ฟูอาดี้ ลั่น ปัญหาการต่อสู้กับระบอบทักษิณ ชนชั้นนำใช้การแก้ปัญหาแบบผิดๆ ทำลายความเป็นธรรมในสังคม
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า ดร.ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ อดีตที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า
ปัญหาของการต่อสู้กับ “ระบอบทักษิณ” ของชนชั้นนำในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา…คือการไม่เชื่อในศักยภาพของ”ประชาชน”ในการเรียนรู้ และไม่ได้ให้เวลากับวัฏจักรของกระบวนการประชาธิปไตย (democratic process) มากพอ การพึ่ง “คนดี” แบบปัจเจกบุคคล เพื่อต่อสู้กับปัจเจกบุคคลของอีกฝ่ายแต่พวกเขามองไปไม่ถึงการแก้ปัญหาใน “ระดับโครงสร้าง” ที่จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ใครก็ตามมา “กระทำชำเรา” กับอนาคตของเยาวชน และประเทศชาติ อย่างที่ผ่านมา
กลุ่มผู้มีอำนาจเดิมมุ่งสร้างระบอบใหม่ขึ้นมา แบบพึ่งทางลัด เพื่อกำจัดบุคคลคนๆเดียวแล้วสุดท้ายก็ทำไม่สำเร็จ และหารู้ไม่ว่าระบอบที่สร้างขึ้นมาใหม่นั้นทำลายหลักการธรรมาภิบาล (good governance) ทางการเมืองต่างๆลงเสียเอง ตอนนี้เรามองเห็น “คนดี” แทบจะไม่ออก และในที่สุดแล้วมันก็หลอมรวม เป็นระบอบเดียวกันนั่นแหละ และประชาชนแบบเราๆจากหลายฝ่ายก็ยืนงงกับดีลอำนาจ ที่กำลังเกิดขึ้นกันทั้งนั้น เพื่อผลประโยชน์ใครก็ได้ แต่น่าจะไม่ใช่ประเทศชาติเป็นส่วนใหญ่แน่ๆ
ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจต่อ “ประชาชน” ทำให้ประเทศเราหยุดอยู่ที่เดิม แล้วเราก็ทำได้ดีที่สุดแค่มาเริ่มต้นกันใหม่กลายเป็น “lost two decades” และพวกเราที่อายุต่ำกว่า 40 ก็กลายเป็น “lost generations” อย่างแท้จริง และประเทศอันเป็นที่รักของเราทุกคนก็กลายเป็น sickman of Asia ที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดเป็นอันดับต้นๆของโลก อยากขอเวลา 20 ปีกลับคืนมาจัง และอยากให้ยอมรับได้เสียที่ว่าที่ผ่านมาเป็นการต่อสู้ที่ล้มเหลวอย่างชิ้นเชิง แล้วจะได้เริ่มกันใหม่
หลังจากนี้หวังว่าเราจะเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้กันดูบ้าง โดยการยึดติดกับปัจเจกบุคคล และการเมืองแห่งความดี (moral politics) ให้น้อยลง และควรจะมองในเชิงหลักการความเป็นจริง (realism) ที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีทั้ง “ความดี” และ “ความเลว” ในตัวตนทุกคน เราทุกคนต่างตอบสนองต่อปัจจัยต่างๆรอบตัว มีทั้งความโลภ ความโกรธ และความหลงได้ทุกคน เราควรจะสร้างระบอบที่แข็งแกร่ง ที่ไม่ได้ยึดติดกับตัวบุคคล หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง กฏหมายก็ควรถูกบังคับใช้อย่างเท่าเทียม อย่างมีนิติรัฐ นิติธรรม ให้ประชาชนรู้สึกได้ว่าเป็นที่พึ่งอยู่บ้าง การถ่วงดุลอำนาจก็ควรมี การเคารพต่อฐานันดรต่างๆ (separation of powers) ก็จำเป็น แต่ไม่ใช่เป็นการสร้างระบอบที่เต็มไปด้วย “ผลประโยชน์ทับซ้อน” (conflict of interest) และยังเห็นดีเห็นงามกับมันอีก….และที่สำคัญที่สุดขอให้เอา “ผลประโยชน์ของประเทศ” (national interest) ที่อิงกับ “ประชาชน” เป็นที่ตั้งอย่างแท้จริงดูบ้าง
เคยพูดกับพี่ๆ ลุงๆ ป้าๆ เสมอว่าหากเอาผลประโยชน์ของประเทศนำ เราหลายฝ่ายจริงๆแล้วคุยกันได้ ข้อแตกต่างทางด้านค่านิยมต่างๆสามารถรอมชอม และหาวิธีอย่างละมุนละม่อมตกลงกันได้อย่างแน่นอน…. แต่หากเอาผลประโยชน์ส่วนตน (self interest) นำก่อนผลประโยชน์ของชาติ อันนั้นคงคุยกันไม่รู้เรื่อง และก็ไม่อยากคุยด้วย
#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS