Connect with us

On this day

4 สิงหาคม 2539 สมรักษ์ คำสิงห์ คว้าเหรียญทองโอลิมปิกเหรียญแรกของไทย จากมวยสากลสมัครเล่น รุ่นเฟเธอร์เวท ในกีฬา โอลิมปิก1996 ที่แอตแลนตา

Published

on

Somluck Kamsing of Thailand in action during his Gold Medal victory… News Photo – Getty Image

โดยสามารถเอาชนะ เซราฟิม โทโดรอฟ นักชกจากบัลแกเรีย ไปด้วยคะแนน 8-5
คว้าเหรียญทองโอลิมปิก เหรียญแรกในประวัติศาสตร์ ให้กับทีมชาติไทย

สมรักษ์ เป็นคนบ้านโนนสมบูรณ์ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น 
(ปัจจุบันคือ อำเภอบ้านแฮด) เกิดเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2516
ครอบครัวยากจน เป็นบุตรคนกลาง ในจำนวนลูกทั้ง 3 คน ของ
นายแดงและนางประยูร คำสิงห์ เหตุที่มีชื่อเล่นว่า “บาส”
ก็เพราะต้องการให้คล้องกับชื่อเล่นของพี่ชายซึ่งเป็นนักมวยด้วยเหมือนกัน
คือ สมรถ คำสิงห์ ที่มีชื่อว่า “รถ” เนื่องจาก
คลอดบนรถโดยสาร ระหว่างเดินทางไปสถานีอนามัยอำเภอ

สมรักษ์เข้าเรียนครั้งแรกที่โรงเรียนมหาไถ่ศึกษา โนนสมบูรณ์
พ่อของสมรักษ์เป็นนักมวยเก่า จึงได้รับการฝึกการชกมวยไทยมาตั้งแต่เด็ก
ขึ้นชกมวยครั้งแรกขณะอายุได้ 7 ปี และได้ตระเวนชกตามเวทีงานวัดต่าง ๆ
จนได้รับการทาบทามจาก ณรงค์ กองณรงค์
หัวหน้าคณะณรงค์ยิมให้มาร่วมค่าย สมรักษ์ขึ้นชกมวยไทยในชื่อ สมรักษ์ ณรงค์ยิม
กลายเป็นนักมวยมีชื่อในแถบจังหวัดขอนแก่น

ต่อมา ณรงค์กับนายแดงพ่อของสมรักษ์เกิดแตกคอกัน
สมรักษ์จึงย้ายไปอยู่ค่ายศิษย์อรัญ
เข้ามาชกมวยในกรุงเทพฯ ได้ไปเรียนที่ โรงเรียนผะดุงศิษย์พิทยา 
โดยชกทั้งมวยไทย และมวยสากลสมัครเล่น 
โดยสมรักษ์ขึ้นชกมวยไทยในชื่อ “พิมพ์อรัญเล็ก ศิษย์อรัญ”
เมื่อสมรักษ์ขึ้น ม.2 พ่อก็ถึงแก่กรรม

สมรักษ์ คำสิงห์ (พิมพ์อรัญเล็ก ศิษย์อรัญ)
ภาพจาก สุรพล เวียงวงษ์ – Posts | Facebook

ในเส้นทางมวยไทย สมรักษ์ตระเวนชกตามเวทีต่างทั้ง ชลบุรี สำโรง อ้อมน้อย
จนกระดูกแข็ง เจนสังเวียนมากขึ้นจึงขึ้นชกมวยที่เวทีมาตรฐาน
ทั้งเวทีราชดำเนินและเวทีลุมพินี มีโอกาสขึ้นชกกับนักมวยชื่อดังยุคนั้นหลายคน
เช่น ชาติชายน้อย ชาวไร่อ้อย, ช้างน้อย ศรีมงคล, บัวขาว ป.พิสิษฐ์เชษฐ์, 
ฉมวกเพชร ช่อชะมวง แต่ไม่เคยได้แชมป์มวยไทยของเวทีใด
จนปี พ.ศ. 2538 จึงขึ้นชกมวยไทยครั้งสุดท้าย ชนะน็อค
สุวิทย์เล็ก ส.สกาวรัตน์ ยก 4 แล้วจึงหันมาเอาดีด้านมวยสากลสมัครเล่นอย่างเดียว
ค่าตัวสูงสุดที่ได้รับจากการชกมวยไทยอยู่ที่ราว 180,000 บาท
จัดเป็นนักมวยเงินแสนคนหนึ่ง

สมรักษ์เริ่มเข้าแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นในนามของโรงเรียน เมื่อปี พ.ศ. 2528
เมื่ออายุ 12 ปี โดยมีพิกัดน้ำหนัก 52 กิโลกรัม เมื่อสมรักษ์จบ ม.6
จากโรงเรียนผะดุงศิษย์ฯ ได้รับการทาบทามจากสโมสรราชนาวีให้ชกมวยสากลสมัครเล่น
ในนามของสโมสรและบรรจุให้เข้ารับราชการในกองทัพเรือ
สมรักษ์ประสบความสำเร็จ ได้ทั้งแชมป์ประเทศไทยและเหรียญทองกีฬาแห่งชาติ

สมรักษ์ เข้าสู่ทีมชาติครั้งแรก ในการแข่งขันโอลิมปิก ที่บาร์เซโลนา 
ในปี พ.ศ. 2535 ในรุ่นเฟเธอร์เวท
รอบแรก ชนะ ไมค์ สแตรงก์ จากแคนาดา เมื่อ 29 กรกฎาคม
รอบสอง แพ้ ฟาอุสติโน เรเยส จากสเปน เมื่อ 2 สิงหาคม ตกรอบ
พ.ศ. 2536 ได้เหรียญทองมวยทหารโลก ที่ประเทศอิตาลี
แต่ไม่ได้ติดทีมชาติไปแข่งกีฬาซีเกมส์ในปีนั้นเพราะไม่พร้อม
สมรักษ์เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาเป็นครั้งแรก จากการเป็นนักกีฬาไทย ที่ได้เหรียญทองเพียงคนเดียว
ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 12 ในปี พ.ศ. 2537 ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น
ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้น เกือบจะถูกตัดสิทธิ์เพราะตรวจสมรรถภาพร่างกายไม่ผ่านในครั้งแรก

พ.ศ. 2538 สมรักษ์ได้เหรียญทองจากกีฬาซีเกมส์ที่เชียงใหม่ และ ผ่านการคัดเลือก
ให้ไปแข่งกีฬาโอลิมปิก รอบสุดท้าย เส้นทางสู่เหรียญทองประวัติศาสตร์ เริ่มจาก
รอบแรกเอาชนะ แดเนี่ยล เซต้า นักชกเปอร์โตริโก 13-2,
รอบสอง ชนะ ฟิลิป เอ็นดู จาก แอฟริกาใต้ 12-7,
รอบสามหรือรอบก่อนรองชนะ รามาส พาเลียนี่ จากรัสเซีย 13-4
นั่นหมายถึงว่าได้เหรียญทองแดงคล้องคอไว้แล้ว
และสมรักษ์ชนะ พาโบล ชาคอน จากอาร์เจนตินาไปได้ 20-8 และ
ท้ายที่สุดเอาชนะ เซราฟิม โทโดรอฟ จากบัลแกเรียไปได้ ด้วยคะแนน 8-5
ทำให้สมรักษ์สามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิก เหรียญแรกให้กับทีมชาติไทยได้ในที่สุด
ก่อนการชกในรอบชิงชนะเลิศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
ได้พระราชทานกระเช้าผลไม้
มายังสมรักษ์และทีมงาน พร้อมทั้งทรงอวยพรให้สมรักษ์ได้รับชัยชนะด้วย
โดยการแข่งขันโอลิมปิคในครั้งนี้ สมรักษ์ ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Kamsing Somluck”
โดยเจตนาให้มีนัยทางโชคด้วย

สมรักษณ์ ได้รับการชูมือจากกรรมการ ให้เป็นผู้ชนะ ในรอบชิงเหรียญทอง ที่โอลิมปิก 1996 ที่ แอตแลนตา ภาพจาก Serafim Todorov – the last man to beat Floyd | Boxing News | Sky Sports

การคว้าเหรียญทองโอลิมปิกในครั้งนั้น การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.)
ได้ออกแสตมป์ที่มีรูปการชกรอบชิงชนะเลิศของสมรักษ์ ราคาดวงละ 6 บาท 
เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์นี้ด้วย และทางกองทัพเรือ (ทร.) ต้นสังกัด
ก็ได้เลื่อนยศให้สมรักษ์เป็นเรือตรี (ร.ต.) ซึ่งเดิมสมรักษ์มียศเป็นจ่าเอก (จ.อ.)

แสตมป์ราคาดวงละ 6 บาทที่การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.)จัดทำขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกของ สมรักษ์ คำสิงห์
ภาพจาก Somrak stamp – สมรักษ์ คำสิงห์ – วิกิพีเดีย (wikipedia.org)

ภายหลังจากได้เหรียญทองแล้ว สมรักษ์กลายเป็นบุคคลมีชื่อเสียง
กลายเป็นซุปเปอร์สตาร์ในเวลาไม่นาน ด้วยความเป็นคนมีบุคคลิกเฮฮา มีสีสัน น่าสนใจ
โดยภายหลังจากกลับมาจากโอลิมปิคที่แอตแลนต้าแล้ว สมรักษ์ก็มีผลงานในวงการบันเทิง
เริ่มจาก ละครเรื่อง “นายขนมต้ม” ทางช่อง 7 ที่รับบทเป็นนายขนมต้มพระเอกด้วยตัวเอง
โดยประกบคู่กับ กุลณัฐ ปรียะวัฒน์ นางเอก และเพื่อน ๆ นักมวยรุ่นพี่อีกหลายคน

สมรักษ์ ประกบคู่กับ กุลณัฐ ในละครเรื่อง “นายขนมต้ม”
ภาพจาก เรื่องย่อหนังไทยในอดีต | Facebook

นับแต่นั้นมา สมรักษ์ ก็มีสถานะเหมือนเป็นดาราคนหนึ่ง มีงานในวงการเข้ามาเรื่อย ๆ
ทำให้สมรักษ์เอาใจใส่ในการชกมวยน้อยลง จนมีข่าวว่าซ้อมน้อยลงบ้าง หนีซ้อมบ้าง
แต่กระนั้นเจ้าตัวก็ยังยืนยันว่าฝีมือของตัวเองยังคงเหมือนเดิม
ถึงขนาดกล้าทำนายผลการชกล่วงหน้า ซึ่งก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง จนได้ฉายาว่า “โม้อมตะ”
แต่หลังจากได้รับเหรียญทองกีฬาเอเชียนเกมส์ใน ปี พ.ศ. 2541 แล้ว
การชกครั้งหลังๆจากนั้น ก็ไม่ประสบความสำเร็จเลย
ในการแข่งขันโอลิมปิกที่ซิดนีย์ ปี พ.ศ. 2543 สมรักษ์เข้าแข่งขันในรุ่นเฟเธอร์เวท
รอบแรก ชนะอาร์เอสซี อันเดรส โลเดสมา จากโคลัมเบีย ยก 4 เมื่อ 18 กันยายน
รอบสอง ชนะ ตุลกุนบาย ตูร์กูนอฟ จากอุซเบกิสถาน เมื่อ 23 กันยายน
รอบ 8 คนสุดท้าย แพ้ ร็อกกี้ ฮัวเรซ จาก สหรัฐเมื่อ 27 กันยายน
และในโอลิมปิก ที่กรุงเอเธนส์ ปี พ.ศ. 2547 สมรักษ์เข้าแข่งขันรุ่นเฟเธอร์เวท
รอบแรก แพ้คะแนน เบโนต กูเดต จากแคนาดา ตกรอบเมื่อ 16 สิงหาคม 
ทำให้เลิกชกมวยสากลสมัครเล่นอย่างเด็ดขาด

ภาพจาก สมรักษ์ คำสิงห์ มวยไทยคลับ | Facebook

ข้อมูลจาก
สมรักษ์ คำสิงห์ – วิกิพีเดีย (wikipedia.org)

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Click to comment

You must be logged in to post a comment Login

Leave a Reply

Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: