Connect with us

News

จับตา! หลักสูตรฐานสมรรถนะ ซิกแซ็กเสียบแทน Active Learning ที่ “วิษณุ” เพิ่งประกาศใช้ไม่นาน

Published

on

“วิษณุ” พูดชัด! ราชกิจจาฯ ให้ปรับการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐาน ไม่ใช่ตีความให้เปลี่ยนใช้ หลักสูตรฐานสมรรถนะ หลัง “วิษณุ” เพิ่งเปิดใช้กระบวนการเรียนรู้แบบ Active learning

หลังจากที่ ศ.เกียรติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ได้นำทัพประกาศนโยบาย “เดินหน้าพลิกโฉมสร้างนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียน ก้าวข้ามสภาวะวิกฤต COVID-19 แบบ Active Learning ด้วยระบบการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps” เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา โดยมี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ และผู้บริหารองค์กรหลักของศธ. เข้าร่วม ซึ่งผ่านไปเพียง 3 วัน น.ส.ตรีนุช ก็ประกาศเดินหน้าใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ผ่านช่องทาง OBEC Chanel ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยใช้เวทีระดมสมอง เพื่อการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นฐาน เสวนา ครั้งที่ 1 หัวข้อ “ปรับหลักสูตรการศึกษาอย่างไร ให้ตอบโจทย์สังคมไทยในสังคมโลก”

โดย น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ ตนได้แถลง 12 นโยบายการจัดการศึกษา และ 7 วาระเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งนโยบายการจัดการศึกษาข้อที่ 1 คือ การปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกระดับให้มีความรู้ ทักษะและลักษณะที่เหมาะสมกับสังคมไทย และวาระเร่งด่วนที่ 2 คือการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะที่มุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายโดยยึดความสามารถของผู้เรียนเป็นหลัก และพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะที่ต้องการ

ด้าน ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า หลักสูตรดังกล่าวเป็นนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ เป็นสิ่งที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ และกำหนดในยุทธศาสตร์ชาติที่สังคมไทยในปัจจุบันต้องการสร้างเด็กไทยให้มีคุณลักษณะที่ตอบโจทย์หรือความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นคนไทยที่มีสมรรถนะสูง ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องปรับหลักสูตรเพื่อพัฒนาหรือสร้างเด็กให้เป็นคนไทยที่มีคุณลักษณะที่ต้องการ โดยขณะนี้หลายฝ่ายมีความคาดหวังที่จะเห็นหลักสูตรเกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะหากช้าไปกว่านี้จะทำให้โอกาสของคนไทยช้าไปด้วย

ส่วน ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะกรรมการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไล่ทามไลน์ยาว ว่า เมื่อปี 2562 ต่อ 2563 คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.)โดย รศ.ดร.ทิศนา แขมณี ได้นำเสนอการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ จากนั้น วันที่ 7 มกราคม 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ประกาศใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในปีการศึกษา 2565 โดยนำร่องในพื้นที่นวัตกรรม 6 จังหวัด และในเดือนตุลาคม 2563 นายณัฏฐพล ได้ขอทบทวนแนวทางการจัดทำหลักสูตรเนื่องจากยังมีผู้ไม่เข้าใจบางประการทำให้การจัดทำหลักสูตรชะงักไป

กระทั่งวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาได้ประกาศแผนการปฏิรูปฉบับปรับปรุงในราชกิจจานุเบกษา และได้ประกาศว่ามีกิจกรรมปฏิรูปประเทศ 5 ด้าน ที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งก็หมายความว่าเรื่องนี้มาจากรัฐธรรมนูญ และอยู่ในแผนปฏิรูปประเทศด้วยถือว่าเป็นกฎหมาย ดังนั้นในต้นเดือนตุลาคมนี้จะขอให้ น.ส.ตรีนุช เคาะเปิดหลักสูตรไปนำร่อง และภายในเดือนพฤศจิกายนจะพร้อมให้ ลงนามการใช้หลักสูตรในเดือนพฤษภาคมปีหน้า

แต่ความจริง คือคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ฉบับปรับปรุง) ด้านการศึกษาซึ่งมีนัยสำคัญคือ “ให้ปรับการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based Curriculum) ในปัจจุบัน ไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียน (Competency-based Learning) เป็นสำคัญ ทั้งนี้การเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะแบบผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง มุ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้แบบถักทอความรู้ ทักษะและคุณลักษณะผู้เรียนเข้าด้วยกันด้วยการลงมือการปฏิบัติจริง (Active Learning) มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจและเรียนรู้อย่างมีความสุขและพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์”

ซึ่งตรงกับคำพูดที่ ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม กล่าวไว้ในวันเปิดงานพลิกโฉมสร้างนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียน ก้าวข้ามสภาวะวิกฤต COVID-19 แบบ Active Learning ด้วยระบบการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps” เมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงการปรับหลักสูตรฐานสมรรถนะเลย

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Click to comment

You must be logged in to post a comment Login

Leave a Reply

Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: