Connect with us

News

อาจารย์เกษมสันต์ เห็นแย้ง! กลิ่นไหม้ฟุ้งกรุงเทพฯ เกิดจากอะไร??

Published

on

อาจารย์เกษมสันต์ ชี้ กลิ่นไหม้กรุงเทพฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่เกี่ยวกับกรดซัลฟูริค แต่มาจากการเผาในแหล่งต่างๆ

ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า รศ.ดร.เกษมสันต์​ มโนมัยพิบูลย์​ อาจารย์​ประจำบัณฑิตวิทยาลัย​ ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี​พระ​จอมเกล้า​ธนบุรี​ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กรณีกลิ่นไหม้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเมื่อวันที่ 20 มีนาคม โดยระบุว่า

(ปรับปรุง 24 มีนาคม 2567)
ทำไม? ค่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพและปริมณฑลขึ้นสูงช่วงค่ำของวันพุธที่ 20 มีค. 2567 จึงไม่น่าเกี่ยวข้องหรือมาจากกรดซัลฟูริค (Sulfuric Acid) หรือฝุ่นทุติยภูมิซัลเฟต (Sulfate Aerosol)

ผมขออธิบายให้เหตุผลแย้งกับข่าวที่มีรายงานกันมา ดังนี้:
ก.ปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidation) ของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ในบรรยากาศแบ่งออกกว้างๆ ได้ 2 ประเภท ดังนี้:

ข.ประเภท Gas-Phase Oxidation ของ SO2 (เป็นซัลไฟต์ SO3 แล้วเป็นซัลเฟต SO4) ซึ่งมักเริ่มด้วยปฏิกิริยากับอนุมูลอิสระไฮดรอกซิล (OH Radical) โดยทั่วไป ในเวลากลางคืนระดับความเข้มข้นของ OH จะน้อยกว่า 10-100 เท่า เมื่อเทียบกับในเวลากลางวัน เพราะว่า แหล่งเกิด OH ก็มีที่มาตั้งต้นเกี่ยวข้องกับการสลายตัวของก๊าซโอโซน (O3) ด้วยแสงอาทิตย์หรือโฟตอนและปฏิกิริยาต่อเนื่องกับไอน้ำต่อมา นอกจากนั้น ช่วงกลางวันของวันพุธมีฝนตกฉ่ำและเมฆมาก Photochemistry จึงปิดตัวลงไม่มีประสิทธิภาพ ปริมาณของ OH จึงน้อยกว่าปกติในช่วงบ่ายและช่วงเย็นค่ำ ดังนั้น Gas-Phase Oxidation ของ SO2 จึงไม่ค่อยสำคัญเท่าไหร่สำหรับกรณีนี้

ค.ประเภท Aqueous-Phase Oxidation ของ SO2 (เป็นซัลเฟต SO4) ภายใต้อากาศชื้น (อันนี้สำคัญกว่าประเภทแรกมากและเป็นกรณีที่พูดถึงนี้) ซึ่งเริ่มจากปฏิกิริยากับก๊าซไฮโดรเจนเพอร์ออกไซต์ (H2O2) หรือก๊าซโอโซน (O3) ซึ่งเป็น Oxidants ตัวหลัก แต่เพราะว่า O3 ซึ่งเกิดกลางวันเและลดลงกลางคืนเพราะไม่มีแสงแดด อีกทั้งยังถูกไตเตรท (รวมตัว) ได้ง่ายกับก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NO) ซึ่งถูกปล่อยมากในเมืองขนาดใหญ่ในเวลาค่ำได้ สำหรับ H2O2 มีที่มาตั้งต้นหลักจากปฏิกิริยาระหว่างคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และก๊าซอื่น กับ OH ด้วยที่เมืองใหญ่และการเผาในที่โล่งปล่อย CO มากทั้งกลางวันกลางคืน แต่เพราะ OH มีน้อย H2O2 จึงเกิดไม่มาก ดังนั้น เมื่อเข้าสู่ช่วงเย็นค่ำ ทั้ง H2O2 และ O3 จึงไม่มาก เมื่อพิจารณาการละลายน้ำ (Solubility) H2O2 จะละลายน้ำได้ดีกว่าจึงเป็น Oxidant ที่สำคัญในสภาพชื้นมีละอองหมอกแต่มีปริมาณ H2O2 มีอยู่อย่างจำกัดในบรรยากาศนั่นเอง

ง.อากาศปิดในช่วงเย็นค่ำยังทำให้อากาศกระจายตัวไม่ดี จึงไม่ง่ายสำหรับ SO2 ที่ปล่อยจากแหล่งกำเนิดจะพบเจอ H2O2 ที่เหลือและทำปฏิกิริยากันในละอองหมอกร่วมกัน ดังนั้น Aqueous-Phase Oxidation ยิ่งเกิดยากกว่าปกติขึ้นอีก

จ.นอกจากนั้น ยังมี Aqueous-Phase Oxidation ของ SO2 โดยสาร Oxidants อื่นภายใต้อากาศชื้น แต่หากบรรยากาศที่ถูกชะล้างโดยฝน และมี Photochemistry ที่น้อย แม้ว่าอากาศตอนค่ำจะชื้นสูงเอื้อปฏิกิริยาแต่ Oxidants มีเหลือน้อยในช่วงเย็นค่ำ แต่ถ้าก่อนหน้าไม่มีฝนและมีแดดดี ก็จะมี Aqueous-Phase Oxidation เกิดมากในช่วงค่ำได้

สรุป:
การที่ฝุ่นขึ้นสูงค่ำวันนั้นก็น่าจะเป็นเพราะยังมีการเผาอยู่บ้างและมีการปล่อยจากแหล่งกำเนิดต่างๆ โดยฝุ่นควันไม่ถูกระบายและสะสมเพิ่มต่อเนื่องภายใต้สภาพอากาศที่ปิดรุนแรงเนื่องจากอุณหภูมิเย็นลงและไม่มีลม นอกจากนั้น การสูดสัมผัสฝุ่นควันทั่วไปจะรับรู้กลิ่นและก็ทำให้แสบคอจมูกตาได้เช่นกัน ดังนั้น จากที่ได้กล่าวมา กรดซัลฟูริคหรือฝุ่นซัลเฟตจึงไม่น่ามีผลกระทบหรือเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเพราะปฏิกิริยา Oxidation ของ SO2 ไม่ได้เกิดมากนั่นเอง !!!

เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: