Connect with us

Innovation & Technology

๑๔ กันยายยน วันบุรฉัตร เพื่อรำลึกถึงวันสิ้นพระชนม์ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยโยธิน “บิดาการรถไฟไทย”

Published

on

พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินทรงเป็น พระราชโอรสองค์ที่ ๓๕
ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ กับเจ้าจอมมารดาวาด
พระองค์ประสูติ เมื่อ วัน จันทร์ เดือน ๓ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ.๒๔๒๔
ทรงมีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร”
เมื่อทรงพระเยาว์ทรงศึกษาที่โรงเรียน พระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวัง
โดยมีพระยาโอวาทวรกิจ ( แก่น ) เป็นผู้ถวายพระอักษร
เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๖ เสด็จออกไปทรงศึกษาวิชาที่ฝรั่งเศส และไปศึกษาโรงเรียนแฮร์โรว์ อังกฤษ
ซึ่งอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนแห่งนี้ ได้ชมเชยว่า พระองค์มีความสามารถ และพรวิริยะ
อุตสาหะเป็นอย่างยิ่ง
ต่อมาได้ทรงเข้าศึกษาวิชาวิศวกรรมที่ตรินิตี้คอลเลจ แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
(University of Cambridge) ตามที่สมเด็จพระบรมชนกนาถกำหนดไว้สำหรับพระองค์
เพื่อให้กลับมารับราชการสนองคุณประเทศชาติในสาขานี้ แล้วทรงศึกษาวิชาทหารช่างต่อ
ที่โรงเรียนวิศวกรรมทหาร ที่แชทแฮม

พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร เมื่อทรงพระเยาว์

หลังสำเร็จการศึกษาทรงได้รับพระราชทานยศเป็น นายร้อยตรี นอกกองประจำการกองร้อยปี ๒
กองทหารอินยิเนียร์ (กองทหารอินยิเนียร์ เปลี่ยนเป็น กรมทหารช่าง ในเวลาต่อมา)
กรมบัญชาการทหารบกมณฑลกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๔
แล้วเสด็จไปทรงศึกษาวิชาวิศวกรรมชั้นสูงจากประเทศฝรั่งเศส เมื่อสำเร็จการศึกษา
ได้ประทับทอดพระเนตรงาน และทรงศึกษาหาความชำนาญอยู่ในประเทศอังกฤษ
ได้เป็น สมาชิกสถาบันวิศวกรรมช่างโยธาแห่งประเทศอังกฤษ M.I.C.E.
(Member of the Institute of Civil Engineers)
นับว่าพระองค์ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่เป็นสมาชิกของสถาบันนี้ (เทียบเท่า วิศวกรรมสถาน)

เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร,พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ,เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย,เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ,พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ,
เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์,เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร,พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์,พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์,
พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร,พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดชและ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ถ่ายที่ตาโปลคอต (Taplow Court) สถานที่ประทับเมื่อครั้งที่พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ
ภาพจาก กรมหลวงชุมพรฯ 120 ปี นิวัตมาตุภูมิ สู่ราชนาวีสยาม (hrh-abhakara-120anv-homecoming.com)

ธันวาคม ๒๔๔๗ พระองค์ทรงรับสัญญาบัตรเป็น “นายพันตรีกรมยุทธนาธิการทหารบก”
ในวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๘ ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อภิเษกสมรส
กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงประภาวสิทธินฤมล
ในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์
ทรงเป็นต้นราชตระกูล “ฉัตรไชย” และทรงมีพระโอรสและธิดา
ประสูติจากพระชายาและหม่อมรวม ๑๑ พระองค์

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาวสิทธิ์นฤมล พระชายา
ภาพจาก Purachatra Jayakara – Wikipedia

    ๑. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิง มยุรฉัตร
     ๒. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า เปรมบุรฉัตร
     ๓. หม่อมเจ้าหญิง ฉัตรสุดา ฉัตรไชย
     ๔. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิง วิมลฉัตร
     ๕. หม่อมเจ้าหญิง กาณจนฉัตร ฉัตรไชย
     ๖. หม่อมเจ้าหญิง ภัทรลดา ฉัตรไชย
     ๗. หม่อมเจ้าชาย สุรฉัตร ฉัตรไชย
     ๘. หม่อมเจ้าหญิง เฟื่องฉัตร ฉัตรไชย
     ๙. หม่อมเจ้าหญิง หิรัญฉัตร ฉัตรไชย
     ๑๐. หม่อมเจ้าชาย ทิพยฉัตร ฉัตรไชย
     ๑๑. หม่อมเจ้าหญิง พิบูลฉัตร ฉัตรไชย
 

พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร เสด็จกลับประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗
ทรงเข้ารับราชการทหาร ในเหล่าทหารช่าง กรมยุทธนาธิการทหารบก
จนได้รับพระราชทานสัญญาบัตรองคมนตรีเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๙
ทรงดำรงตำแหน่ง จเรทหารช่าง พระองค์แรกในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ และดำรงตำแหน่งนี้
เป็นระยะเวลา ๑๗ ปี ทรงนำความรู้ในวิชาการทหารแผนใหม่ ตามแบบอย่างประเทศตะวันตก
มาปรับปรุงกิจการทหารช่าง จนได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้วางรากฐานกิจการกองทัพ
และทหารช่างแผนใหม่
ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ ๑ รักษาพระองค์

พระองค์เจ้าชายบุรฉัตรไชยากร นอกจากจะทรงรับราชการทหารแล้ว ยังทรงรับราชการ
สนองพระเดชพระคุณ และทรงวางฐานในกิจการด้านอื่นๆ เป็นต้นว่า การส่งวิทยุกระจายเสียง
การออมสิน การโรงแรม การสหกรณ์ การพาณิชย์ การท่องเที่ยว การโฆษณาและประชาสัมพันธ์
การบินทหารบก และการคมนาคมโดยเฉพาะกิจการรถไฟที่พระองค์ทรงริเริ่มขยายปรับปรุงให้มี
ความเจริญรุดหน้าทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ
อันเป็นผลให้พระองค์ได้รับเลื่อนพระอิสริยยศมาโดยลำดับ

     พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร มีพระนามเต็มว่า
“นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ประชาธิบดินทรเจษฎภาดา
ปิยมหาราชวงศ์วิศิษฏ์ อเนกยนตรวิจิตรกฤตยโกศล วิมลรัตนมหาโยธาธิบดีราชธุรันธรีมโหฬาร
พาณิชยการคมนาคม อุดมรัตนตรัยสรณธาดามัททวเมตตาชวาศรัย ฉัตร์ชัยดิลกบพิตร”

     พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน กับ กิจการรถไฟ 
พุทธศักราช ๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าให้
รวมกรมรถไฟสายเหนือกับสายใต้เข้าเป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า กรมรถไฟหลวง 
โดยให้ กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นผู้บัญชาการรถไฟอีกตำแหน่ง หนึ่ง
นอกเหนือจากหน้าที่ทางราชการทหารในระหว่างที่ทรงบังคับบัญชากิจการรถไฟนั้น
พระองค์ได้บริหารงานด้วยพระปรีชาสามารถทรงนำวิชาการสมัยใหมเข้ามาใช้
ก่อให้เกิดประโยชน์แก่กิจการรถไฟอย่างมาก จนได้รับการขนานพระนามว่า 
“พระบิดาแห่งกิจการรถไฟสมัยใหม่”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า เสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินี
เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟหลวงสายแรก ในพระราชอาณาจักรเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๔๓๙    

     เนื่องจากเมื่อพระองค์ท่านเสด็จมาเป็นผู้บัญชาการรถไฟใหม่ ๆ กิจการรถไฟ
มีคนไทยอยู่น้อยมากส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศมีชาวเยอรมัน อังกฤษ อิตาเลียน
และชาวเอเซียชาติต่างๆ เช่น ชาวอิเดีย ชาวซีลอน และชาวพม่า
พระองค์จึงทรงระดมคนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทหารช่าง กรมแผนที่
และคนไทยที่พูดภาษาอังกฤษได้ จากห้างร้านต่าง ๆ ให้เข้ามาทำงานรถไฟ
ทรงฝึกฝนคนไทยให้มีความสามารถในกิจการรถไฟด้วยการแนะนำสั่งสอนด้วย พระองค์เอง

     ในที่สุดพระองค์ท่านก็ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตส่งนักเรียนไทยไปศึกษาในต่างประเทศ
เพื่อศึกษาวิชาการรถไฟและการพาณิชย์ รุ่นแรก ๆ ได้ส่งไปสหรัฐอมริกา
เพราะในยุโรปเกิด สงครามโลกครั้งที่ ๑
ต่อมาจึงส่งไปยุโรป เพราะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า เมื่อนักเรียนเหล่านี้สำเร็จการศึกษาแล้ว
ได้กลับมารับราชการในกรมรถไฟหลวง ทำให้กิจการรถไฟเจริญก้านหน้ามาจนทุกวันนี้
พ.ศ.๒๔๗๑ นายพลเอก กรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงสั่งซื้อรถจักรดีเซลมีกำลัง ๑๘๐ แรงม้า
ส่งผ่านกำลังด้วยการกล จำนวน ๒ คัน เข้ามาใช้การเป็นรุ่นแรกในประเทศไทย
และเป็นรายแรกในทวีปเอเชีย โดยใช้เป็นรถจักรสำหรับสับเปลี่ยนและลากจูงขบวนรถท้องถิ่น
รอบกรุงเทพฯ รถจักรรุ่นนี้สร้างโดยบริษัทสวิสส์โลโคโมติฟ แอนด์ แมชินเวอร์ค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

เครื่องหมาย บุรฉัตร ภาพจาก Purachatra Jayakara – Wikipedia

     เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดรถจักรดีเซลขึ้นในเมืองไทย
รถจักรดีเซลทุกคันที่ใช้การอยู่ในการรถไฟฯ ขณะนี้จึงได้ประดับ เครื่องหมาย” บุรฉัตร “ 
อันเป็นพระนามของพระองค์ ติดที่ด้านข้างของรถจักรดีเซลทุกคันที่สั่งเข้ามา
เพื่อเป็นการรำลึก และ เทิดพระเกียรติแห่งพระองค์ท่านสืบไป

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ทรงถือน้ำพระพิพัฒนสัตยา
ตั้งเป็นองคมนตรี เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓
และดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ ๑ พระองค์แรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๔
วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๙ โปรดให้เลื่อนเป็น
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพ็ชร์อรรคโยธิน
วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๕ โปรดให้เลื่อนเป็น
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพ็ชร์อัครโยธิน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ยุบรวมกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงคมนาคม
จึงโปรดให้กรมหลวงกำแพงเพ็ชร์ฯ เข้ารับตำแหน่ง ผู้รั้งสนาบดีกระทรวงคมนาคมและพาณิชยการ
ตั้งแต่วันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ จนถึงวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๙
จึงทรงตั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม
และทำการในตำแหน่งผู้บัญชาการรถไฟหลวงแห่งกรุงสยามด้วย

ภาพล้อฝีพระหัตถ์

ต่อมาวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒ โปรดให้เลื่อนเป็น
พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ประชาธิบดินทรเจษฎภาดา ปิยมหาราชวงศ์วิศิษฎ์
อเนกยนตรวิจิตรกฤตยโกศล วิมลรัตนมหาโยธาธิบดี ราชธุรันธรีมโหฬาร พาณิชยการคมนาคม
อุดมรัตนตรัยสรณธาดา มัททวเมตตาชวาศรัย ฉัตรชัยดิลกบพิตร ทรงศักดินา ๑๕๐๐๐ 
และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นอภิรัฐมนตรีในวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ 
ทรงเป็นองคมนตรี ในสมัยรัชกาลที่ ๗ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๕

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงลาออกจากราชการ
และเสด็จไปประทับ ณ ประเทศสิงคโปร์ พร้อมกับครอบครัวเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖
ต่อมาทรงประชวรจนกระทั่งวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๙ จึงสิ้นพระชนม์
ที่โรงพยาบาลในประเทศสิงคโปร์ สิริพระชันษาได้ ๕๕ ปี พระชายาได้เชิญพระศพกลับกรุงเทพฯ
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล โปรดให้ประดิษฐานพระศพ
ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร 
แล้วประกอบการพระราชกุศลทักษิณานุปทานในวันที่ ๘-๙ ตุลาคม
มีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๐
ณ พระเมรุ วัดเทพศิรินทราวาส

ข้อมูลจาก
https://www.railway.co.th/AboutUs
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน – วิกิพีเดีย (wikipedia.org)

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Click to comment

You must be logged in to post a comment Login

Leave a Reply

Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: