การชุมนุมและเดินขบวนถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในสังคมประชาธิปไตย เพราะนั้นเป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการออกมาเรียกร้องปัญหาต่างๆ เมื่ออยู่ในสังคมนั้นๆแล้ว และการชุมนุมยังที่เป็นยอมรับในทางสากลอีกด้วย วันนี้สำนักข่าวโตโจ้นิวส์พามาดูว่า ปีนี้มีม็อบเกิดขึ้นกี่แห่งบนโลก พร้อมข้อมูลเบื้องต้นในการเกิดชุมนุมของประเทศต่างๆ และเราได้หยิบมาเพียงแค่ 1 การชุมนุมของแต่ละประเทศ เนื่องจากเราเห็นว่า การชุมนุมครั้งนั้นมีจุดประสงค์ในการออกมาที่ชัดเจนและเห็นถึงปัญหาที่พวกเขาต้องเผชิญอยู่
ประเทศไทย (21 กุมภาพันธ์ 2563 – ปัจจุบัน)
ในปีนี้ประเทศไทย มีการเกิดการม็อบครั้งใหญ่ เมื่อประชาชนออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย รวมไปถึงให้ปรับแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน การปฎิรูประบบการศึกษาไทย และขับไล่นายกรัฐมนตรีให้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งการชุมนุมประท้วงครั้งนี้ถูกเรียกว่า “ม็อบคณะราษฎร 63” ภายใต้กลุ่ม “กลุ่มประชาชนปลดแอก”
จุดเริ่มต้นของม็อบเกิดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 จึงเกิดการประท้วงขึ้นในพื้นที่สถานศึกษาทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด และได้เกิดชุมนุมอีกครั้งหลังเกิดการะบาดโควิด-19 ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน ในลักษณะลงเดินถนนและแฟลชม็อบ ซึ่งนับว่าเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ในรอบ 6 ปี เลยก็ว่าได้
ประเทศฝรั่งเศส (28 พฤศจิกายน 2563 – สิ้นสุดแล้ว)
ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2563 คนฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งในกรุงปารีส ได้ออกมารวมตัวประท้วงต่อต้านกฎหมายและเรียกร้องให้แก้กฎหมายมาตรา 24 ที่ระบุไว้ว่า การเผยแพร่ภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะปฎิบัติหน้าที่ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิดใจของเจ้าหน้าที่ ถือเป็นความผิดทางอาญา
อีกหนึ่งสาเหตุที่เกิดการประท้วงเพราะได้มีภาพวิดีโอของมิเชล เซแคลร์ โปรดิวเซอร์เพลงวัย 41 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 นายรุมทำร้าย ในกรุงปารีส จึงทำให้ประชาชนไม่พอใจกับร่างกฎหมายดังกล่าว
ประเทศอินเดีย (27 พฤศจิกายน 2563 – ปัจจุบัน)
ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 จนถึงตอนนี้ ในประเทศอินเดีย มีชาวนาหลายพันคนออกมาประท้วงกฎหมายการเกษตรฉบับใหม่ที่เอาเปรียบเหล่าชาวเกษตรกร ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ได้ผ่านการรับรองเมื่อเดือนกันยายน เพื่อเป็นการปฎิรูปกฎหมายฉบับเก่าที่ชาวนาขายผลิตผลส่วนใหญ่ผ่านตลาดขายส่งของทางการด้วยราคาที่กำหนดโดยรัฐบาล โดยตั้งเป้าเปิดช่องทางให้ชาวนาสามารถขายผลิตผลแก่บริษัทเอกชนได้
แต่ในฝั่งของชาวนาเกรงว่า การไม่มีภาครัฐควบคุมกลไกตลาดอาจทำให้พวกเขามีอำนาจในการเจรจากับบริษัทเอกชนน้อย ขายผลผลิตในราคาที่ต่ำ และส่งผลให้มีรายได้ลดน้อยลงตาม
ประเทศคีร์กีซสถาน (ต้นเดือนตุลาคม 2563 – สิ้นสุดแล้ว)
ในช่วงต้นเดือนตุลาคม มีกลุ่มผู้ชุมนุมของประเทศคีกีซสถานจำนวนหนึ่งบุกเข้าไปยึดอาคารทำเนียบรัฐบาลในกรุงบิชเคก เพื่อแสดงความไม่พอใจที่พรรครัฐบาลชนะการเลือกตั้ง ท่ามกลางข้อครหาเกี่ยวกับซื้อเสียง รวมไปถึงเรียกร้องให้นายโซโรนไบ จีนเบนอฟ ประธานาธิบดีลาออกจากตำแหน่ง
และเหล่าผู้ชุมยังสามารถเจรจานำตัวนายอัลมัซเบก อะดัมบาเพฟ อดีตประธานาธิบดี และอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูง ออกจากเรือนจำสำเร็จ
ประเทศเลบานอน (8 สิงหาคม 2563 – สิ้นสุดแล้ว)
ในวันที่ 8 สิงหาคม 2563 ประชาชนชาวเลบานอนออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาล เพราะมีความไม่พอใจในเหตุระเบิดที่ท่าเรือ (4 ส.ค.) จากต้นตอแอมโมเนียมไนเตรทที่ทางการยึดและเก็บไว้ในคลังสินค้าหลายปี จนเกิดเหตุโศกนษฏกรรมที่ทำให้คนทั่วโลกตกใจเป็นอย่างมาก ทางผู้ชุมนุมจึงออกมาทวงความยุติธรรมจากทางรัฐบาล
แต่ก่อนหน้านี้เมื่อปลายปี 2562 ก็มีการประท้วงขับไล่รัฐออกชุดนี้ออก เนื่องจากการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพจนทำให้เศรษฐกิจทางการเงินย่ำแย่
ประเทศเยอรมัน (1 สิงหาคม 2563 – สิ้นสุดแล้ว)
วันที่ 1 สิงหาคม 2563 เกิดม็อบลงถนนประท้วงในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน มีผู้ประท้วงร่วม 17,000 คน ที่มีทั้งกลุ่มแนวคิดเสรีนิยม กลุ่มสนับสนุนรัฐธรรมนูญ และกลุ่มต่อต้านการฉีดวัคซีน และยังมีกลุ่มขวาจัดที่คอยโบกธงสัญลักษณ์จักรวรรดิเยอรมนีสีขาวดำและแดง
จุดประสงค์ของการลงถนนในครั้งนั้นคือ เพื่อต่อต้านมาตราการบังคับสวมหน้ากากที่รัฐบาลนำมาใช้เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 รวมไปถึงมาตรการอื่นๆ โดยเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
ประเทศสหรัฐอเมริกา (20 พฤษภาคม 2020 – สิ้นสุดแล้ว)
ประท้วงครั้งสำคัญของประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีชื่อว่า ‘Black Lives Matter’ เมื่อชาวอเมริกันหลายคนรวมตัวกันและออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับ “จอร์จ ฟลอยด์” ชาวอเมริกันผิวดำ วัย 46 ปี ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ และเป็นเหตุให้เขาเสียชีวิตลงในภายหลัง ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งกับชาวอเมริกันผิวดำคนอื่นๆที่ต้องเสียชีวิตเพราะความแตกต่างทางเชื้อชาติและสีผิว
ประเทศอิสราเอล (19 เมษายน 2563 – สิ้นสุดแล้ว)
เกิดม็อบขนาดเล็กในคืนวันที่ 19 เมษายน 2563 ที่มีผู้ประท้วงราว 2,000 คน รวมตัวประท้วงฝั่งรัฐบาล ที่จัตุรัสราบิน ในกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ในการรวมตัวครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อแสดงความไม่พอใจรัฐบาลที่ออกมาตราการลิดรอนสิทธิในหลายมาตราการ หนึ่งในนั้นคือการสอดแนมการใช้โทรศัพท์ของประชาชน โดยอ้างอิงว่าเพื่อเป็นการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19
รวมทั้ง นายยาอีร์ ลาปิด นักการเมืองพรรคฝ่ายค้านของอิสราเอล ได้เผยว่า นายเบนจามิน เนทันยาฮู ยังมีการเตรียมเสนอกฎหมายที่ให้ตัวเองมีอำนาจแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พนักงานอัยการ และอัยการสูงสุด
เกาะฮ่องกง (9 มิถุนายน 2562 – สิ้นสุดแล้วในปี 2563)
การประท้วงในฮ่องกงเกิดขึ้นตั้งแต่ 9 มิถุนายน 2562 ลากยาวไปจนถึงกลางปี 2563 ที่ประชาชนออกมาประท้วงต่อต้านร่างรัฐบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดนฮ่องกง ที่เกรงว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะทำให้ฮ่องกงนั้นจะได้รับการครอบงำจากกฎหมายของจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งจะทำให้ชาวฮ่องกงตกอยู่ใต้ระบบกฎหมายอื่นที่นอกเหนือไปจากของตัวเอง รวมไปถึงการเรียกร้องให้ แคร์รี หลั่ม ผู้บริหารฮ่องกงลาออกจากตำแหน่ง โดยแรกเริ่มของการประท้วงเกิดจากแนวร่วมสิทธิมนุษยชนพลเมือง และนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยชาวฮ่องกงมากมาย
You must be logged in to post a comment Login