Connect with us

Highlight

เปิดสถิติรัฐประหาร ไทย VS. พม่า

Published

on

ท่ามกลางเหตุการณ์บ้านเมืองที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยต่างออกมาเรียกร้องการปกครองแบบประชาธิปไตยในรูปแบบการชุมนุมทั้งของในประเทศไทยและประเทศพม่า ทีมข่าวโตโจ้นิวส์จะพามาย้อนรอยการเกิดรัฐประหารทั้งสองประเทศนี้ว่าครั้งแรกและครั้งล่าสุดเกิดขึ้นได้อย่างไรกัน

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ทำรัฐประหารสำเร็จมากที่สุดในโลกซึ่งมีเกิดขึ้นทั้งหมด 13 ครั้ง

รัฐประหารครั้งแรกของประเทศไทย

ครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นเมื่อ 1 เมษายน พ.ศ.2476 การรัฐประหารครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นปฐมบทของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองหลัง พ.ศ. 2475 โดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ( นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย ) เป็นผู้ทำการรัฐประหาร และได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา

จุดเริ่มต้นของการรัฐประหารครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความขัดแย้งของชนชั้นนำ ระหว่างกลุ่มพลังเก่า (ขุนนาง) และกลุ่มพลังใหม่ (คณะราษฎร) โดยกลุ่มพลังเก่าได้สร้างสถานการณ์ สร้างวาทกรรมที่ว่ารัฐสภาก่อความวุ่นวาย เพื่อดึงกลุ่มทหารเข้ามาทำให้เกิดความวุ่นวายในสภา หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ได้นำเหตุผลเหล่านี้มาแถลงต่อประชาชน และแทรกแซงตำแหน่งทางการเมืองในเวลาต่อมา

รัฐประหารครั้งล่าสุดของประเทศไทย

ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 จัดทำรัฐธรรมนูญชั่วคราว และนับว่าเป็นครั้งที่ 13 ของประวัติศาสตร์ไทย หลังพรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2554 และจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมามีการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ และทำให้เกิดการชุมนุมครั้งใหญ่เกิดขึ้นจากกลุ่ม กปปส. เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ต่อมาในเดือนธันวาคม น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่

แต่แล้วการเลือกตั้งครั้งใหม่ก็ยังดำเนินการไม่เรียบร้อย และเกิดการคัดค้านจากกลุ่ม กปปส. จนศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2557 เป็นโมฆะ และเกิดการรัฐประหารภายหลัง

หลายประเทศได้ประณามการทำรัฐประหารครั้งนี้ และมีการกดดันต่างๆ เช่น ลดกิจกรรมทางทหารและลดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งมีทั้งกลุ่มคนที่สนับสนุน และไม่สนับสนุน เพราะไม่เป็นไปตามวิถี ทางประชาธิปไตย

ประเทศพม่าเป็นประเทศที่ทำรัฐประหารสำเร็จทั้งหมด 3 ครั้ง

รัฐประหารครั้งแรกของประเทศพม่า

เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2505 เป็นจุดเริ่มต้นของการรัฐประหารในประเทศพม่า นำโดย นายพลเนวิน ซึ่งมีสถานะเป็นประมุขรัฐ ในฐานะประธานสภาปฏิวัติสหภาพ และเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับสภาปฏิวัติสังคมนิยม ซึ่งมีสมาชิก 24 คน และเป็นปกครองแบบรัฐประหารที่มีระยะเวลานานมากกว่า 26 ปี การเข้ารัฐประหารครั้งนี้ทำให้สาธารณารัฐระบบรัฐสภาถูกล้มเลิก และก่อตั้งระบอบสังคมนิยมทหาร การลงทุนของเอกชนที่ไม่ใช่ของพม่าถูกยึดเป็นของรัฐ บริษัทต่างชาติต่างถอนตัวออกจากการทำธุรกิจภายในประเทศ และผลของการปกครองแบบรัฐประหารของประเทศพม่าทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจหยุดชะงักกลายเป็นประเทศด้อยพัฒนาใน พ.ศ. 2530

รัฐประหารครั้งล่าสุดของประเทศพม่า

ครั้งนี้ถือว่าเป็นการทำรัฐประหารครั้งที่ 3 ในประเทศพม่า นำโดย พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ซึ่งเกิดจากการที่ทหารไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 โดยอ้างว่า การลงคะแนนไม่สุจริต หลังพรรคเอ็นแอลดี (NLD) ของนางอองซานซูจี ได้ที่นั่งในสภา 396 ที่จากทั้งหมด 476 ที่นั่ง นับว่าได้เสียงข้างมาก มากกว่าที่เคยชนะการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2558 อีกด้วย ส่วนอีกพรรคที่เป็นหุ่นเชิดของฝั่งทหารได้เพียง 33 ที่นั่ง และอองซานซูจี รวมถึงผู้นำคนอื่นๆของพรรคเอ็นแอลดี ถูกทหารพม่าควบคุมตัว และในเวลาต่อมากองทัพพม่าได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และแถลงว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย จะเข้ามาควบคุมประเทศเป็นเวลาหนึ่งปี

การเข้าแทรกแซงทางการเมืองครั้งนี้ทำให้โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามคำสั่งคว่ำบาตรผู้นำรัฐประหารประเทศพม่า มาตรการคว่ำบาตรครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่หญิงพม่ารายหนึ่ง ถูกยิงที่ศีรษะระหว่างการประท้วงต่อต้านการรัฐประหาร และอยู่ในอาการโคม่า และโจ ไบเดนยังย้ำอีกว่า “ทหารต้องสละอำนาจที่พวกเขายึดมาและแสดงความเคารพต่อเจตจำนงของประชาชนที่แสดงออกในการเลือก”

ข้อมูลจาก: 

https://bit.ly/30gEjBu

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/897979

https://news.thaipbs.or.th/content/292806

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2557

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%9E%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%B2_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2564

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%9E%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%B2_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2505

https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8/141925

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Click to comment

You must be logged in to post a comment Login

Leave a Reply

Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: