อ.เจษฎา แนะ ข้อควรระวังการใช้ถังออกซิเจน ไม่เป็นสนิม จัดเก็บในแนวตั้ง อยู่พื้นที่ไม่ร้อน ไม่ปิดทึบ
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า
“ข้อควรระวัง ในการใช้ถังออกซิเจน ให้ปลอดภัยจากการระเบิด”
เมื่อเช้านักข่าวโทรมาขอสัมภาษณ์ เกี่ยวกับกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ “ถังออกซิเจน ระเบิด” ขณะขนลงจากรถ ที่ซอยเพชรเกษม 77/8 จนคนงานเสียชีวิต 1 ราย (ดูข่าว https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2787874 ) … เลยเป็นกังวลกันเกี่ยวกับ ถังก๊าซออกซิเจน ที่ใช้กับผู้ป่วยตามบ้านเรือน ว่าจะต้องระมัดระวังอันตรายอะไรบ้าง ?
คือถ้าดูในรายละเอียดของข่าวเหตุถังออกซิเจนระเบิดดังกล่าว จะพบว่า เหตุเกิดขณะที่คนงานกำลังขนถังลงมาจากรถ แล้วน่าจะเกิดการกระแทกพื้นปูนซีเมนต์ จนเกิดการระเบิดขึ้น ทำให้คนงานเสียชีวิตทันที สภาพร่างขาดครึ่งท่อน
และแม้ว่าทางเจ้าของบ้าน จะอ้างว่าคนงานขน “ถังเปล่า” ลงจากรถเพื่อนำไปเติมออกซิเจน แต่นี่ก็แสดงว่า จริงๆ แล้ว ถังที่ระเบิดจะต้องมีออกซิเจนอยู่ภายใน ถังได้ระเบิดขึ้นได้เมื่อตกกระแทก
ตามข้อมูลข่าว (จาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/340303 ) พบว่าประเทศไทยเรา เคยมีอุบัติเหตุถังก๊าซออกซิเจนระเบิด มาแล้วหลายครั้ง ซึ่งทำให้เกิดทั้งความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นอันมาก และส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่ ถังออกซิเจนล้ม ตกกระแทก และเกิดระเบิดขึ้น จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
ถังก๊าซออกซิเจน ทั้งชนิดที่ใช้ในอุตสาหกรรม (เช่น ใช้ผสมกับก๊าซเชื้อเพลิง เพื่องานตัด งานเชื่อมโลหะ) และชนิดที่ใช้ทางการแพทย์ (ให้ผู้ป่วยหายใจ) ล้วนบรรจุก๊าซออกซิเจน 100% เอาไว้ แต่ ถังสำหรับอุตสาหกรรมจะใช้ถังสีดำ ขณะที่ถังสำหรับการแพทย์จะใช้ถังสีเขียว .. และตัวก๊าซออกซิเจนสำหรับทางการแพทย์ จะต้องผ่านการตรวจสอบปริมาณของก๊าซพิษ อย่างก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (carbon monoxide ) ไม่ให้มีปนเปื้อนมาด้วย รวมทั้งจะต้องมีหัวปรับความดันพิเศษ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถหายใจได้อย่างเหมาะสม แรงดันไม่สูงเกินไป
สำหรับอันตรายอันอาจเกิดจากถังออกซิเจนระเบิดนั้น มาจากแรงดันของก๊าซที่อยู่ในถัง ซึ่งปรกติแล้ว ถังนี้จะแข็งแรงมาก สามารถทนแรงดันก๊าซกว่า 2000 ปอนต์ต่อตารางนิ้ว (PSI) ได้ และความร้อนของอุณหภูมิในวันที่อากาศร้อน (เช่น 40 กว่าองศาเซลเซียส) ได้ไม่มีปัญหา
แต่ถ้าถังก๊าซบังเอิญไปถูกความร้อนสูงมาก หรือตกกระแทกจากที่สูงหลายเมตร ถังก็อาจจะยุบตัว และทำให้แรงดันของก๊าซเพิ่มขึ้น จนระเบิดได้แม้ว่าจะไม่ได้เป็นก๊าซเชื้อเพลิงที่ติดไฟได้โดยตรงก็ตาม
ยิ่งถ้าถังนั้น ผ่านการอัดก๊าซมามากเกินไป หรือใส่ก๊าซผิดชนิด หรือถังเก่าเสื่อมสภาพ มีสนิม ผ่านการใช้งานมานาน ก็ยิ่งมีสิทธิจะเกิดอุบัติเหตุระเบิดได้มากขึ้น ซึ่งแรงดันที่สูงมากนี้ สามารถทำอันตรายต่อคนที่อยู่ใกล้ จนร่างกายฉีกขาดได้ในเพียงเสี้ยววินาที
ดังนั้น ข้อควรระวังในการใช้ถังออกซิเจน คือ ต้องใช้ถังที่มีสภาพดี ใหม่ ไม่เป็นสนิม ผลิตตามมาตรฐาน มอก. จัดเก็บในแนวตั้ง ยึดให้แข็งแรง ในพื้นที่เหมาะสม ไม่ร้อน ไม่ปิดทึบ และไม่ทำตกกระแทกระหว่างเคลื่อนย้ายครับ
อ่านบทความคำแนะนำเรื่องการใช้ถังออกซิเจน (สำหรับผู้ป่วย) ให้ปลอดภัย จากโรงพยาบาล ศิครินทร์ ประกอบนะครับ
(บทความ) “ใช้ถังออกซิเจนที่บ้านอย่างไรให้ปลอดภัย? เมื่อต้อง Home Isolation”
ถังออกซิเจน เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 เมื่อทำ Home isolation และพบว่าค่าออกซิเจนต่ำกว่า 96% หรืออยู่ในระดับที่แพทย์พิจารณาแล้วว่าต้องได้รับออกซิเจนรักษาที่บ้าน – หากอาการวิกฤติขยับจากสีเขียวไปเป็นสีเหลือง และสีแดง ในระหว่างที่ต้องรอการเข้ารักษาที่โรงพยาบาล โดยวิธีการใช้ถังออกซิเจนที่บ้านให้ปลอดภัย ควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
รู้ก่อนใช้
- ก๊าซออกซิเจนโดยตัวเองไม่ติดไฟ แต่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดการลุกไหม้ที่รวดเร็วและรุนแรง
- ก๊าซออกซิเจนทางการแพทย์ต้องบรรจุในถังสีเขียว ที่มีสัญลักษณ์ มอก.540-2555 เท่านั้น
- ห้ามใช้ถังที่เป็นสนิม
- ข้อต่อตรงถังต้อใช้เกลียวนอกมาตรฐาน CGA 540 เท่านั้น
- หัวอุปกรณ์ปรับลดแรงดัน ต้องใช้หัวสำหรับออกซิเจนทางการแพทย์เท่านั้น
- ควรมีถังดับเพลิงติดตั้งไว้บริเวณใกล้เคียง
ระวังตอนใช้
- เวลาใช้งานให้วางถังแนวตั้งและยึดให้แน่น
- ระวังการเคลื่อนย้ายหากล้มกระแทกอาจระเบิดได้
- ห้ามวางถังออกซิเจนในห้องโดยสารรถเพราะถ้าเกิดการรั่วอาจจะเป็นอันตรายได้
- ตอนใช้งานควรอยู่ห่างจากห้องครัวอย่างน้อย 5 เมตร และต้องไม่อยู่ใกล้ความร้อนหรือเปลวไฟ เช่น สูบบุหรี่ ไดร์เป่าผม เตารีดดัดผม แผ่นทำความร้อนหรือมีดโกนไฟฟ้า
- ห้ามใช้สเปรย์ฉีด เช่น สเปรย์ปรับอากาศ หรือสเปรย์ฉีดผมใกล้ชุดจ่ายออกซิเจน เพราะละอองฝอยมีความไวไฟสูงมาก
- ไม่ใช้ครีมและโลชั่นที่ติดไฟได้ เช่น ไอระเหยของผลิตภัณฑ์ทาถู ปริโตเลียมเจลลี่ หรือโลชั่นทามือที่มีส่วมผสมของน้ำมัน
- ไม่ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือขณะใช้งาน เว้นแต่จะปล่อยให้มือแห้งสนิทก่อนหยิบจับอุปกรณ์ออกซิเจน
ดูแลหลังใช้
- อย่าวางถังแนวนอน ให้วางตั้ง และยึดกับที่ให้แน่น
- อย่าเก็บในที่ปิด เช่น ตู้เสื้อผ้า และเก็บให้ห่างจากแหล่งความร้อน เปลวไฟ อย่างน้อย 1.5 เมตร
- ติดป้ายห้ามสูบบุหรี่ และห้ามจุดไฟ
- ปิดวาล์วให้สนิทหลังใช้และหมั่นตรวจสอบการรั่ว
- ก่อนส่งคืน ควรฆ่าเชื้อด้วยการเช็ดผิวนอกของถังด้วยแอลกอฮอล์ 70% โดยต้องแน่ใจว่าวาล์วปิดสนิทและไม่รั่วไหล
ภาพและข้อมูล จาก https://www.sikarin.com/health/covid19/%E0%B8%A7%E0%B8%98%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B8%96%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%8B%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%99
#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS