อุตตม แนะ รัฐบาลลำดับความสำคัญของงบลงทุนโครงการ ทั้งในเชิงผูกพันธ์กับไม่มีผูกพันธ์ ควบคู่กับการกู้ เพื่อกระชากเศรษฐกิจไทยที่ติดหล่ม
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นายอุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แกนนำและผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย ได้เสนอความเห็น ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ซึ่งได้รับผลกระทบจากความผันผวนของโลก วิกฤติยูเครน และ สถานการณ์โควิด19 ในงานเสวนา“THE BIG ISSUE 2022 ฝ่าไฟสงคราม รับมือวิกฤตเศรษฐกิจ”ว่า สถานการณ์ในปัจจุบัน นับเป็นวิกฤติที่ต่างไปจากอดีต เพราะ เป็นวิกฤติเชิงซ้อน จากโควิด-19 ลากยาวมา3 ปี ทำให้เศรษฐกิจไทยเปราะบาง อีกทั้งล่าสุดยังมาเผชิญกับสงครามยูเครน กระทบซ้ำ ทำให้แนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยยุ่งยากมากขึ้น
หากถามว่า วันนี้รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจกู้เงิน เพื่อนำมาใช้แก้วิกฤติหรือไม่นั้น ส่วนตัว มองว่า ความเหมาะสม อยู่ที่จุดประสงค์ของการกู้ หากตอบคำถามประชาชนได้ ว่าเงินดังกล่าวจะถูกนำมาใช้อย่างไรได้ ก็ไม่ใช่ปัญหา หรือ เป็นเรื่องติดขัดที่ทำไม่ได้
” วันนี้สิ่งที่รัฐต้องเร่งดำเนินการ คือ เยียวยาเศรษฐกิจ และ กำหนดยุทธศาสตร์การเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต ไม่มีเวลามารอดูสถานการณ์ เพราะเดิมทีไม่มีวิกฤติสงคราม
เศรษฐกิจไทยก็น่าห่วงอยู่ก่อนแล้ว จากโควิดที่มองไม่เห็นจุดสิ้นสุด อย่างไรก็ตาม น่าจะมีทางออก ส่วนถามว่าถึงเวลาที่รัฐบาลต้องกู้เพิ่มหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ กู้มาทำอะไร เพื่อชี้แจงกับประชาชน ผมเห็นตรงกับอดีตรัฐมนตรีการคลังหลายท่าน ว่ายังมีช่องว่างทำได้ “
นายอุตตม ยังระบุว่า เมื่อกล่าวถึง การกู้เงินใหม่ของรัฐบาล สิ่งที่ต้องพิจารณาก่อนจะไปถึงแนวทางการกู้ วันนี้รัฐบาลหากระสุนเพิ่มในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแล้วหรือยัง เพราะอีกช่องทางทำได้ คือ การพิจารณางบประมาณเสียใหม่ ทั้ง ปี 2565 ที่ถูกเบิกจ่ายแล้ว และส่วนของงบประมาณปี 2566 ที่กำลังจะพิจารณาอยู่ โดยรัฐบาลควรเร่งทบทวนใหม่ เพื่อปรับเกลี่ย เขย่าใหม่ ให้เหมาะสม โดยเฉพาะให้เพียงพอต่อภาคการจ่ายใช้ การลงทุนอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ เช่น ลำดับความสำคัญของงบลงทุนโครงการ ทั้งในเชิงผูกพันธ์กับไม่มีผูกพันธ์ ควบคู่กับการกู้ เพื่อกระชากเศรษฐกิจไทยที่ติดหล่ม
” เวลาเป็นวิกฤติ ต้องแก้ปัญหาแบบวิกฤติ วันนี้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยเป็นแบบนั้น รัฐบาลต้องคิดว่าอะไร จะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดของประเทศ เพื่อให้ได้เงิน และจะได้รู้ถึงเงินที่จะกู้อีกเท่าไหร่ หน้าตักมีเท่าไหร่ พยายามใช้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเสียก่อน “