Connect with us

News

จับตา…จากนี้! ยอดติด โอมิครอน พุ่ง 3 หมื่นคนต่อวัน !!

Published

on

สธ.ยอมรับ เชื้อโอมิครอนในประเทศ คาดจะมีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 30,000 รายต่อวัน เสียชีวิต 170-180 รายต่อวัน โดยจะใช้ระยะเวลาในการควบคุมสถานการณ์ 3-4 เดือน

ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในภาพรวมมีจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยัน ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิต ลดลง ขณะที่พบผู้ติดเชื้อจากโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้น เป็นผู้เดินทางมาจากประเทศแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา แอฟริกา และตะวันออกกลาง ดังนั้น ภาพรวมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไทย จึงเดินมาถึงทางแยกอีกครั้ง เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งมีศักยภาพในการแพร่ระบาดสูง
โดยสามารถแบ่งฉากทัศน์ของการคาดการณ์มาตรการป้องกันควบคุมโรค ไตรมาส 1/65 ออกเป็น 3 กรณี ดังนี้

  1. Least Favourable
    • อัตราการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้นจากการระบาดโอมิครอนในประเทศ โดยคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 30,000 รายต่อวัน เสียชีวิต 170-180 รายต่อวัน โดยจะใช้ระยะเวลาในการควบคุมสถานการณ์ 3-4 เดือน
    • สามารถฉีดวัคซีนได้ใกล้เคียงกับช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 64 หรือเฉลี่ย 2-3 ล้านโดสต่อสัปดาห์
    • ประชาชนให้ความร่วมมือ Universal Prevention (UP) น้อย ไม่มีการป้องกันขณะทำกิจกรรมที่รวมคนจำนวนมาก และสถานประกอบการจัดกิจกรรมแต่ไม่สามารถปฏิบัติตาม VUCA ได้
  2. Possible
    • อัตราการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้นจากการระบาดโอมิครอนในประเทศ โดยคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 15,000-16,000 รายต่อวัน เสียชีวิต 80-100 รายต่อวัน
    • สามารถฉีดวัคซีนได้ใกล้เคียงกับช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 64 หรือเฉลี่ย 2-3 ล้านโดสต่อสัปดาห์
    • ประชาชนยังให้ความร่วมมือ UP สถานประกอบการจัดกิจกรรมปฏิบัติตาม VUCA ดี
  3. Most Favourable
    • อัตราการแพร่เชื้อโอมิครอนไม่สูงมากนัก เนื่องจากยังควบคุมการระบาดในประเทศได้ช่วงเดือน ม.ค. 65 โดยคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 10,000 รายต่อวัน เสียชีวิต 40-60 รายต่อวัน โดยใช้ระยะเวลาในการควบคุมสถานการณ์ 1-2 เดือน
    • เร่งฉีดวัคซีนในทุกกลุ่มได้สูงขึ้น ทั้งเข็ม 1, 2 และเข็มบูสเตอร์ มากกว่า 4 ล้านโดสต่อสัปดาห์
    • ประชาชนให้ความร่วมมือ UP เต็มที่ ลดกิจกรรมที่รวมกลุ่มคนจำนวนมาก สถานประกอบการจัดกิจกรรมปฏิบัติตาม VUCA อย่างเคร่งครัด และผับ บาร์เปิด แต่มีการควบคุมได้ดีมาก
    “กระทรวงสาธารณสุขปรึกษาหารือกันแล้วว่า อยากให้สถานการณ์ในประเทศเป็นฉากทัศน์ที่ 3 โดยที่ผ่านมา เราสามารถควบคุมอยู่ในระดับที่น่าพอใจตลอดมา ประชาชนต้องร่วมมือกัน เพื่อไม่ให้เกิดการล็อกดาวน์ประเทศ” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุ
    สำหรับจำนวนเตียงปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 1 แสนเตียง ซึ่งขณะนี้ใช้ไปเพียง 13.7% จึงยังมีเพียงพอรองรับในกรณีที่มีการแพร่ระบาดจำนวนมากขึ้น ส่วนสถานการณ์ยาฟาวิพิราเวียร์ คงเหลือ 15,692,580 เม็ด และยาเรมเดซิเวียร์คงเหลือ 44,064 เม็ด
    “หากทุกภาคส่วนช่วยกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด สถานการณ์โควิดหลังปีใหม่ตามการคาดการณ์อาจพบติดเชื้อและเสียชีวิตไม่เพิ่มสูงมากช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. 65 แต่คาดว่าการติดเชื้อโอมิครอนจะพบผู้ป่วยอาการหนักน้อยกว่าเดลตา ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ หรือมีอาการคล้ายไข้หวัด แต่ถึงแม้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มก็สามารถติดได้ จึงขอให้ประชาชนรีบมารับวัคซีนเข็ม 3 เพื่อป้องกันโอมิครอน” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
    ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยถึงอาการของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนว่า ข้อมูลเบื้องต้นจากต่างประเทศ (วันที่ 27 ธ.ค. 64) คือ อาการไม่แตกต่างจากอาการของโควิดสายพันธุ์อื่นๆ มากนัก ส่วนใหญ่มีอาการของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ไข้ เจ็บคอ ไอแห้ง โดยพบบางรายมีอาการปอดอักเสบ แต่ไม่มาก ซึ่งจะให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ หลังมีอาการภายใน 3 วัน ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น และหายเป็นปกติ
    สำหรับประเทศไทยหลังตรวจพบ 100 รายแรกที่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน พบว่า ไม่มีอาการ 48% มีอาการ 41% และอยู่ระหว่างติดตามข้อมูลอีก 11% ทั้งนี้ ยังไม่มีผู้ป่วยรายใดต้องใส่ท่อช่วยหายใจ โดยพบเพียง 7 รายที่มีอาการปอดอักเสบ
    ส่วนการเตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาล ในการเตรียมเตียงรองรับผู้ป่วย แบ่งระดับเตียงใหม่ตามความรุนแรงของโรค เพื่อการบริหารจัดการที่เหมาะสม โดยสามารถแบ่งได้ ดังนี้
    • เตียงระดับ 0 ระบบ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI)
    • เตียงระดับ 1 ไม่ใช้ออกซิเจน
    • เตียงระดับ 2 แบ่งเป็นใช้ oxygen low flow และใช้ oxygen high flow
    • เตียงระดับ 3 ใส่ท่อ และเครื่องช่วยหายใจ
    “จากฉากทัศน์กรณีที่การแพร่ระบาดอยู่ในจุดที่แย่ที่สุด มีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ประมาณ 30,000 รายต่อวัน ซึ่งขณะนี้มีเตียงรองรับผู้ป่วยอยู่ที่ 52,300 คนต่อวัน จึงถือว่ายังเพียงพอ” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
    ในส่วนของการเตรียมความพร้อมรองรับผู้ป่วย ระบบ HI ให้สถานพยาบาลโทรกลับหาผู้ป่วยให้เร็วขึ้น เป็นภายใน 6 ชั่วโมง หลังทราบผลติดเชื้อ เตรียมพร้อมอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ เทอร์โมมิเตอร์ ส่วนระบบ CI จะมีแนวทางเวชปฎิบัติการดูแลรักษาโควิด-19 ที่ปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง มีการจัดหายาต้านไวรัสโควิด-19 ใหม่ๆ และให้การรักษาตามอาการ
    สำหรับการเตรียมความพร้อมรักษาผู้ป่วยเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้มีการเตรียมยาน้ำฟาวิพิราเวียร์ การสนับสนุนยาในระยะแรก และให้ความรู้การดูแลผู้ป่วยเด็กกับเครือข่าย HI และ CI พร้อมประสานการจัดเตรียมเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา เช่น หน้ากากอนามัยสำหรับเด็ก และจัดเตรียมเตียงระดับ 3 สำหรับผู้ป่วยเด็กที่มีอาการรุนแรง
    “วันนี้ได้มีข้อสั่งการจากศูนย์ปฎิบัติการฉุกเฉิน สธ. กระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้พื้นที่ดำเนินการเตรียมความพร้อม HI และ CI ทุกโรงพยาบาล อัปเดตจำนวนเตียงระดับ 2 และ 3 ทุกอาทิตย์ และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เตรียมปรับเกณฑ์ Hospitel โดยจะเสนอเข้า ครม. พรุ่งนี้ และการดูแลรักษาแรงงานต่างด้าวใน Factory Isolation” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
    นอกจากนี้ นพ.สมศักดิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ประเทศฝรั่งเศสยกเลิกการจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ว่า ได้มีการสอบถามไปยังบริษัท ซึ่งบริษัทระบุว่ายังไม่มีการยกเลิกคำสั่งซื้อแต่อย่างใด ในขณะเดียวกันประเทศอังกฤษและญี่ปุ่นก็มีการสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี สถานการณ์ความรู้เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการเจรจาขอดูข้อมูลของประเทศที่มีการสั่งซื้อยาจากบริษัท

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Click to comment

You must be logged in to post a comment Login

Leave a Reply

Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: