หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2015 พรรคเอ็นแอลดี ของนางอองซาน ซูจีได้รับชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ โดยได้ที่นั่งในสภาประชาชน หรือ สภาล่าง 196 ที่นั่ง ที่นั่งในสภาชนชาติหรือสภาสูง 95 ที่นั่ง รวมสองสภาได้ 291 ที่นั่ง ขณะที่พรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา หรือยูเอสดีพี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเดิม ได้ที่นั่งส.ส. 23 ที่นั่ง และที่นั่งในสภาสูง 10 ที่นั่ง รวมสองสภาได้เพียง 33 ที่นั่ง
การขึ้นมามีบทบาทอย่างเต็มตัวในการปกครองเมียนมาโดยผ่านการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการของอองซาน ซูจี หรือ“ดอว์ ซู” ในฐานะ “ที่ปรึกษาแห่งรัฐ” และรัฐมนตรีต่างประเทศ ทำให้ทั้งโลกก็หันมาจับตามองเมียนมากันมากขึ้น หลายฝ่ายตั้งความหวังถึงความเปลี่ยนแปลงที่น่าจะเกิดขึ้นหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2551เพื่อนำประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย ปัญหาการกระทบกระทั่งกันของกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงอำนาจของกองทัพเมียนมาหรือทัดมาดอร์จะถูกท้าทายจากการทำงานของอองซาน ซูจี มากน้อยเพียงใด
5 ปีผ่านไป หลายผ่ายมองว่าการปกครองในยุคของอองซาน ซูจี กลับไม่ดีดังที่คาดหวังพรรคเอ็นแอลดี ล้มเหลวในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2551 ที่ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย เนื่องจากให้อำนาจกองทัพแต่งตั้งรัฐมนตรีกระทรวงด้านความมั่นคง ได้แก่ กลาโหม,มหาดไทย และกิจการชายแดน โดยสงวนโควตา 1 ใน 4 ของที่นั่งในสภาให้กองทัพ เป็นผลให้กองทัพมีอำนาจยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้กระบวนการปฏิรูปแทบเป็นไปไม่ได้ แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะการแก้ไขต้องได้รับเสียงสนับสนุนเกิน 3 ใน 4 ของสภา
นอกจากนี้พรรคเอ็นแอลดียังล้มเหลวในการสร้างสันติภาพและแก้ไขความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ทั้งปัญหาในรัฐยะไข่, รัฐคะฉิ่น และพื้นที่ชาติพันธุ์อื่นๆ แม้จะมีการประชุมสันติภาพปางโหลง แห่งศตวรรษที่ 21 หลายครั้ง ก็ไม่มีผลต่อการหยุดความรุนแรงจากการสู้รบหรือยุติความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ได้ ทำให้กระบวนการสร้างสันติภาพต้องหยุดชะงัก กองทัพปฏิเสธข้อเรียกร้องให้มีการหยุดยิงกับกองทัพอาระกันระหว่างการระบาดของโควิด-19 โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลเคยประกาศสงบศึกชั่วคราวก่อนหน้านี้แต่อีกฝ่ายไม่สนใจ
ตลอดจนการตั้งชื่อสะพานอองซาน ในรัฐมอญ และการสร้างรูปปั้นอองซาน ในรัฐกะยา ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์มองว่าเป็นสัญลักษณ์การปกครองของคนเชื้อสายพม่า (Burmese) ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคเอ็นแอลดีกับกลุ่มชาติพันธุ์ และพรรคชาติพันธุ์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเลวร้ายลง ถือเป็นความผิดพลาดทางการเมืองครั้งใหญ่ของพรรคและอาจจะทำให้สูญเสียการสนับสนุนจากกลุ่มชาติพันธุ์
นอกจากนี้ ปัญหาโรฮิงญาที่อยู่ในการพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice : ICJ) กำลังถูกสหภาพยุโรปพิจารณาคว่ำบาตรทางการค้า อาจกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและแรงงานหลายแสนคนในร่างกุ้ง และมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ฐานเสียงสำคัญของพรรคเอ็นแอลดี รวมถึงความล้มเหลวในการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉพาะการลงทุนต่างประเทศ (FDI) ที่ถือว่าอัตราการเติบโตต่ำที่สุดนับตั้งแต่เปิดประเทศมา
แม้ผลงานในเรื่องการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น การปฏิรูปการศึกษาและเรื่องสิ่งแวดล้อมจะมีความคืบหน้า แต่ผลของการเลือกตั้งซ่อมในปี 2561 ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าพรรคเอ็นแอลดีกำลังสูญเสียความนิยมในฟื้นที่รัฐชาติพันธ์ ในขณะที่พรรค ยูเอสดีพี ซึ่งถือว่าล้มเหลวในการเลือกตั้งเมื่อปี 2558 แต่ก็ยังถือว่าเป็นพรรคขนาดใหญ่ มีความสัมพันธ์อันดีกับกองทัพแห่งชาติเมียนมาและกลุ่มนักธุรกิจชั้นนำ อีกทั้งนโยบายปรับปรุงโครงสร้างฟื้นฐานของประเทศก็ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มชาติพันธุ์ ก็ยังถือว่าเป็นคู่แข่งสำคัญของพรรคเอ็นแอลดี
ความล้มเหลวของพรรคชาติพันธุ์ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2558 และความผิดหวังต่อ พรรคเอ็นแอลดี ทำให้พรรคชาติพันธุ์รวมตัวเป็นพันธมิตรการเมืองเช่น เคเอสพีพี – KSPP (Kachin State People’s Party) เป็นการรวมกันของ 3 พรรค ในรัฐคะฉิ่น ถือว่าสร้างความท้าทายต่อพรรคเอ็นแอลดีโดยตรง และแนวคิดแบบนี้กำลังมีการนำมาใช้ในรัฐมอญ, รัฐกะเหรี่ยง และรัฐกะยา โดยเฉพาะรัฐฉาน และรัฐยะไข่ ที่กลุ่มชาติพันธุ์มีความแข็งแกร่งเช่นรัฐยะไข่ซึ่งพรรคเอเอ็นพี – ANP (Arakan National Party ) พรรคชาติพันธุ์ที่แม้จะได้ที่นั่งมากที่สุดในการเลือกตั้งพ.ศ. 2558 แต่คนของพรรคกลับไม่ได้รับตำแหน่งบริหารในรัฐยะไข่ สร้างความไม่พอใจแก่คนในพื้นที่เป็นอย่างมาก
ในประวัติศาสตร์การเมืองของเมียนมา แม้จะเป็นพรรคใหญ่จะได้รับความนิยมมากกว่าพรรคเล็กและผู้สมัครอิสระ แต่พรรคเอ็นแอลดี อาจพบกับปัญหาจากการที่สมาชิกพรรคที่มีคะแนนนิยมสูงบางคนอาจจะหันลงสมัครกันอิสระ
รวมทั้งการตั้งพรรคใหม่ของฉ่วย มาน อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ตั้งพรรคยูบีพี – UBP (Union Betterment Party) หรือโก โก จี อดีตแกนนำคนรุ่น 88 รวมทั้งการรวมตัวเป็นพันธมิตรของพรรคเล็กๆ เช่น United Political Parties Alliance (UPPA) เป็นกลุ่มที่ 4 ของเมียนมา ต่อจาก UNA (United Nationalities Alliance ),NBF (Nationalities Brotherhood Federation) และ Federal Democracy Alliance (FDA) ก็รวมตัวกันเป็นกลุ่ม People’s Party ซึ่งอาจทำให้พรรคเอ็นแอลดี เสียที่นั่งในสภาไปไม่น้อย
การเลือกตั้ง พ.ศ.2563 แตกต่างกับพ.ศ. 2533 และ 2558 เพราะทั้งสองครั้ง เป็นการลงประชามติโดยพฤตินัยในการคัดค้านการปกครองของกองทัพหรือทัดมาดอว์ มากกว่าจะเป็นการแข่งขันในระบอบประชาธิปไตย โดยมีอองซาน ซูจี และพรรคเอ็นแอลดีถือว่าเป็นตัวแทนการเปลี่ยนแปลงและความหวังเพื่ออนาคตที่ดีกว่า แต่ความไม่พอใจที่เพิ่มมากขึ้นต่อ พรรคเอ็นแอลดีในพื้นที่ชาติพันธุ์ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์เปลี่ยนไปสนับสนุนพรรคชาติพันธุ์ อาจจะกลายเป็นจุดชี้ขาดการเลือกตั้ง
การเลือกตั้ง พ.ศ. 2563 พรรคเอ็นแอลดียังคงได้รับเสียงข้างมากถือเป็นโอกาสแก้ตัวสำหรับจัดการปัญหาการปฏิรูปรัฐธรรมนูญไปจนกระทั่งการจัดการความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ชัยชนะอย่างถล่มทลายของพรรคเอ็นแอลดี ถึงแม้นจะมีคำครหาถึงเรื่องการลงคะแนนเสียงที่ถูกยกเลิกไปในหลายฟื้นที่ ยังทำให้มองได้ว่า อองซาน ซูจี ยังได้รับความไว้วางใจจากคนส่วนใหญ่ ให้รับมือกับสารพันปัญหาที่กำลังจะถาโถมสู่เมียนมาหลังการระบาดของ โควิด-19
เศรษฐกิจของพม่าในยุคอองซาน ซูจี
ในช่วงก่อนหน้ารัฐบาลของนางอองซาน ซูจี มูลค่าการลงทุนของต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้ลงทุนในเมียนมามีเฉลี่ยเพียงปีละ 2,083 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ โดยนักลงทุนต่างชาติอันดับหนึ่งในเมียนมาคือประเทศจีนโดยลงทุนในภาคทรัพยากรธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ เช่น การลงทุนในเหมืองแร่ทองแดง เหล็ก และหยก เป็นต้น
นับตั้งแต่นางอองซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งในสมัยแรก เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศก็ไหลเข้าเมียนมามากขึ้นกว่าเดิมประมาณ 3 เท่า เป็นเฉลี่ยปีละ 6,654 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ โดยเกือบครึ่งหนึ่งของเม็ดเงินลงทุนมากจากสิงคโปร์ ซึ่งเป็นพันธมิตรของชาติตะวันตกในอาเซียน จะเห็นได้ว่า รัฐบาลของนางอองซาน ซูจี พยายามปรับโครงสร้างการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศให้มีความสมดุลมากขึ้นระหว่างจีนและประเทศพันธมิตรของชาติตะวันตก นอกจากนี้ รัฐบาลเมียนมายังพยายามปรับโครงสร้างการลงทุนจากที่เคยพึ่งพาการลงทุนในทรัพยากรธรรมชาติ ไปสู่การลงทุนที่หลากหลายมากขึ้นทั้งในภาคอุตสาหกรรม และในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ถนน นิคมอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้า ซึ่งการลงทุนเหล่านี้จะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของเมียนมาได้ในระยะยาว
ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี ที่นางอองซาน ซูจี ได้เข้ามาบริหารประเทศ เมียนมาได้เปลี่ยนแปลงจากประเทศที่ส่งออกทรัพยากรธรรมชาติ และสินค้าเกษตรเป็นหลัก มาเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าอุตสาหกรรม เช่นสิ่งทอและการตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตร และการส่งออกแร่เชื้อเพลิง เช่น ก๊าซธรรมชาติ ก็ค่อย ๆ มีสัดส่วนลดลงตามลำดับ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการส่งออกนี้ ชี้ให้เห็นถึงพัฒนาทางเศรษฐกิจของเมียนมา ที่เริ่มเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม
ปัจจุบัน จุดแข็งของเมียนมา คือ ค่าจ้างแรงงานที่ถูกที่สุดในอาเซียน และสิทธิ GSP ที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติสามารถส่งออกสินค้าไปยังตลาด EU และสหรัฐ ฯ ได้ โดยไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มเติม ทำให้ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลักได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญ เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งที่มีค่าจ้างแรงงานไม่สูงนักในอาเซียน เช่น สปป.ลาว และกัมพูชา ประเทศเมียนมามีการปฏิรูประบบราชการ ให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้น เช่น การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทผ่านช่องทางออนไลน์ และการลดค่าธรรมเนียมการจัดตั้งบริษัท จึงทำให้เมียนมาได้รับการจัดลำดับ Ease of Doing Business ให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
โดยจากเดิมก่อนรัฐบาลของนางอองซาน ซูจี เมียนมาเคยอยู่ในลำดับที่ 177 แต่ในปีนี้ เมียนมาขึ้นมาอยู่ในลำดับที่ 165 ซึ่งสวนทางกับประเทศ สปป.ลาว และกัมพูชา ที่ได้รับการจัดลำดับให้แย่ลงในช่วงเวลาเดียวกัน
ดังนั้นหลังจากอองซาน ซูจี และพรรคเอ็นแอลดีคว้าชัยชนะเลือกตั้งสมัยที่ 2 ทิศทางการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเมียนมาก็มีแนวโน้มดีขึ้น อานิสงค์ของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ฯ ทำให้จีนจะเข้ามาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมมลฑลยูนนานกับมหาสมุทรอินเดียที่ชายฝั่งทะเลทางตะวันตกของเมียนมา เช่น โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งโครงการเหล่านี้จะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานของจีน พร้อมทั้งเป็นประตูทางออกสินค้าจีนไปยังมหาสมุทรอินเดียได้อีกด้วย
ส่วนประเทศพันธมิตรของชาติตะวันตกก็มีแนวโน้มจะมาลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ เนื่องจากสหรัฐฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของเมียนมาที่มีต่อจีนเป็นอย่างดี จึงมีความเป็นไปได้สูงที่สหรัฐ ฯ จะไม่เพิกถอนสิทธิ GSP ของเมียนมาเพื่อคงความสัมพันธ์อันดีระหว่างสหรัฐฯกับเมียนมาเอาไว้ สิ่งเหล่านี้ จะส่งผลดีต่อศักยภาพในการแข่งขันของประเทศเมียนมา ทำให้สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากประเทศพันธมิตรของชาติตะวันตกต่อไปได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอเกิดความชะงักงัน เนื่องจากเมียนมาต้องพึ่งพาการนำเข้าเส้นใยและผ้าผืนจากจีนมากถึง 90% จึงทำให้โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในเมียนมาต้องปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก มีผลทำให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของเมียนมาหดตัวลงถึง 8.1% การปิดกิจการของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในเมียนมาจะส่งผลให้การพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอในเมียนมาต้องหยุดชะงักลงในระยะสั้น (1-3 ปีข้างหน้า) แต่ปัจจัยนี้ไม่น่าส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศเมียนมา และการลงทุนของต่างชาติในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และการตัดเย็บเสื้อผ้าก็จะฟื้นตัวได้ในอีกครั้ง ในระยะยาว
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.bbc.com/thai/international-54820800
You must be logged in to post a comment Login