“วิษณุ” พูดชัด! ราชกิจจาฯ ให้ปรับการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐาน ไม่ใช่ตีความให้เปลี่ยนใช้ หลักสูตรฐานสมรรถนะ หลัง “วิษณุ” เพิ่งเปิดใช้กระบวนการเรียนรู้แบบ Active learning
หลังจากที่ ศ.เกียรติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ได้นำทัพประกาศนโยบาย “เดินหน้าพลิกโฉมสร้างนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียน ก้าวข้ามสภาวะวิกฤต COVID-19 แบบ Active Learning ด้วยระบบการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps” เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา โดยมี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ และผู้บริหารองค์กรหลักของศธ. เข้าร่วม ซึ่งผ่านไปเพียง 3 วัน น.ส.ตรีนุช ก็ประกาศเดินหน้าใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ผ่านช่องทาง OBEC Chanel ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยใช้เวทีระดมสมอง เพื่อการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นฐาน เสวนา ครั้งที่ 1 หัวข้อ “ปรับหลักสูตรการศึกษาอย่างไร ให้ตอบโจทย์สังคมไทยในสังคมโลก”
โดย น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ ตนได้แถลง 12 นโยบายการจัดการศึกษา และ 7 วาระเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งนโยบายการจัดการศึกษาข้อที่ 1 คือ การปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกระดับให้มีความรู้ ทักษะและลักษณะที่เหมาะสมกับสังคมไทย และวาระเร่งด่วนที่ 2 คือการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะที่มุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายโดยยึดความสามารถของผู้เรียนเป็นหลัก และพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะที่ต้องการ
ด้าน ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า หลักสูตรดังกล่าวเป็นนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ เป็นสิ่งที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ และกำหนดในยุทธศาสตร์ชาติที่สังคมไทยในปัจจุบันต้องการสร้างเด็กไทยให้มีคุณลักษณะที่ตอบโจทย์หรือความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นคนไทยที่มีสมรรถนะสูง ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องปรับหลักสูตรเพื่อพัฒนาหรือสร้างเด็กให้เป็นคนไทยที่มีคุณลักษณะที่ต้องการ โดยขณะนี้หลายฝ่ายมีความคาดหวังที่จะเห็นหลักสูตรเกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะหากช้าไปกว่านี้จะทำให้โอกาสของคนไทยช้าไปด้วย
ส่วน ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะกรรมการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไล่ทามไลน์ยาว ว่า เมื่อปี 2562 ต่อ 2563 คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.)โดย รศ.ดร.ทิศนา แขมณี ได้นำเสนอการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ จากนั้น วันที่ 7 มกราคม 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ประกาศใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในปีการศึกษา 2565 โดยนำร่องในพื้นที่นวัตกรรม 6 จังหวัด และในเดือนตุลาคม 2563 นายณัฏฐพล ได้ขอทบทวนแนวทางการจัดทำหลักสูตรเนื่องจากยังมีผู้ไม่เข้าใจบางประการทำให้การจัดทำหลักสูตรชะงักไป
กระทั่งวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาได้ประกาศแผนการปฏิรูปฉบับปรับปรุงในราชกิจจานุเบกษา และได้ประกาศว่ามีกิจกรรมปฏิรูปประเทศ 5 ด้าน ที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งก็หมายความว่าเรื่องนี้มาจากรัฐธรรมนูญ และอยู่ในแผนปฏิรูปประเทศด้วยถือว่าเป็นกฎหมาย ดังนั้นในต้นเดือนตุลาคมนี้จะขอให้ น.ส.ตรีนุช เคาะเปิดหลักสูตรไปนำร่อง และภายในเดือนพฤศจิกายนจะพร้อมให้ ลงนามการใช้หลักสูตรในเดือนพฤษภาคมปีหน้า
แต่ความจริง คือคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ฉบับปรับปรุง) ด้านการศึกษาซึ่งมีนัยสำคัญคือ “ให้ปรับการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based Curriculum) ในปัจจุบัน ไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียน (Competency-based Learning) เป็นสำคัญ ทั้งนี้การเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะแบบผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง มุ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้แบบถักทอความรู้ ทักษะและคุณลักษณะผู้เรียนเข้าด้วยกันด้วยการลงมือการปฏิบัติจริง (Active Learning) มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจและเรียนรู้อย่างมีความสุขและพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์”
ซึ่งตรงกับคำพูดที่ ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม กล่าวไว้ในวันเปิดงานพลิกโฉมสร้างนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียน ก้าวข้ามสภาวะวิกฤต COVID-19 แบบ Active Learning ด้วยระบบการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps” เมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงการปรับหลักสูตรฐานสมรรถนะเลย
You must be logged in to post a comment Login