Connect with us

Culture & Art

“จันทร์รู้เรื่อง” สุนทรียศาสตร์ ลัทธิ และความเชื่อทางศิลปะตะวันตก

Published

on

โดย ผศ.เยาวนาถ นรินทร์สรศักดิ์            

             จากความรู้สึกในด้านความงาม และความประทับใจ ที่เป็นพื้นฐานของการแสดงออกทาง
สุนทรียะของมนุษย์ และประกอบกับการที่มนุษย์ทั้งหลายนั้นมีลักษณะเป็นสัตว์สังคม มีความต้องการที่จะอยู่เป็นหมู่ เป็นพวก ทำให้เกิดความผูกพันกันในด้านความเชื่อ ทัศนคติ แนวทางในการดำรงชีวิต และระบบสังคมในแนวทางของตนเองเป็นกลุ่ม ๆ รวมทั้งมนุษย์เป็นสัตว์ที่มีความคิดมีจินตนาการ จะพัฒนาคุณภาพชีวิตทำให้เกิดพัฒนาการขึ้นในแต่ละหมู่เหล่า เผ่าพันธุ์ ทำให้เกิดความแตกต่าง และขัดแย้งกันอยู่เสมอ

              มนุษย์ได้ใช้ความคิดนั้นสร้างสรรค์ส่วนหนึ่งเสนอต่อสังคม ในรูปของผลงานทางศิลปะ ซึ่งการสร้างสรรค์เหล่านั้นส่วนหนึ่งเป็นไปเพื่อสนองตอบความเชื่อที่มีต่อ ภูต ผี ปีศาจ หรือสิ่งที่ไม่อาจทราบได้ อยู่นอกเหนือความรู้ของตนเอง แล้วพัฒนาไปสู่ความเชื่อ ความคิดในเรื่องเทพเจ้า พระผู้เป็นเจ้า

ผลงานในยุคแรก ๆ ของศิลปะตะวันตก จึงค่อนข้างวนเวียนอยู่ในลักษณะของการสร้างรูปเคารพตามความเชื่อ แต่เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป มนุษย์มีการติดต่อเกี่ยวข้องกันรวดเร็วขึ้นทำให้มีการแลกเปลี่ยน ความคิดซึ่งกันและกัน มีการเสนอแนวความคิดใหม่ ๆ ในด้านศิลปะ มีการคัดค้าน การโต้แย้ง ให้เกิดการพัฒนารูปแบบ และเนื้อหาทางศิลปะเกิดเป็น ลัทธิ และความเชื่อทางศิลปะขึ้น

ลัทธิทางศิลปะตะวันตก ในที่นี้จะหมายถึง ศิลปะที่เกิดขึ้นบริเวณประเทศอียิปต์ ตะวันออกกลาง และบริเวณทวีปยุโรปทั้งหมด ซึ่งมีรากฐานมาจากศิลปะของอียิปต์ และกรีก ซึ่งเป็นวัฒนธรรมยุคโบราณของโลก และพัฒนาขึ้นมาภายใต้อิทธิพลของคริสต์ศาสนา เป็นต้นแบบของศิลปะสากลในปัจจุบัน ซึ่งการบันทึกประวัติศาสตร์ของยุโรป นักประวัติศาสตร์และศิลปิน ได้มีการแบ่งยุคต่างๆ โดยกว้างออกเป็น ได้แบ่งอย่างกว้างๆ ได้เป็น 3 ยุคตามเวลา คือ

1. ยุคโบราณ (Ancient Age)

2. ยุคกลาง (Middle Age)

3. ยุคใหม่ (Modern Age)

              ซึ่งจะขอเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อ ๆ ไปนะคะ ในตอนนี้ขอถ่ายทอดและเรียบเรียงเนื้อหาของ ศิลปะยุคโบราณ เป็นอันดับแรกก่อนค่ะ

  1. ศิลปะยุคโบราณ (Ancient Age) (4,000 BC.) ประมาณ 4,000 ปี ก่อน คริสต์กาล
    มีลำดับการแบ่งออกเป็นยุคของศิลปะ ย่อย ๆ คือ
    1. ศิลปะยุคก่อนประวัติศาสตร์
    2. ศิลปะอียิปต์โบราณ
    3. ศิลปะเมโสโปเตเมีย
    4. ศิลปะกรีก
    5. ศิลปะโรมัน
    6. ศิลปะนีโอ-คลาสสิค

ศิลปะยุคก่อนประวัติศาสตร์

              เป็นยุคสมัยเพื่อการอยู่รอด มนุษย์มีจุดมุ่งหมายในการสร้างงานศิลปะ คือ การสร้างเครื่องมืองานช่าง เพื่อหาอาหาร เพื่อการป้องกันตัว การบูชาอภินิหาร ความตาย และความอุดมสมบูรณ์

ศิลปกรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ (Prehistoric Art) อยู่ในระหว่าง 35,000 – 10,000 ก่อนคริสตกาล มนุษย์ยุคนั้น มีแนวทางการทํางานที่จํากัดขอบเขต อยู่ในกรอบประเพณี มีการเน้นเรื่องพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการดํารงชีวิต ลักษณะของศิลปะ มีลักษณะเรียบง่าย สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่ซับซ้อน ซึ่งก็สอดคล้องกับ ชุมชนแห่งความล้าหลัง เครื่องมือเครื่องใช้ยังไม่พัฒนา อันมีผลกระทบต่อการผลิตต่างๆ ที่ทำให้ไม่มี  ส่วนเกินให้มีการเอารัดเอาเปรียบ เนื่องมาจาก เป็นชุมชนกลุ่มเล็กๆ ที่มีความสัมพันธ์เฉพาะเครือญาติ มีความสนใจ เชื่อถือ ทัศนคติ และการกระทำต่างๆ ถูกครอบงำด้วย เรื่องปาฏิหารเร้นลับ

ศิลปะในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยังแบ่งออกเป็น 3 ยุคด้วยกัน คือ

ยุคหินเก่า (Palaeolithic or Old Stone Age)

อยู่ในยุคน้ำแข็งอาศัยตามถ้ำยังชีพด้วยการล่าสัตว์อาวุธทำจากหินที่หาได้ในสิ่งแวดล้อมในยุคนั้นศิลปะในยุคนี้ ได้แก่อาวุธและเครื่องมือการทำมาหากิน วัสดุทำจากดิน หิน ไม้ งา กระดูก และเขาสัตว์ งานประติมากรรมหินแกะสลักที่โด่งดัง คือ วีนัส ออฟ วิลเลนดอร์ฟ (Venus of Willendorf) เป็นรูปวีนัสโบราณ บนใบหน้า ไม่มีการแสดง หู ตา จมูก ปาก ส่วนแขนและขา ลีบเล็ก มีเต้านมใหญ่ ท้องใหญ่ เน้นอวัยวะเพศ ซึ่งสร้างจากความเชื่อที่แสดงถึง การเกิดของชีวิตใหม่ ความสมบูรณ์พูนผล และความมีโชคลาภ 


งานศิลปที่น่าสนใจอีกชิ้นหนึ่งที่ค้นพบในยุคหินเก่านี้ก็ คือ งานจิตรกรรมภาพเขียนบนผนังถ้ำลาสโกซ์ (Lascaux Cave) จิตรกรรมสมัยนั้น ไม่นิยมเขียนภาพมนุษย์ ภาพที่ปรากฏส่วนมากเป็นรูปสัตว์ มีลักษณะสองมิติ เน้นหลายเส้นที่แสดงออกถึง วิถีชีวิต การล่าสัตว์ ของชาวหินเก่า

ยุคหินกลาง (Mesolithic or Middle Stone Age) 70,000 – 64,000 ก่อนคริสตกาล

ในยุคนี้อากาศเริ่มอุ่นขึ้นมีการสร้างที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ ทำเกษตรกรรม สร้างอาวุธที่เป็นหินละเอียด ศิลปะในยุคนี้ ได้แก่ จิตรกรรมฝาผนัง ส่วนมากจะปรากฏตามผนังที่อยู่กลางแจ้ง ไม่ใช่การเขียนภายในถ้ำดังยุคก่อน ดังนั้นผลงานจึงมักจะถูกทำลายโดยดินฟ้าอากาศ ภาพจิตรกรรมปรากฎตามหน้าผา บริเวณชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

และทางยุโรปตะวันออกมาจนถึงทวีปเอเชีย ที่มีเขตติดต่อกัน เป็นภาพคน สัตว์ การดำรงชีวิตประจำวัน จิตรกรรมฝาผนังยุคหินกลาง ที่ปรากฏตามหน้าผามีท่าทางที่ดูเคลื่อนไหว (Movement) มากขึ้น


ยุคหินใหม่ (Neolithic or New Stone Age)

ในยุคนี้มีการตั้งบ้านเรือนในที่ราบใกล้ริมฝั่งแม่น้ำ ทำเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ ทอผ้า ใช้ภาชนะดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ และอาวุธ ที่ทำด้วยหินขัด เขาสัตว์ กระดูกสัตว์ ในด้านปรัชญาความเชื่อ มีการสร้างอนุสาวรีย์หิน (Stonehenge) ที่พบในยุโรปตะวันตก เช่น ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ อังกฤษStonehence ที่พบเป็นอนุสรณ์สถานยุคก่อนประวัติศาสตร์ กลางทุ่งราบกว้างใหญ่ บนที่ราบซอลส์บรี (Salisbury Plain) บริเวณตอนใต้ของเกาะอังกฤษ ตัวอนุสรณ์สถานประกอบด้วยแท่งหินขนาดยักษ์ 112 ก้อน ตั้งเรียงกันเป็นวงกลมซ้อนกันสามวง แท่นหินบางอันตั้งขึ้น บางอันวางนอนลง และบางอันก็ถูกวางซ้อนกัน นักโบราณคดี เชื่อว่ากลุ่มกองหินนี้ถูกสร้างขึ้นจากที่ไหนสักแห่งเมื่อประมาณ 3000 ถึง 2000 ปีก่อนคริสตกาล

เมื่อพ.ศ. 2551 มีการหาอายุจากคาร์บอนกัมมันต์ตารางสีเผยให้เห็นว่า หินก้อนแรกถูกวางเมื่อประมาณ 2400-1200 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งบางความเห็นทฤษฎีอื่นระบุว่า กลุ่มหินที่ถูกวางตั้งมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นถึง 3000 ปีก่อนคริสตกาล  

ศิลปกรรมในยุคหินใหม่นี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนองตอบต่อชีวิตโดยตรง และมีการแสดงความคิดเห็น ผสมผสานกับจินตนาการเข้าไปด้วย ศิลปกรรมที่ปรากฏ คือ จิตรกรรมยุคหินใหม่ ที่นิยมเขียนบนหน้าผา มีลักษณะสองมิติ เครื่องปั้นดินเผา ประติมากรรม ซึ่งมีฝีมือที่ละเอียด มีพื้นผิวเรียบขึ้น แสดงถึงการพิถีพิถัน และอาจมีเครื่องมือที่ช่วยให้ผลงานนั้นสวยงาม ประติมากรรมและเครื่องปั้นดินเผาในยุคหินใหม่ มีการเพิ่มจินตนาการและอารมณ์เข้าไป

              สรุปแล้ว ความงามของศิลปะในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เป็นความงามที่มีความสัมพันธ์ กับการดำเนินชีวิต ที่มุ่งสนอง ความเชื่อและความศรัทธา เป็นศิลปะที่มีการแสดงออก ลักษณะรูปแบบที่ไม่ซับซ้อน ด้วยความจำกัดทางการรับรู้ ความจัดเจน และเงื่อนไขของสังคม


พบกับความรู้ต่างๆ ที่น่าสนใจ กับ “จันทร์รู้เรื่อง” โดย ผศ.เยาวนาถ นรินทร์สรศักดิ์ ได้ทุกวันจันทร์นะคะ

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Click to comment

You must be logged in to post a comment Login

Leave a Reply

Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: