ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวถึง การสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม หรือศูนย์ห่วงใยคนสาคร ว่า ทางจังหวัดได้เตรียมพื้นที่ไว้ จำนวน 8 ศูนย์ ได้แก่ ตลาดกลางกุ้ง(ศูนย์ 1), สนามกีฬากลาง(ศูนย์ 2), วัดโกรกกราก(ศูนย์ 3), วัฒนาแฟคตอรี่(ศูนย์ 4), เทศบาลตำบลนาดี(ศูนย์ 5), วัดสุทธิวาตวราราม(ศูนย์ 6), วัดเทพนรรัตน์(ศูนย์ 7), อบต.ท่าทราย(ศูนย์ สามารถรองรับ การพักอาศัยได้ 2,092 เตียง )
ปัจจุบันกองทัพบกได้สนับสนุนสิ่งอุปกรณ์และเครื่องใช้ที่จำเป็นในการพักอาศัย ประกอบด้วย เตียงโครงเหล็กพร้อมที่นอน, หมอน, ปลอกหมอน, ผ้าห่ม และมุ้ง จำนวน 2,000 ชุด และได้ลำเลียงไปยัง จ.สมุทรสาครเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ 7 ม.ค. 64 พร้อมกับได้จัดสรรนำไปติดตั้งใช้งาน ณ ศูนย์ห่วงใยคนสาครที่ 1-2-3-4 เรียบร้อย
นอกจากนี้ได้มีการหารือร่วมกับทางจังหวัดและเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อปรับแผนการควบคุมพื้นที่ การจัดวางกำลังสนับสนุนศูนย์สาครทั้ง 8 แห่ง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมไปถึงการตั้งจุดตรวจร่วม เพื่อคัดกรองการข้ามจังหวัดตามข้อกำหนดในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 17) ซึ่งมีความเข้มงวดมากขึ้นนั้น
กองทัพบกได้กำชับให้ มทบ.16, กรมทหารสื่อสารที่ 1 ได้ปฏิบัติอย่างรัดกุมตามแนวทางของ ศบค. ครอบคลุมทั้งเรื่องการวัดอุณหภูมิและสังเกตอาการ สอบถามความจำเป็นสถานที่ปลายทาง และเอกสารรับรองการเดินทาง พร้อมให้คำแนะนำการปฏิบัติของแต่ละจังหวัดควบคู่กันไป
สำหรับภาพรวมการปฏิบัติงานในปัจจุบัน กองทัพบกได้จัดกำลังพล จากกรมทหารสื่อสารที่ 1, มณฑลทหารบกที่ 16 และ กอ.รมน.จ.สมุทรสาคร พร้อมยุทโธปกรณ์เข้าปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย ได้แก่ การประสานงานที่กองอำนวยการร่วม การเฝ้าระวังพื้นที่ควบคุมและการลาดตระเวนโดยรอบตลาดกลางกุ้งตลอด 24 ชั่วโมง
การช่วยลงทะเบียนซักประวัติเพื่อคัดแยกบุคคลที่ตลาดกลางกุ้งเพื่อเตรียมย้ายไปพักที่ศูนย์ห่วงใยคนสาคร 1-3 การตั้งจุดตรวจ จุดคัดกรองควบคุมการแพร่ระบาด 9 จุดตรวจ รอบพื้นที่จังหวัด
โดยในแต่ละวันมียานพาหนะผ่านจุดตรวจ 3,000-4,000 คันต่อวัน
การจัดเจ้าหน้าที่และยานพาหนะเข้ารับ-ส่งผู้ป่วยจากพื้นที่ควบคุมตลาดกลางกุ้งย้ายไปพักที่ศูนย์ห่วงใยคนสาคร 1-3
รวมทั้งการบริหารจัดการพื้นที่และรักษาความปลอดภัยศูนย์ห่วงใยคนสาคร 1-2-3
นอกจากนี้ได้เข้าเตรียมพื้นที่ในการจัดตั้งศูนย์ห่วงในคนสาครที่ 4-5-6-7-8 ทั้งด้านการทำความสะอาด การปรับปรุง การวางแผนรักษาความปลอดภัย ควบคู่ไปกับมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดและการควบคุมโรค
อย่างไรก็ตามการปฏิบัติงานในพื้นที่ควบคุมสูงสุด กองทัพบกตระหนักดีว่ากำลังพลมีความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อ จึงได้กำหนดแนวทางพิทักษ์พล โดยนอกจากจะปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล การจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันให้พร้อมแล้ว เมื่อกลับเข้าหน่วยทหารจะมีการทำความสะอาดล้างฆ่าเชื้อหลังการปฏิบัติงานทุกครั้ง ควบคู่ไปกับการตรวจร่างกายกำลังพลที่ปฏิบัติงานตามห้วงระยะเวลา
You must be logged in to post a comment Login