Connect with us

News

ด่วน! บุกทลายคลินิกเถื่อน กลางห้างดังหรู ราชประสงค์ ผงะ! เจอยาเถื่อน ของกลางกว่า 5 ล้านบาท

Published

on

ตำรวจสอบสวนกลางบุกค้นคลินิกดัง เจอยาเถื่อนไม่ได้ขึ้นทะเบียนหลายรายการ รวมมูลค่าของกลางกว่า 5 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า 16 ม.ค.66 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ. ธรากร เลิศพรเจริญ, พ.ต.อ.สำเริง อำพรรทอง, พ.ต.อ.ณัฐวัฒน์ เกศะรักษ์, พ.ต.อ.สมเกียรติ ตันติกนกพร รอง ผบก.ปคบ.,พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา , ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการดำเนินการตรวจค้นคลินิกสหเวชหรู ใจกลางเมือง พร้อมตรวจยึดของกลางที่เกี่ยวข้อง จำนวน 252 รายการ มูลค่ากว่า 5,977,000 บาท


สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก อย. ให้ตรวจสอบ คลินิกชื่อดัง ตั้งอยู่ที่ อาคารเกษรทาวเวอร์ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ที่เปิดให้บริการทางเวชกรรม, กายภาพบำบัด, แพทย์แผนไทยประยุกต์ และการพยาบาล ในลักษณะเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพ และมุ่งเน้นให้บริการชาวต่างชาติในลักษณะ ขายคอร์สต่อเนื่องในราคาสูง 1,000 – 2,000,000 บาท

โดยคลินิกดังกล่าวมียานำเข้า และยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ซึ่งมีทั้งกลุ่มยาฉีด ยารับประทาน อาหารเสริมที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน และมีการผสมยาอันตรายในอาหารเสริม โดยเสนอโปรแกรมการรักษารูปแบบต่าง ๆ เช่น การดีท็อกซ์สารพิษ, การชะลอวัยด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ และการฉีดวิตามินเพื่อบำรุง สำหรับตับและสมอง ให้หายจากอาการเจ็ทแล็ก เพิ่มพลังงานกับร่างกาย ให้รู้สึกสดชื่นและมีสมาธิ ฯลฯ จึงนำกำลังลงพื้นที่ตรวจสอบ

พบว่าคลินิกดังกล่าวเปิดให้บริการอยู่จริง โดยมีชาวต่างชาติมารับบริการเป็นจำนวนมาก
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับ อย. นำหมายค้นศาลแขวงปทุมวันที่ 1/2566 ลงวันที่ 9 มกราคม 2566 เข้าตรวจค้นคลินิกดังกล่าว ตรวจยึดของกลางเป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 จำนวน 144 รายการ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 จำนวน 108 รายการ รวมตรวจยึดของกลาง 252 รายการมูลค่าของกลาง 5,977,000 บาท

ซึ่งคลินิกดังกล่าว เน้นรับกลุ่มลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติ โดยจะให้ผู้เข้ารับบริการตรวจเลือดก่อนจากนั้นนำเลือดไปตรวจวิเคราะห์ แล้วจึงเสนอขายคอร์ส หรือขายยาให้ลูกค้าโดยอ้างว่าไม่มีขายในประเทศไทย มีเฉพาะคลินิกนี้เท่านั้น โดยเป็นทั้งยานำเข้าและยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ซึ่งมีทั้งกลุ่มยาฉีดและยารับประทาน และมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาต

พนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ได้ออกหมายเรียกกรรมการบริษัทฯ เพื่อเข้ามารับทราบข้อกล่าวหา โดยเบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ฐาน “1. ขายยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, 2. พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ฐาน “จำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท” ในส่วนแพทย์ที่มีชื่อเป็นผู้ดำเนินการในคลินิกดังกล่าว มีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐาน “ไม่จัดให้มีเครื่องมือ เครื่องใช้ ยา และเวชภัณฑ์ที่จําเป็นประจำสถานพยาบาลฯ ตามชนิดที่กําหนดในกฎกระทรวง” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท

หรือทั้งจำทั้งปรับโดยยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ตรวจยึดมาจะมีการส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากตรวจพบว่ามีการผสมยาอันตรายลงไปในอาหารจะมีความผิดฐาน “จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม

  1. พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 72 (4) ฐาน “ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา” จำคุกไม่เกินสามปี หรือ
    ปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 6 (10) ฐาน “จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง”
    ระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท
    ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่าการเข้าตรวจค้นครั้งนี้
    เป็นคลินิกที่ได้รับอนุญาต แต่ยาที่ใช้ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับ ทั้งรูปแบบยาฉีดและยารับประทาน

นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่มีเลขสารบบอาหารกรณีการเตรียมยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายนั้น เป็นการเตรียมตามใบสั่งแพทย์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาตามอาการของคนไข้แต่ละรายและไม่ควรมีการเตรียมยารอไว้จำนวนมาก จากการตรวจค้นคลินิกในครั้งนี้พบยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนในรูปแบบยาฉีดจำนวนมาก ฉลากไม่ระบุสถานที่ผลิตยา ไม่มีเลขทะเบียนตำรับยา ไม่ระบุวันที่ผลิตยา และไม่มีข้อมูลการศึกษาความคงสภาพ (Stability Data) ของยา

ทั้งนี้ยาที่จ่ายให้แก่คนไข้ควรเป็นยาที่ขึ้นทะเบียนตำรับและผลิตจากสถานที่ผลิตยาที่มีมาตรฐาน
การผลิตยาที่ดีหรือ GMP โดยเฉพาะยาฉีดต้องเป็นยาปราศจากเชื้อ และมีการควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้คนไข้ที่ได้รับยาได้รับอันตรายจากการใช้ยาที่ปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ หรือเชื้อก่อโรค

ดังนั้นเพื่อประสิทธิภาพการรักษาและความปลอดภัยของคนไข้ที่มารับบริการ คลินิกเวชกรรมควรเลือกใช้ยาที่ผ่านการขึ้นทะเบียนตำรับยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเท่านั้น และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่จำหน่ายต้องมีเลขสารบบอาหารด้วยเช่นกัน โดยผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th หากพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th ตู้ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004

หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ควรศึกษาข้อมูลคลินิกแพทย์ ยาที่ใช้ รวมถึงขั้นตอนการรักษาให้ดีก่อนที่จะเข้ารับบริการรักษา เนื่องจากการรักษาซึ่งมีทั้งการฉีดยาและการรับประทานยาที่อาจไม่ได้มาตรฐาน หรือมีขั้นตอนและวิธีการรักษาที่ต้องใช้ผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง หรือบางกระบวนการรักษาอาจยังไม่ได้รับการรับรองจากแพทยสภา

ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบหรือเกิดความเสียหายกับร่างกายโดยตรง อาจทำให้สูญเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์โดยไม่เกิดผลทางการรักษาแต่อย่างใด และขอแจ้งเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบกระทำความผิดให้หยุดการกระทำ เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการกวดขัน และจับกุมอย่างต่อเนื่อง หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด โดยพี่น้องประชาชนสามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ สายด่วน บก.ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค

#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: