Connect with us

On this day

๓ ตุลาคม ๒๔๕๖ เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ ๙ รอบพระนักษัตร ๑๐๘ ปี สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร

Published

on

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร พระนามเดิม เจริญ คชวัตร ฉายา สุวฑฺฒโน 
(๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ – ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖)
เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ ๑๙
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 
ถือเป็นสมเด็จพระสังฆราชที่มีพระชันษามากกว่าสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ในอดีต
และเป็นพระองค์แรกของไทยที่มีพระชันษา ๑๐๐ ปี
สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เนื่องจากติดเชื้อในกระแสพระโลหิต

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เป็นสมเด็จพระสังฆราชฐานันดรศักดิ์สามัญชน
และถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่ถูกสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า”
ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ
พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ในปี ๒๕๖๒
ในฐานะ “พระราชกรรมวาจาจารย์” เมื่อครั้งทรงผนวช

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร มีพระนามเดิมว่า เจริญ คชวัตร 
ประสูติเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ ที่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นบุตรคนโตของพระชนกน้อย คชวัตร
และพระชนนีกิมน้อย คชวัตร พระองค์มีน้องชาย ๒ คน ได้แก่ นายจำเนียร คชวัตร
และนายสมุทร คชวัตร พระชนกของพระองค์ป่วยเป็นโรคเนื้องอกและเสียชีวิตไปตั้งแต่พระองค์ยังเล็ก
หลังจากนั้น พระองค์ได้มาอยู่ในความดูแลของนางกิมเฮ้ง หรือกิมเฮงซึ่งเป็นพี่สาวของพระชนนีกิมน้อย
ที่ได้ขอพระองค์มาเลี้ยงดู และนางกิมเฮ้งจึงตั้งชื่อหลานชายผู้นี้ว่า “เจริญ”

เมื่อพระชันษาได้ ๘ ปี ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนประชาบาล วัดเทวสังฆาราม จนจบชั้นประถม ๕
(เทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ และ๒ ในปัจจุบัน) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ ในขณะที่มีพระชันษา ๑๒ ปี
หลังจากนั้น ทรงไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรต่อและไม่รู้ว่าจะเรียนที่ไหน ทรงเล่าว่า
เมื่อเยาว์วัยมีพระอัธยาศัยค่อนข้างขลาด กลัวต่อคนแปลกหน้า และค่อนข้างจะเป็นคนติดป้า
ที่อยู่ ใกล้ชิดกันมาแต่ทรงพระเยาว์โดยไม่เคยแยกจากกันเลย
จึงทำให้พระองค์ไม่กล้าตัดสินพระทัยไปเรียนต่อที่อื่น

เมื่อพระองค์ยังทรงพระเยาว์นั้นทรงเจ็บป่วยออดแอดอยู่เสมอ โดยมีอยู่คราวหนึ่งที่ทรงป่วยหนัก
จนญาติ ๆ ต่างพากันคิดว่าคงไม่รอดแล้วและได้บนไว้ว่า ถ้าหายป่วยจะให้บวชเพื่อแก้บน
แต่เมื่อหายป่วยแล้ว พระองค์ก็ยังไม่ได้บวช จนกระทั่งเรียนจบชั้นประถม ๕ แล้ว
พระองค์จึงได้ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเพื่อแก้บนในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ขณะมีพระชันษาได้ ๑๔ ปี
ที่วัดเทวสังฆาราม โดยมีพระเทพมงคลรังษี (ดี พุทฺธโชติ) เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆาราม เป็นพระอุปัชฌาย์
และพระครูนิวิฐสมาจาร (เหรียญ สุวณฺณโชติ) เจ้าอาวาสสวัดศรีอุปลาราม
เป็นพระอาจารย์ให้สรณะและศีล

ภายหลังบรรพชาแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดเทวสังฆาราม 1 พรรษา และได้มาศึกษาพระธรรมวินัย
ที่วัดเสน่หา จังหวัดนครปฐม หลังจากนั้น พระเทพมงคลรังษี (ดี พุทธฺโชติ) พระอุปัชฌาย์ได้พาพระองค์
ไปยังวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และนำพระองค์ขึ้นเฝ้าถวายตัวต่อสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์
เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร (ต่อมาคือสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์)
เพื่ออยู่ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ทรงได้รับประทานนามฉายา
จากสมเด็จพระสังฆราชว่า “สุวฑฺฒโน” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้เจริญดี” 

จนกระทั่งพระชันษาครบอุปสมบทจึงทรงเดินทางกลับไปอุปสมบทที่วัดเทวสังฆารามเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖
ภายหลังจึงได้เดินทางเข้ามาจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร
เพื่อทรงศึกษาพระธรรมวินัยและที่วัดบวรนิเวศวิหารนี่เอง พระองค์ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทซ้ำ
ในธรรมยุติกนิกายเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๖ (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. ๒๔๗๗)
โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ 
พระเทพเมธี (จู อิสฺสรญาโณ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

พระองค์ทรงเริ่มเรียนพระปริยัติธรรมตามคำชักชวนของพระเทพมงคลรังษี (ดี พุทฺธโชติ) พระอุปัชฌาย์
ที่ตั้งใจจะให้พระองค์กลับมาสอนพระปริยัติธรรมที่วัดเทวสังฆารามและจะสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม
เตรียมไว้ให้ โดยพระอุปัชฌาย์นำพระองค์ไปฝากไว้กับพระครูสังวรวินัย (อาจ) เจ้าอาวาสวัดเสน่หา
เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐ แล้วจึงเริ่มเรียนภาษาบาลี โดยมีพระเปรียญจากวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เป็นอาจารย์สอน หลังจากนั้น จึงเดินทางมายังกรุงเทพมหานครเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรีได้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒
และทรงสอบได้นักธรรมชั้นโทและเปรียญธรรม ๓ ประโยค ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓

พระองค์ทรงตั้งพระทัยอย่างมากในการสอบเปรียญธรรม ๔ ประโยค แต่ผลปรากฏว่าทรงสอบตก
ทำให้ทรงรู้สึกท้อแท้และคิดว่า “คงจะหมดวาสนาในทางพระศาสนาเสียแล้ว” แต่เมื่อทรงคิดทบทวน
และไตร่ตรองดูว่าทำไมจึงสอบตก ก็ทรงตระหนักได้ว่าเหตุแห่งการสอบตกนั้นเกิดจาก
ความประมาท โดยแท้ กล่าวคือ ทรงทำข้อสอบโดยไม่พิจารณาให้รอบคอบด้วยสำคัญผิดว่าตนรู้ดีแล้ว
ทั้งยังมุ่งอ่านเฉพาะเนื้อหาที่เก็งว่าจะออกเป็นข้อสอบเท่านั้น ซึ่งพระองค์ทรงพบว่า
เป็นวิธีการเรียนที่ไม่ถูกต้องเพราะไม่ทำให้เกิดความรู้อย่างแท้จริง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พระองค์สอบตก
เมื่อพระองค์ทรงตระหนักได้ดังนี้แล้วจึงทรงเปลี่ยนมาใช้วิธีเรียนแบบสม่ำเสมอและทั่วถึง
พระองค์จึงสอบได้ทั้งนักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม ๔ ประโยค ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕

หลังจากนั้น พระองค์ทรงกลับไปสอนพระปริยัติธรรมที่โรงเรียนเทวานุกูล วัดเทวสังฆาราม
เพื่อสนองพระคุณพระเทพมงคลรังษีเป็นเวลา ๑ พรรษา แล้วจึงทรงกลับมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร
เพื่อทรงศึกษาพระปริยัติธรรมต่อไป โดยทรงสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค 
โดยในระหว่างที่ทรงอยู่วัดบวรนิเวศวิหารนั้น พระองค์ก็ยังคงกลับไปช่วยสอนพระปริยัติธรรม
ที่วัดเทวสังฆารามอยู่เสมอ พระองค์ยังทรงศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างต่อเนื่อง
จนกระทั่ง สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔

หลังจากที่พระองค์สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค แล้ว พระองค์ทรงเริ่มงานอันเกี่ยวเนื่อง
กับคณะสงฆ์อีกมากมาย ซึ่งนอกเหนือจากเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแล้ว
พระองค์ยังเป็นผู้อำนวยการศึกษาสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งมีหน้าที่จัดการศึกษา
ของภิกษุสามเณรทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลี รวมทั้งทรงเป็นสมาชิกสังฆสภาโดยตำแหน่ง
ในฐานะเป็นพระเปรียญ ๙ ประโยค ต่อมา เมื่อมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
ขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ พระองค์ทรงรับหน้าที่เป็นกรรมการสภาการศึกษา
และอาจารย์ของมหาวิทยาลัย รวมทั้ง เป็นพระวินัยธรชั้นอุทธรณ์และรักษาการพระวินัยธรชั้นฎีกาในกาลต่อมา
นอกจากนี้ ยังทรงเป็นเลขานุการในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์อีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ทรงฉายภาพหมู่ร่วมกับคณะพระภิกษุสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อครั้งทรงผนวช

เมื่อมีพระชันษาได้ ๓๔ ปี พระองค์ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นสามัญ
ที่ พระโศภนคณาภรณ์ โดยพระองค์ได้รับเลือกจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ให้เป็นพระอภิบาลของพระภิกษุ
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรในระหว่างที่ผนวชเป็นพระภิกษุ
และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ต่อมา ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นธรรม ที่ พระธรรมวราภรณ์ 
โดยราชทินนามทั้ง ๒ ข้างต้นนั้นเป็นราชทินนามที่ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระราชทานแก่พระองค์เป็นรูปแรก
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ พระองค์ได้รับตำแหน่งเป็นผู้รักษาการเจ้าคณะธรรมยุตภาคทุกภาค
และเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร
ในปีเดียวกันนี้เองพระองค์ได้รับการสถาปนาที่ พระสาสนโสภณ 
พระองค์เข้ารับตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ นอกจากนั้น
ยังได้ทรงนิพนธ์ผลงานทางวิชาการ เอกสาร และตำราด้านพุทธศาสนาไว้มากมาย

พ.ศ. ๒๕๑๕ พระองค์ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร 
ซึ่งเป็นราชทินนามที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระราชทาน
สถาปนาสมเด็จพระอริยวงษญาณ (สุก ญาณสังวร) 
พระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๙
ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระญาณสังวร จึงเป็นตำแหน่งพิเศษ
ที่โปรดพระราชทานสถาปนาแก่พระเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระเท่านั้น

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสถาปนา
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

เมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ สมเด็จพระสังฆราชในขณะนั้นสิ้นพระชนม์ในปี
พ.ศ. ๒๕๓๑ ทำให้ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในราชทินนามเดิมคือ 
สมเด็จพระญาณสังวร ซึ่งราชทินนามดังกล่าวนับเป็นราชทินนามพิเศษ กล่าวคือ
สมเด็จพระสังฆราชที่มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์นั้น โดยปกติจะใช้ราชทินนามว่า 
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ บางพระองค์ ครั้งนี้
จึงนับเป็นอีกหนึ่งครั้งมีการใช้ราชทินนาม สมเด็จพระญาณสังวร สำหรับสมเด็จพระสังฆราช
เพื่อเป็นการยกย่องพระเกียรติคุณทางวิปัสสนาธุระของพระองค์ให้เป็นที่ประจักษ์

ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๗ หลังจากที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ประชวรและประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เข้าร่วมงานพระศาสนาไม่สะดวก มหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรปกครองคณะสงฆ์ ได้แต่งตั้งให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช 
ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชได้มีพระบัญชาว่า “ทราบและเห็นชอบ” เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๗
ต่อมา การแต่งตั้งนั้นได้สิ้นสุดลงเพราะครบระยะเวลาที่กำหนด มหาเถรสมาคมจึงได้แต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อบริหารกิจการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
โดยประกอบด้วยพระราชาคณะ รวม ๗ รูป จากพระอาราม ๗ วัด โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์
(เกี่ยว อุปเสโณ) ในฐานะมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ทำหน้าที่
ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สิ้นพระชนม์
เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เวลา ๑๙:๓๐ นาฬิกา ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 
เนื่องจากติดเชื้อในกระแสพระโลหิต

ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 
ได้ทรงสถาปนาพระอัฐิของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในฐานะพระราชกรรมวาจาจารย์เมื่อครั้งทรงผนวช
ขึ้นเป็น “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร” ในการนี้
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานจัดฉัตรตาดเหลือง ๕ ชั้น
ถวายกางกั้นพระรูปบรรจุพระสรีรางคาร ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แบ่งพระอัฐิบรรจุลงพระโกศทองคำ
เชิญมาประดิษฐานในหอพระนาก วัดพระศรีรัตนศาสดาราม 
เพื่อเป็นที่ทรงสักการบูชาและทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายในพระฐานะพระบุพการีทางธรรมสืบไป

ตราประจำพระองค์ในขณะทรงดำรงพระสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราช (ภาพบน)
และดำรงพระสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า (ภาพล่าง)

ภาพและข้อมูลจาก
Bhumibol Adulyadej and group – สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร – วิกิพีเดีย (wikipedia.org)

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Click to comment

You must be logged in to post a comment Login

Leave a Reply

Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: