Connect with us

News

“ทนายด่าง” เปิดเผยจากกรมราชทัณฑ์ไป รพ.ธรรมศาสตร์ เกิดอะไรขึ้นกับ “บุ้ง เนติพร”??

Published

on

“ทนายด่าง” ชี้แจง กรณีการเสียชีวิตของ “บุ้ง เนติพร” ข้อสังเกตการรักษาพยาบาล เมื่อวันที่ 14 พ.ค.

ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า นายกฤษฎางค์ นุตจรัส หรือทนายด่าง ได้แถลงคำชี้แจงการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม เรื่องข้อสังเกตในการรักษาพยาบาล กู้ชีพ

โดยคำแถลงมีรายละเอียดดังนี้

“ตั้งแต่เหตุการณ์เกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2567 ซึ่งข้อมูลจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์แจ้งว่า นางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม มีอาการหมดสติ ไม่มีสัญญาณชีพ และได้รับการทำ CPR เพื่อฟื้นคืนชีพตั้งแต่เวลา 0623 น. ก่อนจะส่งตัวผู้ป่วยมารักษาต่อที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติในเวลา 09.30 น. ซึ่งข้อมูลการรักษาก่อนหน้าเกิดอาการระหว่างการกู้ชีพ

รวมถึงระหว่างการส่งตัวมาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์จากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ยังไม่มีการเปิดเผยเอกสารตามที่ทางทนายความได้ทำเรื่องขอ เพื่อความกระจ่างในการรักษา โดยสาเหตุการตายจากการชันสูตรพลิกศพ ลงความเห็นไว้ว่า

1.ภาวะหัวใจล้มเหลวโดยเฉียบพลัน
2.ภาวะสมดุลเกลือแร่ผิดปกติ
3.ภาวะหัวใจโต ส่วนผลการตรวจหาสารพิษยังอยู่ในระหว่างการรอผล

จากข้อมูลการรักษา เวชระเบียนที่ได้จากทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แรกรับช่วงเวลา 09.30 น. พบว่าไม่มีสัญญาณชีพ คลื่นไฟฟ้าหัวใจแรกรับ ไม่มีคลื่นไฟฟ้าของหัวใจห้องข้างล่าง (Asystole) ฟังปอดไม่พบเสียงลมในปอด แต่ได้ยินเสียงลมบริเวณลิ้นปี่ เมื่อตรวจดูด้วยอุปกรณ์ใส่ท่อช่วยหายใจที่มีกล้องติดอยู่ที่ปลาย (Video laryngoscope) พบว่าท่อช่วยหายใจอยู่ในหลอดอาหาร ค่า ETC02 พบว่าไม่มีคลื่น ETC02 โดยวัดค่าได้เท่ากับ 0 มิลลิเมตรปรอต ซึ่งจากข้อมูลทั้งหมดระบุว่ามีการใส่ท่อช่วยหายใจลงในหลอดอาหาร (Esophageal intubation) จึงทำการใส่ท่อช่วยหายใจใหม่ที่ห้องฉุกเฉิน หลังจากใส่ท่อช่วยหายใจใหม่ ได้ยินเสียงลมเข้าปอดทั้งสองข้าง และวัดค่า ETCO2 ได้ 10 มิลลิเมตรปรอต

ตั้งแต่เวลาที่บุ้งตรวจไม่พบสัญญาณชีพ 06.23 น. จนมาถึงห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ในเวลา 09.30 น. เป็นเวลา 3 ชั่วโมงในการกู้ชีพ โดยที่สัญญาณชีพแรกรับที่ห้องฉุกเฉินไม่พบชีพจร ในขณะที่ยังต้องค้นหาสาเหตุการตายผ่านการทบทวนเวชระเบียนจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แม้การใส่ท่อช่วยหายใจลงในหลอดอาหารเป็นสิ่งที่พบได้ แต่ตามมาตรฐานวิชาชีพการตรวจสอบเพื่อยืนยันตำแหน่งท่อช่วยหายใจทันทีเป็นเรื่องพื้นฐาน หากไม่แน่ใจต้องมีวิธีการในการยืนยันเพื่อให้แน่ใจว่าตำแหน่งท่อช่วยหายใจอยู่ในที่ที่ถูกต้อง แม้การใส่ท่อช่วยหายใจผิดตำแหน่งและตรวจสอบไม่ได้ อาจไม่ได้เป็นสาเหตุการเสียชีวิต แต่เป็นหนึ่งในอีกความผิดพลาดร้ายแรง ที่ทำให้โอกาสการคืนชีพของบุ้งน้อยลงจนกลายเป็นแทบไม่มีโอกาสรอดชีวิต

เราต้องการตั้งคำถามกับทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบุ้ง ตั้งแต่การดูแลก่อนการเสียชีวิต ขณะกู้ชีพ และจนถึงระหว่างการส่งตัวเพื่อรักษาต่อ เพื่อให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และทราบถึงมาตรฐานการรักษาของโรงพยาบาลราชทันฑ์ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ผิดพลาดนี้กับคนไข้รายอื่นอีก” ทนายด่างกล่าว

#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: