Politics
Elementor #1904
Published
5 ปี agoon
วันที่ 11 พฤษภาคม ของทุกปี คือวัน “ ปรีดี พนมยงค์ ” ครับ
และเพื่อเป็นการรำลึกถึงวันคล้ายวันเกิดของ ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอารวุโส ผู้สร้างคุณงามความดีให้แก่ประเทศไทยไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง กฎหมาย การศึกษา จนได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโก ในปี 2542 ให้เป็น “ บุคคลสำคัญของโลก ”
วันนี้ทีมข่าวเฉพาะกิจโตโจ้ นิวส์ จะขอนำประวัติ “ ปรีดี พนมยงค์ ” มาเล่าตามไทม์ไลน์ชีวิตท่าน ดังนี้ครับ
พ.ศ. 2443-2459 ( แรกเกิด – 16 ปี )
– เกิดวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 ณ เรือนแพ หน้าวัดพนมยงค์ ต.ท่าวาสุกรี อ.กรุงเก่า จ.พระนครศรีอยุธยา
– ศึกษาชั้นมัธยมเตรียม ที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร
– เริ่มสนใจการเมืองเมื่ออายุ 11 ปี จากเหตุการณ์ปฏิวัติในประเทศจีนที่นำโดย ซุน ยัตเซ็น และเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 ในสยามประเทศ
– ศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบ
พ.ศ. 2460 ( อายุ 17 ปี )
– เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม
พ.ศ. 2463 ( อายุ 20 ปี )
– ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงยุติธรรม ให้ทุนไปศึกษาต่อทางด้านกฎหมาย ณ ประเทศฝรั่งเศส
พ.ศ. 2466 ( อายุ 23 ปี )
– ได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการ (คนแรก) ของสามัคยานุเคราะห์สมาคม เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Association Siamoise d’ Intellectualit? et d’ Assistance Mutielle อักษรย่อ (S.I.A.M.)
พ.ศ. 2469 ( อายุ 26 ปี )
– ประชุมผู้ก่อการคณะราษฎรครั้งแรกที่กรุงปารีส ณ Rue du Sommerard ผู้ร่วมประชุม 7 คน คือ ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี ( บิดาของนายยุรนันท์ ภมรมนตรี ) , ร.ท. แปลก ขีตตะสังคะ ( แปลก พิบูลสงคราม ) , ร.ต. ทัศนัย มิตรภักดี, นายตั้ว ลพานุกรม, หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี), นายแนบ พหลโยธิน และนายปรีดี พนมยงค์
พ.ศ. 2470-2471 ( อายุ 27-28 ปี )
– เดินทางกลับสยามประเทศ
– ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม”
– สมรสกับนางสาวพูนศุข ณ ป้อมเพชร์ วันที่ 16 พฤศจิกายน
พ.ศ. 2470-2475 ( อายุ 27-32 ปี )
– ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรม
– ผู้สอน (คนแรก) วิชากฎหมายปกครอง (Droit Administratif)
พ.ศ. 2475 ( อายุ 32 ปี )
– เป็นผู้นำฝ่ายพลเรือนคณะราษฎร ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน
– เป็นผู้ร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ฉบับ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475
28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ( อายุ 32 ปี )
– ได้รับแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นเลขาธิการ (คนแรก) ของสภาผู้แทนราษฎร
– ได้รับแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ( อายุ 32 ปี )
– เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
– ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ในคณะรัฐมนตรีที่มีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรี
15 มีนาคม พ.ศ. 2475 ( อายุ 33 ปี )
– เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจหรือที่เรียกกันว่า “สมุดปกเหลือง” ต่อรัฐบาล เพื่อใช้เป็นนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ตามเจตนารมณ์หลัก 6 ประการของคณะราษฎร
12 เมษายน พ.ศ. 2476 ( อายุ 33 ปี )
– ถูกบีบบังคับให้เดินทางออกนอกสยามประเทศ ไปยังประเทศฝรั่งเศส ในข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ตาม พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ ฉบับ 2 เมษายน พ.ศ. 2476
29 กันยายน พ.ศ. 2476 ( อายุ 33 ปี )
– เดินทางกลับสยามประเทศ
– ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
10 มีนาคม พ.ศ. 2477 ( อายุ 34 ปี )
– สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรม มิได้เป็นคอมมิวนิสต์ดังที่ถูกกล่าวหา
29 มีนาคม พ.ศ. 2477 (อายุ 34 ปี)
– ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในสมัยรัฐบาลพระยาพหล พลพยุหเสนา
27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 (อายุ 34 ปี)
– สถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ที่ต้องการให้การศึกษาแก่ราษฎรอย่างเต็มที่ และได้รับกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การ ( คนแรกและคนเดียว ) ตั้งแต่ พ.ศ. 2477-2495
12 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 ( อายุ 36 ปี )
– ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม
พ.ศ. 2481-2484 (อายุ 38-41 ปี)
– 16 ธันวาคม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และได้สร้างผลงานที่สำคัญ ได้แก่ ยกเลิกเงินภาษีรัชชูปการ (ภาษีส่วย), ยกเลิกอากรค่านา, ปรับปรุงภาษีอากรให้เป็นธรรมแก่สังคม อาทิ ผู้มีรายได้มากเสียภาษีมาก ผู้มีรายได้น้อย เสียภาษีน้อย
พ.ศ. 2483 (อายุ 40 ปี)
– ประพันธ์และอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก สะท้อนอุดมการณ์สันติภาพ คัดค้านกระแสชาตินิยมและต่อต้านสงครามโลกที่กำลังจะเกิดขึ้น
24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 (อายุ 41 ปี)
– ก่อตั้งธนาคารชาติ หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ตามดำริที่ปรากฏอยู่ในเค้าโครงการเศรษฐกิจ
8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 (อายุ 41 ปี)
– ญี่ปุ่นบุกเข้ามาในดินแดนสยามประเทศ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เข้าร่วมกับทหารญี่ปุ่น โดยประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ในเวลาต่อมา
ธันวาคม พ.ศ. 2484 – สิงหาคม พ.ศ. 2487 (อายุ 41-44 ปี )
– เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในนาม “รู้ธ” โดยรวบรวมคนไทยทั้งในและนอกประเทศ ทำงานใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่น เพื่อให้ชาติไทยได้รับเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์
1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 – 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 (อายุ 44-45 ปี)
– สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว
16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 (อายุ 45 ปี)
– ประกาศสันติภาพในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองเอกราชอธิปไตยของชาติไทย รับรองคุณูปการของเสรีไทย และรับรองฐานะผู้นำขบวนการเสรีไทย
8 ธันวาคม พ.ศ. 2488 (อายุ 45 ปี)
– พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส
24 มีนาคม – 1 มิถุนายน พ.ศ. 2489 (อายุ 46 ปี)
– ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (ครั้งที่ 1)
– ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ครั้งที่ 2)
8-9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 (อายุ 46 ปี)
– ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (ครั้งที่ 2) โดยความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ของที่ประชุมสมาชิกพฤฒสภาและสภาผู้แทนราษฎร
– พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ( ในหลวงร้ัชกาลที่ 8 ) เสด็จสวรรคต ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้เสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภาให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์สันตติวงศ์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันเดียวกัน ( ในหลวงรัชกาลที่ 9 )
– ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง โดยเหตุผลว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเสด็จสวรรคต
11 มิถุนายน – 23 สิงหาคม พ.ศ. 2489 (อายุ 46 ปี)
– ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (ครั้งที่ 3)
– ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ครั้งที่ 3)
พ.ศ. 2489 (อายุ 46 ปี)
– สถาบันสมิทโซเนียน (SmithsonianInstitution) สหรัฐอเมริกา ตั้งชื่อนกที่ค้นพบบริเวณดอยอ่างขางและดอยอินทนนท์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2471 ว่านกปรีดี ( Chloropsis aurifrons pridii ) เพื่อเป็นเกียรติแก่นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้นำขบวนการเสรีไทย
8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 (อายุ 47 ปี)
– คณะรัฐประหารนำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เป็นเหตุให้นายปรีดีต้องลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศสิงคโปร์
26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 (อายุ 49 ปี)
– เดินทางกลับประเทศไทย โดยตั้งใจยึดอำนาจคืนจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่ไม่สำเร็จ ( เรียกว่ากบฎวังหลวง )
– ซ่อนตัวอยู่ในบ้านร้างฝั่งธนบุรี (บริเวณเชิงสะพานสาทรในปัจจุบัน) นานถึง 5 เดือนเต็ม และเคยคิดที่จะยิงตัวตายแต่ถูกท่านผู้หญิงพูนศุขห้ามไว้
กันยายน พ.ศ. 2492 – พฤษภาคม พ.ศ. 2513 (อายุ 49-70 ปี)
– ลี้ภัยทางการเมืองไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน และได้รับเกียรติจากเหมาเจ๋อตุง เชิญให้เข้าร่วมในพิธีสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ ประตูเทียนอันเหมิน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมด้วย
พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 (อายุ 52 ปี)
– นายปาล พนมยงค์ บุตรชายคนโต และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภรรยา ถูกรัฐบาลทหารสั่งจับในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร
พฤษภาคม พ.ศ. 2513 – พฤษภาคม พ.ศ. 2526 (อายุ 70-83 ปี)
– ลี้ภัยการเมือง ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้ทำหน้าที่ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งมีหน้าที่รับปรึกษาในราชการแผ่นดิน เขียนบทความเสนอข้อคิดมายังรัฐบาลไทย เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติ
– ประพันธ์หนังสือเรื่อง ” ชีวิตอันผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปี ที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน “
– ยื่นฟ้องหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ที่เขียนโจมตีว่าพัวพันในคดีสวรรคต และชนะคดีทั้งหมด
29 มกราคม พ.ศ. 2526 (อายุ 83 ปี)
– ในการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 39 มีการแปรอักษรรำลึกถึงอาจารย์ปรีดี ซึ่งนับเป็นการแสดงความเคารพต่อรัฐบุรุษอาวุโสในที่สาธารณะอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490
2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 (อายุ 83 ปี)
– อสัญกรรม ณ บ้านพักอองโตนี ชานกรุงปารีส ด้วยอาการหัวใจวาย รวมอายุ 83 ปี 11 เดือน 22 วัน
3 กรกฎาคม พ.ศ. 2527
– เปิดอนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
7 พฤษภาคม พ.ศ. 2529
– นำอัฐิของนายปรีดีกลับมาเมืองไทย ก่อนจะนำอังคารไปลอยในอ่าวไทย เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ในปีเดียวกัน
– พิธีเปิดอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) ปฏิบัติกิจแทนสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
24 มิถุนายน พ.ศ. 2538
– พิธีเปิดสถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ ถนนสุขุมวิท 55 เพื่อดำเนินกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมและราษฎร
ธันวาคม พ.ศ. 2540
– ตั้งชื่อถนนประดิษฐ์มนูธรรม ในกรุงเทพมหานคร
27 มิถุนายน พ.ศ. 2541
– เปิดหอสมุดปรีดี พนมยงค์ ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
11 พฤษภาคม พ.ศ. 2543
– ครบรอบ 100 ปี ชาตกาล องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือองค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศให้รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก
พ.ศ. 2544
– ตั้งชื่อถนนปรีดี พนมยงค์ (ถนนสุขุมวิท 71)
2 พฤษภาคม 2549
– เปลี่ยนชื่อถนนโรจนะ ( จ.พระนครศรีอยุธยา ) ช่วงระหว่างสะพานปรีดี-ธำรง กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพระนครศรีอยุธยา มาเป็นชื่อถนน ปรีดี พนมยงค์
11 พฤษภาคม 2563
– ครบรอบ 120 ปี ชาตกาลปรีดี พนมยงค์
ภาพและข้อมูลจาก เว็บไซต์ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, เฟซบุ๊ก สถาบันปรีดี พนมยงค์ – Pridi Banomyong Institute
You must be logged in to post a comment Login