เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา หลายสำนักข่าวได้รายงานการเสียชีวิตของ ลี คุน-ฮี (Lee Kun-Hee) อดีตซีอีโอ และประธานบอร์ดของซัมซุง หลังจากที่ต้องเข้ารับการรักษาโรคหัวใจมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2014 ส่งผลทำให้ลี แจ-ยอง(Lee Jae-yong) บุตรชายต้องเข้ามารับทำหน้าที่บริหารกิจการซัมซุงแทน
ทั้งนี้ ลี คุน-ฮี เป็นทายาทรุ่นที่ 2 ของซัมซุง ต่อจากพ่อ “ลี บยัง-ชุล” ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งซัมซุง และได้เข้ามาช่วยสานต่อธุรกิจ “ซัมซุง กรุ๊ป” จนกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่มูลค่า 375 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (11 ล้านล้านบาท)
การเสียชีวิตของ ลี คุน-ฮี (Lee Kun-Hee) เป็นที่กล่าวถึงมากมาย วันนี้โตโจ้นิวส์ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจของตระกูลลี จุดเริ่มต้นของ SAMSUNG แบรนด์ที่ขึ้นแท่นอันดับ 5 แบรนด์ที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2020
1.ซัมซุงเริ่มต้นจากการขายอาหารแห้ง
บริษัทซัมซุงก่อตั้งขึ้นเมื่อ 1 มีนาคม 1938 โดย ลี บยัง-ชุลในตอนแรก Samsung ไม่ได้ทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเลยแม้แต่น้อย เป็นเพียงแค่บริษัทส่งออกสินค้าอาหารแห้งและสิ่งทอเท่านั้น จากนั้นก็เริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดำเนินธุรกิจ ก่อนจะเข้ามาในธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจประกัน ท้ายที่สุดจึงหันมาทำธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า และสร้างคอมพิวเตอร์เครื่องแรกได้ในปี 1983 และปัจจุบัน Samsung ได้ครอบครองธุรกิจมากกว่า 50 แขนง ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ ไปจนถึงการก่อสร้างและต่อเรือ พูดได้เลยว่าเขามี “สากกะเบือ ยันเรือรบ” จริงๆ
2. ตระกูล “ลี” เป็นตระกูลธุรกิจที่มีฐานะร่ำรวยที่สุดในเอเชีย
ข้อมูลการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ เผยว่า ตระกูล “ลี” เจ้าของกลุ่มธุรกิจซัมซุงแห่งเกาหลีใต้ ครองอันดับ 1 เป็นตระกูลธุรกิจที่มีฐานะร่ำรวยที่สุดในเอเชีย ขณะที่ ตระกูลเจียรวนนท์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ของไทย อยู่ในอันดับ 4
3. ลีคุน-ฮี (Lee Kun-Hee) เจ้าชายขี่ม้าขาวของอาณาจักร Samsung
หลังจากที่ ลี คุน-ฮี ได้เข้ามาบริหารต่อจากพ่อ ได้สำรวจตลาดที่สหรัฐอเมริกา พบว่าสินค้าถูกวางจำหน่ายในสภาพโลว์เกรด จึงคิดรูปแบบการปฎิวัติแบรนด์ครั้งใหญ่ ด้วยการเผาสินค้าที่ดูไม่มีคุณภาพ โดยให้พนักงานในบริษัทช่วยกันรวบรวมโทรศัพท์และเครื่องแฟกซ์ประมาณ 150,000 เครื่อง ที่ไม่ได้มาตรฐานคุณภาพของ Samsung มากองสุมรวมกันและสั่งเผาทิ้งให้หมด
ลีคุน-ฮีประกาศ อีกว่า ต่อไปนี้ซัมซุงจะผลิตเฉพาะสินค้าที่มีคุณภาพสูงเท่านั้น ลี คุน-ฮี บริหารงานด้วยการนำวิธีการทั้งแบบเก่า และแบบใหม่ มาผสมผสานกัน คือ การนำวิธีการบริหารแบบครอบครัว กับแบบองค์กร มาปรับใช้เข้าด้วยกัน ทำให้กลายเป็นแนวคิดการทำงาน ที่ไม่หยุดนิ่ง เน้นการวิจัย และพัฒนาอย่างรวดเร็ว รองรับความต้องการอันหลากหลายของลูกค้า ถือได้ว่าเขาคือ เจ้าชายขี่ม้าขาว ที่กอบกู้และพลักดันซัมซุงให้ก้าวหน้า
4. เรื่องอื้อฉาวของทายาทตระกูล “ลี”
ลีแจ-ยองทายาทของ ลี คุน-ฮี เคยถูกส่งตัวเข้าเรือนจำในความผิดคดีสินบนที่ส่งผลทำให้อดีตประธานาธิบดีหญิงเกาหลีใต้ พัก กึน-ฮเย ต้องถูกถอดออกจากตำแหน่ง รวมไปถึงความผิดคดีฉ้อโกงและควบคุมราคาหุ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับแผนควบรวมบริษัท ซัมซุง ซีแอนด์ที คอร์ป และ เชอิล อินดัสตรีส์ ในปี 2015 และยังมีข้อหาฉ้อโกงทางบัญชีในบริษัท ซัมซุง ไบโอโลจิกส์ ซึ่งเป็นธุรกิจยาของกลุ่มซัมซุงอีกด้วย
ขณะที่ลูกสาว “ลีบู–จิน” ได้แต่งงานกับ “ลิมวู–แจ” อดีตบอดี้การ์ด ในบริษัทรักษาความปลอดภัยในเครือซัมซุง เมื่อปี 1999 จนได้รับฉายาว่า “มิสเตอร์ซินเดอเรลล่า” เนื่องจากฐานะทางสังคมที่แตกต่างกันอย่างมากกับภรรยาที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชีย โดยหลังจากแต่งงานกัน ลีคุน–ฮีผู้เป็นพ่อตา ได้ส่งเขาไปเล่าเรียนต่อระดับปริญญาที่สหรัฐฯ ทั้งที่เขาพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย จนทำให้เขาเครียดมาก และเคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้วถึง 2 ครั้ง หลังแต่งงานและมีลูกชายด้วยกันหนึ่งคนแล้ว ต่อมาลีบู จินได้ยื่นฟ้องขอหย่าในปี 2557 หลังจากทั้งคู่ได้แยกกันอยู่มาตั้งแต่ปี 2555
5. Samsung หนึ่งในกลุ่มแชโบล
ซัมซุงถือเป็นหนึ่งในกลุ่มแชโบล หมายถึง กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่ทรงอิทธิพลทางการค้า และการลงทุนในประเทศเกาหลีใต้
โดยคำว่า “แชโบล” แปลว่า สมาคมผู้มีฐานะมั่งคั่ง ต้นกำเนิดมาจากแนวคิดของญี่ปุ่นที่ใช้คำว่า “ไซบัสสึ” (Zaibatsu) หมายถึงเครือข่ายบริษัทของครอบครัวที่เป็นกิจการขนาดใหญ่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยประเทศเกาหลีใต้ในช่วงนั้นได้นำแนวคิดนี้มาใช้ เพื่อหวังจะฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลเป็นผู้คัดเลือกบริษัทที่จะเข้ามารับผิดชอบการลงทุนที่สำคัญ ส่วนใหญ่มักเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของรัฐบาลสนับสนุนอยู่ เศรษฐกิจของเกาหลีจึงเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจนได้รับฉายาว่า “ปาฏิหารย์แห่งเอเซีย” (Miracle of Asia)
มีข้อมูลจาก thinkaboutwealth เผยว่า กลุ่มแชโบล ได้มีกระทำความผิดอยู่หลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงภาษี การทุจริต การติดสินบน การหลบเลี่ยงภาษี ไปจนถึงการผูกขาดทางการค้า แต่บุคคลเหล่านั้นกลับรอดพ้นเงื้อมมือของกฎหมายไปได้ โดยเฉพาะผู้บริหารแชโบลที่ถูกตัดสินลงโทษในคดีต่างๆ ทั้งในคดีอุจฉกรรจ์และคดีลหุโทษ ถูกตัดสินให้ได้รับการลงโทษน้อยกว่าปกติอย่างเห็นได้ชัด บางครั้งก็พ้นจากคดีรวดเร็ว เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับบุคคลสำคัญทางการเมือง จนทำให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมาประท้วงหลายต่อหลายครั้ง
ขณะนี้ซัมซุงถือเป็นธุรกิจที่บริหารโดยครอบครัวหรือแชโบลที่มีขนาดใหญ่สุดของเกาหลีใต้โดยรายได้ของซัมซุงคิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 5 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของเกาหลีใต้ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 12 ของโลก
You must be logged in to post a comment Login