Connect with us

Politics

น่าห่วง!! วิกฤตโรงเรียนขนาดเล็ก ปัญหาเรื้อรังการศึกษาไทย แต่ทำไมรัฐบาลจัดงบเหมือนไม่มีวิกฤต?

Published

on

วิโรจน์ ชี้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ปัจจุบันมีมากถึง 14,996 แห่ง และอีกประมาณ 7,000 แห่ง กำลังจะเป็นขนาดเล็ก ที่ขาดงบ ขาดการบำรุงรักษาจนส่งผลต่อความปลอดภัยและสวัสดิภาพของนักเรียน

ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า เพจพรรคก้าวไกล ระบุว่า ‘วิกฤตโรงเรียนขนาดเล็ก’ ปัญหาเรื้อรังการศึกษาไทย แต่ทำไมรัฐบาลจัดงบเหมือนไม่มีวิกฤต?

ในการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วันสุดท้าย Wiroj Lakkhanaadisorn – วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายงบด้านการศึกษา โดยเน้นที่ประเด็นปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก

วิโรจน์กล่าวว่า ผลการทดสอบ PISA 2022 ที่เพิ่งประกาศออกมา ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มรั้งท้ายเช่นเดิม ได้คะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี ทั้งทักษะการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ แถมพอมาดูที่แนวโน้ม ก็พบว่ามีแนวโน้มตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง แบบโงหัวไม่ขึ้น



ผลต่างคะแนนระหว่างประเทศไทยกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว พบว่าประเทศไทยถูกทิ้งห่างออกไปเรื่อยๆ สะท้อนถึงความล้มเหลว ล้าหลัง และนี่คือวิกฤตของระบบการศึกษาไทย

แต่พอฟังคำสัมภาษณ์ของ รมว.ศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2566 พูดว่า “คงไม่เทียบมาตรฐานกับประเทศอื่นดีกว่าครับ ของเราเป็นตัวของเราเอง…” ยิ่งเป็นปัญหา และสะท้อนถึงปัญหาในการจัดงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ

เพราะ PISA ไม่ใช่คะแนนสอบไม่ใช่การประกวดประชัน แต่เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพของการพัฒนาคน
ซึ่งสะท้อนถึงขีดความสามารถของประเทศไทยในอนาคต

“การศึกษาไทยไม่ใช่เดินตามหลัง แต่เรากำลังเดินหลงทาง”

“เดินตามหลังนั้นยังดี มองไปข้างหน้ายังเจอผู้คน อาจจะไปถึงช้ากว่าเพื่อน แต่ก็ยังไปถึง แต่ที่ รมว.ศึกษาธิการ บอกว่า ‘ของเราเป็นตัวของเราเอง’ นั้น มองไปข้างหน้าก็ไม่เจอใคร มองไปข้างหลังก็ไม่เจอคน มองซ้ายมองขวาเจอแต่ความว่างเปล่า นี่คือเรากำลังหลงทาง ยิ่งเดินต่อไป ยิ่งเข้ารกเข้าพง”

“เรากำลังอยู่ในยุคที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชื่อ ‘เพิ่มพูน’ แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามีแต่ถดถอย”

อีกปัญหาหนึ่งที่เป็นปัญหาเรื้อรังและเป็นวิกฤติสำคัญของการศึกษาไทย มีผลการศึกษาจากธนาคารโลกออกมายืนยันแล้ว แต่ไม่เคยได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเสียทีคือ ‘ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก’ ซึ่งคือโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คน



โดยตามข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระบุว่าปีการศึกษา 2566 มีจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กทั้งสิ้น 14,996 แห่ง จากโรงเรียนทั้งหมด 29,312 แห่ง คิดเป็น 51.2% แสดงว่าปัจจุบันโรงเรียนขนาดเล็กนั้นทะลุเกินกว่าครึ่งหนึ่งไปแล้ว และยังมีโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 121-200 คน อยู่อีกประมาณ 7,000 แห่ง ที่กำลังจะกลายเป็นโรงเรียนขนาดเล็กในอนาคตอันใกล้ จากอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

โรงเรียนขนาดเล็กได้รับงบประมาณน้อยกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ แม้ว่าจะมีการเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวให้กับนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กก็ตาม แต่เมื่อกระทรวงศึกษาธิการจัดสรรงบโดยคิดจากรายหัวนักเรียนเป็นหลัก หัวละ 500 บาทต่อคนต่อปี ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กประสบกับปัญหางบประมาณไม่เพียงพอ ขาดแคลนสื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอนที่มีคุณภาพ อาคารสถานที่ ตลอดจนสาธารณูปโภคต่างๆ ขาดการบำรุงรักษาจนส่งผลต่อความปลอดภัยและสวัสดิภาพของนักเรียน

นอกจากนี้ ในการจัดสรรอัตรากำลังครูผู้สอน สพฐ. ยังใช้หลักเกณฑ์สัดส่วนครูต่อจำนวนนักเรียน ยิ่งจำนวนนักเรียนมีน้อยครูก็ยิ่งมีน้อยตาม บางโรงเรียนมีปัญหาครูไม่ครบชั้น ครูหนึ่งคนต้องสอนหลายชั้นหลายวิชา ทำให้ยากต่อการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ ประกอบกับหลักสูตรการเรียนการสอนของประเทศไทยกำหนดให้นักเรียนต้องเรียนหลายวิชา ทั้งมีการบ้านและการสอบที่มากเกินไป

ที่ผ่านมาจนถึงปีงบประมาณปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการไม่เคยคิดที่จะแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กอย่างจริงจัง การควบรวมโรงเรียนที่ผ่านมาไม่เคยประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย แถมยังมีแนวโน้มควบรวมได้น้อยลงเรื่อยๆ

ถ้าจะแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง งบประมาณเพียงปีละ 2 ร้อยกว่าล้านบาทย่อมแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่เป็นปัญหาระดับวิกฤตไม่ได้ การจัดสรรงบประมาณเพียงเท่านี้ ก็สะท้อนได้ว่ารัฐบาลไม่ได้มองปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กว่าเป็นปัญหาระดับวิกฤตเลย

นอกจากจะควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กไม่ได้ตามเป้าหมายแล้ว การควบรวมโรงเรียนอย่างไร้ยุทธศาสตร์ที่ผ่านมาของกระทรวงศึกษาธิการยังก่อให้เกิดปัญหาข้อพิพาทกับชุมชนอย่างรุนแรง

ส่วนเงินชดเชยค่าพาหนะในการเดินทางไป-กลับบ้านและโรงเรียน ก็จ่ายในอัตราที่ถูกอย่างไม่สมเหตุสมผล กระทรวงศึกษาธิการรู้อยู่แก่ใจว่าทางออกของเรื่องนี้ไม่ใช่การจ่ายชดเชยค่าพาหนะ แต่ต้องเป็นการจัดรถโรงเรียนเพื่อให้เด็กทุกคนในจังหวัดสามารถเดินทางไปเรียนที่โรงเรียนที่ตอบโจทย์ศักยภาพของตัวเองและอยู่ไม่ไกลจากบ้านมากนักได้

และสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วย ก็คือการถ่ายโอนโรงเรียนที่ถูกควบรวมให้กับท้องถิ่น พร้อมงบอุดหนุนเฉพาะกิจ เช่น แห่งละ 1 ล้านบาท เพื่อให้ท้องถิ่นนำงบส่วนนี้ไปใช้ปรับปรุงอาคารสถานที่ และนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่นที่เกิดประโยชน์กับชุมชน

มีการศึกษาว่าโรงเรียนขนาดเล็กมีต้นทุนในการบริหารจัดการสูงกว่าโรงเรียนขนาดกลางอยู่ 13,600 บาทต่อคนต่อปี ดังนั้นหากแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนรวมกัน 954,756 คน ก็จะทำให้ประหยัดงบประมาณได้ถึงปีละ 12,985 ล้านบาท เมื่อรวมกับการปรับลดงบดำเนินงานและงบรายจ่ายอื่นจากโครงการที่มีภารกิจซ้ำซ้อนแล้ว กระทรวงศึกษาธิการจะมีงบประมาณที่นำไปจัดสรรใหม่ได้ถึงปีละ 15,102 ล้านบาท

โดยงบประมาณกว่า 1.5 หมื่นล้านบาทนี้ สามารถจัดสรรเป็นงบอุดหนุนเฉพาะกิจ 4,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อสนับสนุนให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. นำไปใช้บริหารจัดการรถโรงเรียนภายในจังหวัด และให้เด็กทุกคนสามารถขึ้นรถโรงเรียน ไป-กลับโรงเรียนได้อีก 6,600 ล้านบาทต่อปี นำไปจัดสรรงบประมาณเพิ่มให้กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ให้เด็กยากจนพิเศษ 1.3 ล้านคน ได้รับทุนเสมอภาคเพิ่มจาก 3,000 เป็น 4,200 บาทต่อคนต่อปีทันที และยังเหลืองบประมาณอีก 4,502 ล้านบาท ที่สามารถนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาอื่นๆ ได้อีก

“ที่ผ่านมารัฐบาลบอกกับประชาชนอยู่ตลอดว่าประเทศกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ แต่เหตุใดจัดงบประมาณออกมาเป็นรูทีน (Routine) แบบนี้”

“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะนำเอาสิ่งเหล่านี้ไปปรับลดงบประมาณ และให้รัฐบาลนำเอางบประมาณที่ปรับลดได้ไปปรับปรุงงบประมาณมาเสียใหม่ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติทางการศึกษา ไม่ใช่งบประมาณเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ประจำวันแบบนี้”

#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: