลสำเร็จนั้น คือประเทศไทย
โดยเฉพาะนักการทูตไทย สองท่าน ซึ่งเป็นผู้ได้รับการยอมรับนับถือจาก
นักการทูตและผู้นำประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
คือ ฯพณฯ รัฐมนตรีฯ ถนัด คอมันตร์ และ ดร.สมปอง สุจริตกุล
ท่าน ดร. ถนัดฯ เป็นนักการทูตและการต่างประเทศ ผู้ได้รับการยกย่องว่า
เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และเป็นบิดาผู้ให้กำเนิดอาเซียน ด้วยคิดริเริ่มของท่าน
ที่จะสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยเป็นความร่วมมือที่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค
สามารถควบคุมทิศทางการดำเนินนโยบาย และอนาคตของตนเองได้อย่างแท้จริง
เพื่อนำตนเองให้รอดพ้นจากภัยสงครามเย็น
ระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต การแข่งขันเพื่อช่วงชิงความเป็นหนึ่ง
ในเอเชียระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต และการที่จีนเร่งขยายอิทธิพลด้านการเมือง
และการทหารของตนเข้าไปในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคจนทำให้เกิดการสู้รบ
ในรูปแบบของสงครามกองโจร และการก่อการร้ายในหลายประเทศ
รวมทั้งในประเทศไทยในวันแห่งประวัติศาสตร์ดังกล่าว
โลกได้เป็นสักขีพยานความเห็นร่วมกัน
ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจาก 5 ชาติ ได้แก่
- ฯพณฯ อาดัม มาลิก (Adam Malik Batubara)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย - ฯพณฯ ตุน อับดุล ราซัก (Tun Abdul Razak Hussein) รองนายกรัฐมนตรี
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาแห่งชาติของมาเลเซีย - ฯพณฯ นาร์ซิโซ รามอส (Narciso R. Ramos) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฟิลิปปินส์
- ฯพณฯ เอส ราชารัตนัม (S. Rajaratnam) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ และ
- ฯพณฯ ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ของไทย
เพื่อร่วมลงนามในเอกสารสำคัญฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของอาเซียน
และก่อนหน้าที่จะเข้าสู่การลงนามเอกสารสำคัญ
ที่มีชื่อว่าปฏิญญาอาเซียน (ASEAN Declaration)
หรือ ปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) ฉบับนี้
หลังจากที่ผู้นำ ผู้เป็นรัฐมนตรีกำกับดูแลนโยบายด้านการต่างประเทศ
จากมิตรประเทศทั้งสี่ชาติได้เดินทางมาถึงประเทศไทย
พวกท่านเหล่านั้นได้รับการต้อนรับจาก
พันเอก (พิเศษ) ดร. ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
โดยการเรียนเชิญผู้นำทั้ง 3 ท่าน ยกเว้นรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย
เดินทางไปที่บ้านพักรับรองของรัฐบาล ซึ่งตั้งอยู่ที่เขาสามมุข บางแสน
ในวันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม 2510 โดยการประชุมได้ถูกจัดเตรียมขึ้น 4 วัน
โดยแบ่งเป็นการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ 2 วันที่บางแสน
และการประชุมอย่างเป็นทางการอีก 2 วันที่กรุงเทพ
การประชุมที่บางแสนนั้น ได้จัดขึ้นในบ้านพักรับรองที่ไม่ไกลจากที่พัก
ของรัฐมนตรีเหล่านั้น โดยที่ประชุมแห่งนั้นมีชื่อว่า “บ้านแหลมแท่น”
ซึ่งเป็นบ้านพักรับรองของสำนักนายกรัฐมนตรี
ซึ่งอยู่ติดทะเลชายหาดบางแสนอันเงียบสงบ
การประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมภายใต้บรรยากาศของ “Spirit of Bangsaen”
หรือ “จิตวิญญาณแห่งบางแสน” ซึ่งอีกไม่กี่วันต่อมา
ความเข้าใจร่วมกันที่บ้านแหลมแท่น ได้ถูกนำมาเป็นหลักการ
และกรอบการเจรจา เพื่อจัดตั้ง
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน และเป็นสาระสำคัญ
ที่นำไปสู่การจัดทำเอกสารปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration)
ในเวลาเดียวกัน ในวันเสาร์ที่ 5 และวันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม 2510
ผู้นำด้านการต่างประเทศจากทั้ง 5 ชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ร่วมหารือกัน
ในบรรยากาศที่เป็นมิตรและสนิทสนม เพื่อสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่
ของความร่วมมือสำหรับภูมิภาค
ด้วยการหาข้อตกลงในการสร้างหลักการความร่วมมือระหว่างกัน
สาเหตุหลักที่ทำให้ที่ผ่านมาประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคไม่ประสบความสำเร็จ
ในการสร้างความร่วมมือระหว่างกันในระดับภูมิภาค น่าจะเป็นเพราะ
การที่ก่อนหน้านี้แต่ละประเทศในภูมิภาคโดยเฉพาะประเทศต่าง ๆ
ที่เพิ่งผ่านพ้นจากการเป็นอาณานิคม ยังคงยึดถือหลักการของเอกราช อธิปไตย
และบูรณภาพแห่งดินแดน ภายใต้ความรู้สึกชาตินิยม
ทำให้แต่ละประเทศมองถึงผลประโยชน์ของตนในกรอบที่แคบ
และไม่สามารถมองเห็นผลประโยชน์ของชาติในกรอบที่ใหญ่กว่าได้
ดังนั้น ความร่วมมือในระดับภูมิภาคจึงยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้
การที่ประเทศไทย โดย ดร.ถนัด คอมันตร์ ใช้ความพยายามในการชี้ให้ผู้นำประเทศเหล่านี้
ตระหนักถึง สภาพแวดล้อม และสถานการณ์ที่แท้จริงภายในภูมิภาค
ทำให้ผู้นำของประเทศต่าง ๆ เหล่านี้เห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือภายในภูมิภาค
เพื่อผลประโยชน์ของทุกประเทศร่วมกัน ซึ่งการใช้ความพยายาม
ในการโน้มน้าวความคิดของผู้นำประเทศต่าง ๆ เหล่านี้
ประเทศไทยได้ใช้การทูตแบบไม่เป็นทางการ (informal diplomacy) เป็นหลัก
โดยตอกย้ำถึง ความผูกพันที่ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งตัวผู้นำประเทศ
มีต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน ทั้งในด้านภาษา ศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี
ประวัติศาสตร์ และความเป็นอยู่ของประชาชน จนความไว้เนื้อเชื่อใจบังเกิดขึ้น
และผู้นำประเทศต่าง ๆ เริ่มที่จะมีท่าทีที่ผ่อนคลาย และเป็นกันเองต่อกัน
ซึ่งต่อมาการทูตแบบไม่เป็นทางการ การทูตแบบ sports shirt diplomacy
และการทูตบนสนามกอล์ฟ ในลักษณะนี้ได้กลายเป็นจารีต และจุดเด่นทางการทูต
ของผู้นำและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศสมาชิกอาเซียน เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
เรื่องหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศที่อบอุ่นและเป็นกันเอง
ในการประชุมผู้นำจากทั้ง 5 ประเทศ คือการหารือในขั้นสุดท้ายเรื่องชื่อขององค์กรใหม่
ที่ได้ตกลงร่วมกันจะให้จัดตั้งขึ้น ก่อนที่จะมีการลงนามในปฏิญญากรุงเทพ
ในการหารือดังกล่าว ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า
นายอาดัม มาลิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย
ในฐานะผู้ที่มีความรู้ และประสบการณ์ทางการเมือง และการทูต มาอย่างโชกโชน
และในฐานะที่เป็นที่เป็นผู้มีความเป็นเจ้าบทเจ้ากลอน ควรจะได้รับเกียรติ
ให้เป็นผู้ตั้งชื่อสมาคมใหม่ ที่จะเกิดขึ้น
ภายหลังจากประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้ง 5 ชาติ
ก็เข้าสู่พิธีการลงนามในปฏิญญาของประเทศทั้ง 5 ณ วังสราญรมย์
กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเวลา 10.50 น. ของวันอังคารที่ 8 สิงหาคม 2510
เพื่อก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(Association of Southeast Asian Nation) โดย ปฏิญญากรุงเทพฯ
ประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมอาเซียน และประเทศสมาชิกผู้เข้ามาร่วมในภายหลัง
ได้พยายามสรรสร้างจิตวิญญาณของปฏิญญากรุงเทพให้แข็งแกร่งขึ้น
อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในระยะเวลาที่ผ่านมา สมาคมอาเซียนได้ผ่านกระบวนการต่าง ๆ
ทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ ผ่านความสัมพันธ์ส่วนตัวของผู้นำแต่ละประเทศ
ในการสานต่อเจตนารมณ์ในการร่วมกันเป็นประชาคมอาเซียน
และมีหลักการทางกฎหมายรองรับ อาทิ สนธิสัญญามิตรภาพ
และความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation)
ในปี 2519 และต่อมา สนธิสัญญาปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(Treaty on the Southeast Asia Nuclear Weapon-Free Zone – SEANWFZ)
หรือสนธิสัญญากรุงเทพฯ ในปี 2538 และแม้ว่า ในระยะแรก
ความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นวัตถุประสงค์หลักประการต้นๆ
ในการก่อตั้งสมาคมอาเซียน จะไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก
แต่ความพยายามในการเสริมสร้างความร่วมมือดังกล่าว
ก็ถือเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาสมาคมอาเซียนในระยะต่อมา
จนเกิดเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC)
วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งอาเซียน ภายในปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration)
ได้ระบุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งเอาไว้ถึง 7 ข้อ อันได้แก่ ..
- ส่งเสริมความร่วมมือและความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางเศรษฐกิจ
สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และการบริหาร - ส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงส่วนภูมิภาค
- เสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจพัฒนาการทางวัฒนธรรมในภูมิภาค
- ส่งเสริมให้ประชาชนในอาเซียนมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดี
- ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในรูปของการฝึกอบรมและการวิจัย
และส่งเสริมการศึกษาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ - เพิ่มประสิทธิภาพของการเกษตรและอุตสาหกรรม การขยายการค้า
ตลอดจนการปรับปรุงการขนส่งและการคมนาคม - เสริมสร้างความร่วมมืออาเซียนกับประเทศภายนอก องค์การ
ความร่วมมือแห่งภูมิภาคอื่นๆ และองค์การระหว่างประเทศ
ตราสัญลักษณ์อาเซียน
- รวงข้าวสีเหลือง 10 ต้น หมายถึง ความใฝ่ฝันของบรรดาสมาชิก
ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 10 ประเทศ ให้มีอาเซียนที่ผูกพันกัน
อย่างมีมิตรภาพและเป็นหนึ่งเดียว - วงกลม หมายถึง เอกภาพของอาเซียน
- ตัวอักษร “asean” สีน้ำเงินใต้ภาพรวงข้าว หมายถึง
ความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อความมั่นคง สันติภาพ เอกภาพ
และความก้าวหน้าของประเทศสมาชิกอาเซียน
สีที่ใช้ในตราสัญลักษณ์อาเซียน
ซึ่งนอกจากตราสัญลักษณ์ที่จะช่วยสร้างความเข้าใจในความเป็นอาเซียนแล้ว
สีที่ใช้ก็ยังมีส่วนที่ช่วยเสริมให้อาเซียนมีพลัง สามารถดำเนินไปได้ด้วยความอดทน
และมีความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน
- สีเหลือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง
- สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญและการมีพลวัติ
- สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์
- สีน้ำเงิน หมายถึง สันติภาพและความมั่นคง
กฎบัตรอาเซียน
ได้มีการลงนามรับรองจากผู้นำอาเซียนในแต่ละประเทศไปเมื่อครั้งที่มีการจัดการประชุม
สุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2550 ณ ประเทศสิงคโปร์
ซึ่งเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่ได้เปลี่ยนแปลงให้ “อาเซียน”
กลายเป็นองค์กรที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลในฐานะที่เป็นองค์กรระหว่างรัฐบาล
อีกทั้งยังได้มีการให้สัตยาบันกฎบัตรอาเซียนครบทั้ง 10 ประเทศ
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2551 เป็นผลให้ “กฎบัตรอาเซียน”
มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2551 เป็นต้นไป
สาระสำคัญของกฎบัตรอาเซียน 13 หมวด
- หมวดที่ 1 ความมุ่งประสงค์และหลักการของอาเซียน
- หมวดที่ 2 สภาพบุคคลตามกฎหมายของอาเชียน
- หมวดที่ 3 สมาชิกภาพ (รัฐสมาชิก สิทธิและพันธกรณีของรัฐสมาชิก
และการรับสมาชิกใหม่ - หมวดที่ 4 โครงสร้างองค์กรของอาเซียน
- หมวดที่ 5 องค์กรที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน
- หมวดที่ 6 การคุ้มกันและเอกสิทธิ์
- หมวดที่ 7 กระบวนการตัดสินใจ
- หมวดที่ 8 การระงับข้อพิพาท
- หมวดที่ 9 งบประมาณและการเงิน
- หมวดที่ 10 การบริหารและขั้นตอนการดำเนินงาน
- หมวดที่ 11 อัตลักษณ์และสัญลักษณ์ของอาเซียน
- หมวดที่ 12 ความสัมพันธ์กับภายนอก
- หมวดที่ 13 บทบัญญัติทั่วไปและบทบัญญัติสุดท้าย
ข้อมูลจาก
You must be logged in to post a comment Login