บริษัทซูมิโตโมของญี่ปุ่นและมหาวิทยาลัยเกียวโต ได้เผยว่า จะร่วมกันพัฒนาสร้าง ‘ดาวเทียมไม้’ ก็คือดาวเทียมที่ทำจากไม้ เป็นดวงแรกของโลก เพื่อหวังว่าจะช่วยลดปริมาณขยะในอวกาศได้ และคาดว่าจะสร้างเสร็จภายในปี 2023
สำนักข่าวโตโจ้นิวส์รายงาน สาเหตุของการที่เริ่มคิดค้นพัฒนาดาวเทียมทำจากไม้ เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ต้องการลดขยะอวกาศลง เพราะในทุก ๆ ปี ได้มีการปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และนั่นก็นำมาสู่ปัญหาขยะอวกาศที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ตามข้อมูลของ World Economic Forum (WEF) เผยไว้ มีวัตถุเกือบ 6,000 ชิ้นที่ยังโคจรอยู่รอบโลก และประมาณ 60% ของวัตถุพวกนั้น ไม่ได้ใช้งานเป็นดาวเทียมแล้ว เหลือแต่เป็นเศษซากที่ลอยไปมอยู่ในอากาศ และกลายเป็นขยะอวกาศไปแล้ว
ผู้เชี่ยวชาญกังวลว่า ถ้าขยะในวงโคจรที่มากเกินไป และยังคงเพิ่มอยู่เรื่อยๆ อาจจะไปทำให้เกิดปัญหากับเส้นทางการบิน หรือทำให้การเดินทางไปอวกาศ การปล่อยดาวเทียมในอนาคตลำบากมากขึ้น และในขณะเดียวกันก็อาจเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกด้วย
โดยในขณะที่ดาวเทียมดวงอื่นๆ นั้นทำมาจากอลูมิเนียมหรือโลหะอื่นๆ แต่ ดาวเทียม “ลิกโนแซท” (LignoSat) ของญี่ปุ่นนี้ จะใช้ไม้เป็นวัสดุห่อหุ้ม ซึ่งทางบริษัทซูมิโตโม ฟอเรสท์ทรี เผยว่า ไม้มีคุณสมบัติที่เหนือกว่าโลหะอื่นๆ เพราะไม้จะไม่กั้นคลื่นอิเล็กทรอนิกหรือสนามแม่เหล็กของโลก ซึ่งนั่นหมายความว่าสามารถนำเอาเสาอากาศและอุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ ไว้ข้างในกล่องหรือโครงไม้ได้ และยังลดความเกะกะของอุปกรณ์ ที่อาจจะมีโอกาสหลุดออกมาเป็นขยะได้อีกด้วย
และนอกจากนี้ เมื่อดาวเทียมกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก หลังจากที่หมดอายุลง ไม้จะถูกเผาไหม้หมดไป ซึ่งนั้นทำให้ไม่เกิดขยะหลงเหลืออยู่ในอวกาศ
อ้างอิง : Foxnews.com , BBC.com
You must be logged in to post a comment Login