Connect with us

Blog

ทำไมเราจึงควรตัดต้นไม้ใหญ่เพื่อนำไปใช้ประโยชน์

Published

on

ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมามีการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้รับจากการปลูกต้นไม้ใหญ่ ทั้งประโยชน์ทางตรงจากการใช้เนื้อไม้ ดอกไม้ ผลไม้ สารสกัดจากต้นไม้ และประโยชน์ทางอ้อม ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ความสวยงามเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ การบรรเทาความรุนแรงจากภัยธรรมชาติ ไปจนถึงบทบาทในการปรับปรุงสภาพแวดล้อม ดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดอุณหภูมิ ดูดซับสารพิษต่าง ๆ ทำให้คนทั่วไปเกิดเข้าใจ ความตระหนัก และหวงแหนต้นไม้ใหญ่ในวงกว้าง จนเกิดกระแสการอนุรักษ์ คัดค้านการตัดต้นไม้ใหญ่ตามสถานที่ต่าง ๆ ให้เห็นอยู่เสมอ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันการปลูกต้นไม้ใหญ่ในเมืองหรือโครงการต่าง ๆ ส่วนมากมักเป็นการปลูกครั้งเดียวแล้วเลี้ยงต้นไม้ไปจนกว่าจะตายจากกันโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์จากต้นไม้นั้นได้อย่างเต็มที่ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นการอนุรักษ์ที่ไม่เต็มประสิทธิภาพก็คงจะไม่ผิดนัก การจะพูดคุยกันในประเด็นนี้คงต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจให้ตรงกันเสียก่อนว่าคำว่าอนุรักษ์หมายถึงอะไร

คำว่าอนุรักษ์ หากแปลตรงตัวจะหมายความว่ารักษาให้คงเดิม แต่หากแปลคำว่าอนุรักษ์ตามหลักวนศาสตร์แล้ว นิวัติ เรืองพานิช (2546 : 16) ได้กล่าวไว้ว่า “การอนุรักษ์ หมายถึง การรู้จักนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด ให้เป็นประโยชน์ต่อมหาชนมากที่สุด สูญเสียน้อยที่สุด ใช้ได้นาน และต้องกระจายการใช้ประโยชน์ให้ทั่วถึงกันโดยถูกต้องตามกาลเทศะด้วย” ดังนั้นการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ จึงควรพิจารณาในเรื่องของประโยชน์ที่ได้รับและการสูญเปล่าควบคู่ไปกับระยะเวลาที่ต้นไม้มีการเจริญเติบโตด้วย จึงจะเป็นการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนที่จะยังประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างครบถ้วน บทความนี้จึงเป็นการชี้ชวนให้อนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่กันอย่างสร้างสรรค์ โดยสามารถตัดฟันต้นไม้ใหญ่เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางตรงได้ ซึ่งมิเพียงแต่จะได้รับประโยชน์จากการใช้เนื้อไม้แล้ว หากมีการจัดการต่อเนื่องที่ดียังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และสารพิษต่าง ๆ ได้ดีอีกด้วย 

การจะพิจารณาตัดฟันต้นไม้มาใช้สักต้นหนึ่งนั้น จำเป็นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ต้นไม้มีทั้งส่วนที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต เรียกว่ามวลสถิต (Static mass) และมวลจลน์ (Dynamic mass) คำว่ามวลสถิตหมายถึง มวลของต้นไม้ที่เป็นส่วนที่ตายแล้ว ทำหน้าที่รับน้ำหนักต้นไม้ใหญ่ให้ยืนต้นมั่นคงแข็งแรงอยู่ได้ ได้แก่ส่วนแก่นของลำต้น กิ่ง และราก ส่วนมวลจลน์ในที่นี้หมายถึง มวลของต้นไม้ที่ยังมีชีวิตและมีการพัฒนาเจริญเติบโตต่อไปได้ตลอดเวลา อาทิ ใบ กิ่งอ่อน ส่วนรอบนอกของลำต้น รากฝอย รากขนอ่อน ซึ่งต้นไม้ใหญ่เมื่อยังอยู่ในวัยอ่อน (Juvenile stage) จะมีมวลจลน์ในสัดส่วนที่มากกว่ามวลสถิต ส่วนต้นไม้ที่โตเต็มที่แล้วสัดส่วนของมวลสถิตจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นไปตามอายุ และพอถึงช่วงที่ต้นไม้แก่อาจมีมวลสถิตมากถึง 90 – 95% (เดชา บุญค้ำ, 2543 : 47-48) หากทำการสังเกตให้ดี ต้นไม้ในวัยอ่อนมักจะมีใบขนาดใหญ่และมีใบมาก สำหรับการสังเคราะห์แสงนำผลผลิตไปใช้เร่งสร้างมวลเพื่อการเจริญเติบโต เมื่อต้นไม้โตเต็มที่แล้ว (Mature state) ต้นไม้จะไม่จำเป็นต้องมีการสังเคราะห์แสงจำนวนมากเพื่อการเจริญเติบโตอีก คงต้องการเพียงพลังงานเพื่อการดำรงชีวิตอยู่เท่านั้น เราจึงเห็นต้นไม้ใหญ่ที่โตเต็มที่แล้วมีขนาดใบที่เล็กลงและมีทรงพุ่มที่โปร่งมากขึ้น แม้ไม่ต้องคำนวณอัตราการสังเคราะห์แสงของพืชเป็น ก็สามารถบอกได้โดยคร่าวจากขนาดและความหนาแน่นของใบว่าต้นไม้ต้นนั้นเป็นวัยอ่อนหรือวัยแก่ มีประสิทธิภาพในการสังเคราะห์แสงมากหรือน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าอัตราการหายใจ การดูดซับสารพิษ ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ การผลิตออกซิเจน การลดอุณหภูมิใต้ต้น ฯลฯ ล้วนสัมพันธ์กับกระบวนการสังเคราะห์แสงทั้งสิ้น นั่นหมายความว่าต้นไม้ใหญ่ในวัยอ่อนมีความสามารถในการดูดซับสารพิษและลดอุณหภูมิของพื้นที่มากกว่าต้นไม้ใหญ่ที่โตเต็มที่แล้วเมื่อเปรียบเทียบในปริมาตรของทรงพุ่มที่เท่ากัน การตัดต้นไม้ใหญ่ที่โตเต็มที่ออกไปแล้วปลูกต้นไม้ใหญ่ในวัยอ่อนทดแทน จึงอาจเป็นทางเลือกที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและส่งเสริมสุขภาวะของมนุษย์ได้มากขึ้น แล้วเรายังได้เนื้อไม้ดี ๆ มาไว้ใช้งานหรือสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง

ต้นสักวัยอ่อน
ต้นสักเมื่อโตแล้ว (สังเกตขนาดของใบ)
ต้นยางนาวัยอ่อน
ต้นยางนาเมื่อโตแล้ว (สังเกตความโปร่งของทรงพุ่ม)

การปลูกต้นไม้ใหญ่ย่อมมีความเพิ่มพูนผลผลิตทางด้านเนื้อไม้ให้มีมูลค่ามากขึ้นตามกาลเวลาที่ผ่านไป จนหลายคนเลือกที่จะลงทุนซื้ออนาคตกับการปลูกต้นไม้ใหญ่ ซึ่งต้นไม้แต่ละชนิดจะมีรอบการตัดฟันที่แตกต่างกันออกไปตามอัตราการเจริญเติบโต ไม้บางชนิดอาจตัดฟันขายเนื้อไม้ได้ในระยะเวลา 4 ปี แต่บางชนิดอาจต้องรอมากกว่า 20 ปี เพื่อให้เนื้อไม้มีแก่นที่สวยงามและได้ราคาดี แต่ถ้าถึงเวลาที่ต้นไม้โตเต็มที่แล้วไม่ตัดฟันไปขายต้นไม้ก็จะเหมือนระเบิดเวลาที่จะรอวันโค่นล้มลงและตายจากไปในวันหนึ่ง มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เคยเพิ่มพูนตามกาลเวลาก็จะสูญเปล่าไป เพราะเมื่อต้นไม้มีมวลสถิตเป็นจำนวนมาก ย่อมมีโอกาสสูงในการผุจากการโจมตีของเชื้อรา โรค แมลง ที่เข้ามาทางปากแผลหรือในบริเวณที่ไม่มีมวลจลน์ปกป้องได้มากขึ้น ส่งผลให้ต้นไม้ค่อย ๆ ผุเป็นโพรงใหญ่ขึ้น ๆ จนลำต้นสูญเสียการรับแรงและโค่นล้มลงในที่สุด ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นก็แทบไม่เหลือเนื้อไม้ดี ๆ ไว้ให้ใช้แล้ว ซ้ำร้ายยังมีความเสี่ยงต่อความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนด้วย ดังนั้นการตัดฟันเนื้อไม้มาใช้เมื่อถึงเวลาอันควรก็เปรียบเสมือนการเก็บผลไม้ตอนสุกงอมดี ถ้าเก็บก่อนหน้านี้ก็เปรี้ยว ฝาด ไม่อร่อย หรือเก็บหลังจากนี้ก็จะร่วงหล่นเน่าเสียไปสิ้น ซึ่งคงไม่มีเกษตรกรคนใดปลูกไม้ผลเพื่อให้ลูกมันสุกงอมเน่าเสียจนสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้เป็นแน่ อย่างไรก็ตามการจะตัดฟันต้นไม้ใหญ่นั้นควรพิจารณาให้รอบคอบในทุกด้าน เพราะต้นไม้ใหญ่บางต้นจำเป็นที่จะต้องได้รับการอนุรักษ์เอาไว้คู่บ้านคู่เมือง เป็นสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ หรือเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนที่มีความเชื่อ หรือความผูกพันกับต้นไม้ใหญ่ต้นนั้น เช่นนี้ก็ควรอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมคุณค่าของต้นไม้ใหญ่ในอีกบทบาทหนึ่ง 

ดังนั้นการปลูกต้นไม้เพื่อตัดฟันตอนที่เนื้อไม้ยังมีคุณภาพดีอยู่ จึงไม่ใช่การกระทำที่ผิดเสมอไป หากแต่เป็นการสร้างพลวัตน์และโอกาสให้ไม้รุ่นถัดไปเจริญเติบโตทดแทนในเวลาที่เหมาะสม โดยจะสามารถเอื้อประโยชน์ต่อสภาพแวดล้อมได้มากกว่าการเก็บต้นไม้เดิมไว้จนโค่นล้มตายไปตามธรรมชาติ ซึ่งในเชิงการจัดการสามารถออกแบบการปลูกและการตัดฟันเป็นระยะ (Phasing design) เพื่อให้มีต้นไม้ใหญ่สร้างร่มเงาเป็นพี่เลี้ยงแก่ไม้เล็กที่ปลูกใหม่ และให้ร่มเย็นแก่พื้นที่ได้มากเพียงพอต่อการใช้งานของมนุษย์อยู่เสมอ คราวนี้นอกเหนือจากการปลูกต้นไม้เพื่อความสวยงาม ร่มรื่นแล้ว จะบริหารจัดการแบบนี้ยังเป็นการลดความเสี่ยงจากการโค่นล้มของต้นไม้ใหญ่ ได้รับประโยชน์จากเนื้อไม้ และยังประสิทธิภาพในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นได้อีกด้วย

.

เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปารณ ชาตกุล

ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการวิเคราะห์ภูมิภาค เมือง และสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์ (RUBEA)คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

.

รายการอ้างอิง

เดชา บุญค้ำ. (2543).  ต้นไม้ใหญ่ในงานก่อสร้างและพัฒนาเมือง.  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

นิวัติ เรืองพานิช. (2556). ป่าและการป่าไม้ ในประเทศไทย.  กรุงเทพฯ : กองทุนจัดพิมพ์ตำราป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Click to comment

You must be logged in to post a comment Login

Leave a Reply

Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: