Connect with us

Politics

วิกฤตวันนี้คล้าย “ต้มยำกุ้ง” แล้ว​!! “สนธิรัตน์” ย้ำ! นาทีนี้​ ต้องสมคิด​ เท่านั้น!!

Published

on

“สนธิรัตน์” จ่อดึง 2 แสนองค์กรชุมชนมีส่วนร่วม ชี้! วิกฤตวันนี้คล้าย “ต้มยำกุ้ง” ย้ำ “สมคิด” เหมาะสมนั่งนายกฯ​แก้วิกฤต

ผู้​สื่อข่าว​โต​โจ้​นิว​ส์ราย​งานว่า​ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย ในฐานะอดีตประธานกรรมการบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสัมมาชีพ ขึ้นปาฐกถาปิดหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (Leadership for Change : LFC) รุ่นที่ 12 ที่จัดโดยมูลนิธิสัมมาชีพ ในหัวข้อ “LFC กับเครือข่ายที่เข้มแข็ง สังคม ชุมชนและอนาคตประเทศ” โดยกล่าวช่วงหนึ่งว่า สัมมาชีพ คือ การประกอบอาชีพโดยสุจริต โดยมีเป้าหมายให้ชุมชนมีรายรับมากกว่ารายจ่าย อย่างไรก็ตามสังคมไทยยังไม่มีสัมมาชีพ เพราะประชาชนยังเป็นหนี้ ที่เป็นผลมาจากโลกของวัตถุนิยม ที่สร้างความอ่อนแอให้คนข้างล่างอยากมีเหมือนคนข้างบน เป็นเหตุให้ตนตัดสินใจเข้าสู่การเมือง เพื่อหวังใช้หลักคิดของสัมมาชีพสร้างการเชื่อมโยงให้ประชาชนได้พ้นจากการเป็นหนี้

“ผมเข้ามาการเมือง และมาถึงทุกวันนี้ได้เพราะมูลนิธิสัมมาชีพ คนที่จะเป็นตัวเปลี่ยนประเทศไทย ต้องถอยและก้าวออกไปคิด วันนี้สัมมาชีพถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เพราะคุณหมอประเวศ (นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิสัมมาชีพกิตติมศักดิ์) ได้วางเรื่องยิ่งใหญ่ไว้ วาง 8 มิติวางแผนบริหารและสังคม นี่คือ การตกผลึกครั้งสุดท้ายของคุณหมอประเวศ” นายสนธิรัตน์ กล่าว

นายสนธิรัตน์ กล่าวขยายความด้วยว่า 8 มิติที่จะเป็นจุดเปลี่ยนประเทศ ที่ นพ.ประเวศ ผลักดันมาตลอดโดยใช้สัมมาชีพเป็นตัวขับเคลื่อนมาโดยตลอด และได้ฝากความหวังไว้ ซึ่งตนจะรับภาระที่จะขับเคลื่อนต่อไป คือ เศรษฐกิจ, จิตใจ, สังคม, สิ่งแวดล้อม, วัฒนธรรม, การศึกษา, สุขภาพ และประชาธิปไตย ซึ่งจากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง รวมถึงวิกฤตหลายครั้ง ทำให้มรดกที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคม มีสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนา และเพื่อการพัฒนาทางสังคมเกิดขึ้นจากแนวคิดของ นพ.ประเวศ มากมาย โดยเฉพาะจุดเปลี่ยนใหญ่หลังวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 มีองค์กรตระกูล ส.ที่เป็นที่มาจากสมัชชาสาธารณสุขแห่งชาติ (สช.) เช่น สำนักงานหลักประสุขภาพถ้วนหน้าแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) รวมถึงองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส ที่มีส่วนร่วมเพื่อความหวังของอนาคต

เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย กล่าวย้อนไปด้วยว่า จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของประเทศไทยอยู่ที่ปี 2540 ที่เมื่อเกิดการพัฒนาถึงสุดโต่งจึงเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งคล้ายกับครั้งนี้ที่เจอวิกฤตโควิดแล้วประเทศพังอีกครั้ง ตนกำลังศึกษาสิ่งเหล่านี้ เพราะประเทศไทยตอนนี้คล้ายปี 2540 โดยเฉพาะการจัดการหนี้ทั้งประเทศที่เป็นศัตรูของสัมมาชีพ ซึ่งประเทศไทยมีสิ่งที่ดีจากองค์การต่างๆเหล่านี้ ตนได้รวบรวมองค์กรเพื่อสังคมทั่วประเทศและประสานองค์กรเหล่านี้รวม 2 แสนองค์กร ประกอบด้วย กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 8 หมื่นแห่ง รวมถึงกองทุนสวัสดิการชุมชน ซึ่งการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนจะทำให้ประเทศไทยสู้กับประเทศอื่นได้

นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า การสร้างความเข้มแข็งของประเทศจะต้องสร้างความเข้มแข็งจากชุมชน โดยการเมือง และราชการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนไม่ได้ เพราะทำได้เฉพาะการกำกับดูแลและการสร้างแรงจูงใจ ซึ่งไม่มีการสร้างความสำเร็จของชุมชนสำเร็จจากภาคราชการ ในขณะที่ภาคเอกชนมีข้อจำกัดในการลงไปช่วยเหลือชุมชน ในขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มาจากการเลือกตั้งทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล ซึ่งมีการเลือกตั้งที่ใช้เงินมากที่สุดเลือกผู้มีอำนาจมาเป็นผู้บริหาร อปท.มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งสะท้อนว่าท้องถิ่นอยู่ภายใต้อำนาจทุนมากที่สุด

“พวกผมจะทำหน้าที่ดีที่สุดในด้านทางการเมือง จะได้ 5-10 เสียงไม่ใช่เรื่องน่ากังวลใจ แต่ขอปักหมุดทางการเมืองไว้เพื่อสร้างสมดุลทางการเมือง พวกผมลำบาก เพราะไม่มีทุนแบบเขา ไม่ได้ทำการเมืองแบบเขา แต่ทำการเมืองด้วยปัญญา จะทำการเมืองที่สร้างสมานฉันท์ในประเทศ” นายสนธิรัตน์ กล่าว

นายสนธิรัตน์ ยังได้กล่าวถึง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้ร่วมปาฐกถาพิเศษเสนอแนวคิดการขับเคลื่อนประเทศในงานเดียวกันด้วยว่า เมื่อฟังแนวคิดนายสมคิดแล้ว ก็ยิ่งมั่นใจว่า นายสมคิด จะต้องมาเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็เป็นเจ้านายเก่า แต่การเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมือง ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา วันนี้สถานการณ์ประเทศไทยแย่มาก หากผู้บริหารประเทศไม่เท่าทันกับวิกฤตนี้ กำลังเข้าสู่มุมอับแล้ว ไม่มีใครได้ผลที่ดี

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: