เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง เผยแพร่ภาพ พรรณไม้เกียรติประวัติไทย หน้าตาน่ารัก มีขนาดเล็ก ที่มีชื่อไม่คุ้นหูมาก่อนว่า “พิศวงไทยทอง หรือ พิศวงตานกฮูก” พรรณไม้ขนาดเท่าหัวไม้ขีด พันธุ์ไม้ถิ่น เดียวของไทย เป็นพืชที่มีความสัมพันธ์กับเชื้อราในดิน และมีระบบนิเวศหรือการดำรงชีวิตอย่างสลับซับซ้อนกับพืชชนิดอื่นๆ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ หรือความสมดุลของป่าแห่งนี้
“พิศวงไทยทอง หรือ พิศวงตานกฮูก”ถูกค้นพบครั้งแรกโดย ดร.กนกอร สีม่วง นักวิจัยมหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมกับ นายสุชาติ จันทร์หอมหวล ช่างภาพอิสระ
ต่อมา รองศาสตราจารย์ ดร.สหัช จันทนาอรพินท์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และดร. สมราน สุดดี นักวิจัยกลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ได้ร่วมกันตีพิมพ์โดยระบุว่าเป็นพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ของโลก ลงในวารสาร Phytotaxa เล่มที่ 333(2) หน้า 287
สำหรับคำระบุชนิด “thaithonggiana” ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่นัก รองศาสตราจารย์ ดร.อบฉันท์ ไทยทอง อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ซึ่งถือเป็นปูชนียบุคคลของวงการพรรณไม้ของไทยตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ เก็บจากดอยหัวหมด จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2557
ทั้งนี้ ดร.กนกอร ศรีม่วง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพะเยา ผู้ค้นพบ ได้ให้ข้อมูลไว้เมื่อตอนค้นพบว่า ตอนแรกยังไม่ทราบว่าเป็นพืชชนิดใด จึงเก็บตัวอย่างและบันทึกภาพ ส่งให้ รศ.ดร.สหัช จันทนาอรพินท์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตรวจสอบ จนกระทั่งทราบว่า เป็นพืชชนิดใหม่ของไทย
“พิศวงตานกฮูก” ที่มีชื่อสามัญเรียกว่า “พิศวงไทยทอง” และชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thismia thaithongiana ซึ่ง “พิศวงไทยทอง” นี้เป็นพืชล้มลุกขึ้นในป่าเต็งรัง บนเขาหินปูน อาศัยรา ลำต้นตั้งตรง มีความสูงไม่ถึง 2 มม. เรียกได้ว่ามีขนาดเล็ก เท่ากับ หัวไม้ขีดไฟ เท่านั้น ออกดอกในช่วงปลายฝน และจะพบได้เฉพาะที่ดอยหัวหมด ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จังหวัดตาก มีสถานภาพเป็นพันธุ์ไม้ที่ใกล้สูญพันธุ์
พืชชนิดนี้ เป็นพืชที่มีความสัมพันธ์กับเชื้อราในดิน และมีระบบนิเวศหรือการดำรงชีวิตอย่างสลับซับซ้อนกับพืชชนิดอื่นๆ ซึ่งแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ หรือความสมดุลของป่า
ซึ่งในอนาคตจะได้มีศึกษานิเวศวิทยาของพืชชนิดนี้ ว่ามีความเกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ อย่างไร รวมไปถึงพิศวงตัวอื่นๆ ในสกุลนี้ด้วย
ซึ่งความสัมพันธ์กับพืชชนิดอื่น อาจจะซ่อนอยู่ในพืชชนิดนี้ ที่ยังคงทำให้เราแปลกใจ ประหลาดใจ และเป็นปริศนา สมดังชื่อประจำสกุล “พิศวง”
ที่มา : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง – Umphang Wildlife Sanctuary
ที่มา : สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช
ภาพ : นายสุชาติ จันทร์หอมหวล ช่างภาพอิสระ