Connect with us

Blog

พืชพรรณ: เอกลักษณ์ท้องถิ่นไทยที่มักใช้กันผิด ๆ

Published

on

ปัจจุบันแนวคิดการวางผังเมืองตามทฤษฎี Image of the city ได้แผ่ขยายไปสู่การออกแบบและวางผังเมืองในระดับภูมิภาคทั่วประเทศไทย ซึ่งแนวความคิดในการสร้างจุดหมายตา (Landmark) เป็นแนวคิดหนึ่งในทฤษฎีดังกล่าวที่ได้รับการตอบรับอยู่เสมอ เพราะแสดงถึงเอกลักษณ์ของพื้นที่ได้ง่าย ผู้มาเยี่ยมเยือนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ก่อสร้างได้ทันที และในระดับท้องถิ่นอาจทำได้โดยใช้งบประมาณไม่มากนัก ซึ่ง Landmark ในประเทศไทยมีทั้ง Landmark ที่มีมาแต่เดิมเชิงประวัติศาสตร์ การสร้างขึ้นมาเนื่องจากความศรัทธาและวัฒนธรรม และการสร้างจุดเด่นเพื่อเป็นเอกลักษณ์ขึ้นมาใหม่

            อย่างไรก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่นักออกแบบมักมองข้ามไปเสมอคือเรื่องของต้นไม้ แท้จริงแล้วการสร้างเอกลักษณ์โดยอาศัยต้นไม้ที่มีความเก่าแก่ มีขนาดใหญ่โต หรือมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เป็นพิเศษ มีการใช้งานเพื่อเป็นจุดเด่นในพื้นที่มานานแล้ว อาทิ ต้นสักที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จังหวัดอุตรดิตถ์ ต้นกระบากใหญ่สูง 50 เมตร จังหวัดตาก ต้นจามจุรียักษ์ จังหวัดกาญจนบุรี ต้นตะเคียนทองเก่าแก่อายุกว่า 500 ปี จังหวัดระยอง ฯลฯ ซึ่งต้นไม้เหล่านี้มักเป็นต้นไม้ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมาเป็นระยะเวลาช้านาน แต่ในกรณีที่พื้นที่ไม่ได้มีต้นไม้ที่มีความโดดเด่นระดับที่จะสร้างเอกลักษณ์ได้ ก็อาจมีการพิจารณาไปถึงชนิดของต้นไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ตัวแทนของแต่ละสถานที่ แทนที่จะเป็นต้นไม้ที่เป็นจุดเด่นเพียงต้น หรือกลุ่มเดียว แต่กลับเป็นการปลูกต้นไม้ชนิดเดียวกันจำนวนมากเพื่อสร้างเอกลักษณ์ จะพบว่าในระดับโลก เมื่อพูดถึงต้นมะพร้าว เรามักจะนึกถึงฮาวายหรือชายหาดริมทะเล ต้นซากุระ เราจะนึกถึงประเทศญี่ปุ่น ต้นอินทผลัม ก็อาจจินตนาการไปถึงภูมิประเทศแถบตะวันออกกลางที่แห้งแล้งกึ่งทะเลทราย หากพูดถึงในระดับประเทศไทย เราอาจนึกถึงต้นมะพร้าวที่เป็นตัวแทนของเกาะสมุย ต้นตาลกับท้องนาเพชรบุรีหรือริมทะเลสาบสงขลา ต้นยางนากับถนนเชียงใหม่-ลำพูน กะหล่ำปลีของภูทับเบิก จังหวัดเพชรบูรณ์ หรือแม้แต่การกำหนดต้นไม้ให้เป็นสัญลักษณ์ประจำองค์กร ส่งเสริมให้มีการปลูกเป็นจำนวนมากก็เป็นการสร้างเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่เช่นกัน

ต้นจามจุรียักษ์ หนึ่งใน Landmark ที่เป็นต้นไม้ใหญ่ของจังหวัดกาญจนบุรี
ต้นตาลกับท้องนา เอกลักษณ์ของพื้นที่เกษตรกรรมรอบทะเลสาบสงขลา

ที่ผ่านมาการสร้าง Landmark เป็นวิธีการนำเสนอเอกลักษณ์ของพื้นที่ที่ได้ผล แต่การสร้างเอกลักษณ์ของพื้นที่อันที่จริงแล้วไม่จำเป็นต้องสร้าง Landmark เสมอไป การนำต้นไม้เพียงชนิดเดียวมาเป็นตัวแทนของสถานที่ก็เปรียบเสมือนการสร้าง Landmark อีกวิธีหนึ่ง แต่เป็นการสร้าง Landmark ในขนาดพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งการใช้ต้นไม้ในลักษณะนี้ในเชิงภูมิสถาปัตยกรรมอาจเป็นดาบสองคม หากเป็นพืชพรรณชนิดเดียวที่กระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ เช่น ต้นตาดที่หุบป่าตาด จังหวัดอุทัยธานี ต้นชะโนดที่ป่าคำชะโนด จังหวัดอุดรธานี ป่าเต่าร้างยักษ์อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน หรือต้นเสม็ดขาว สวนพฤกษศาสตร์ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง ฯลฯ นับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ทางธรรมชาติของพื้นที่ที่มีความยั่งยืนและควรส่งเสริม แต่ถ้าเป็นการเน้นปลูกต้นไม้เพียงชนิดเดียวขึ้นใหม่ เช่น ต้นไม้นำเข้าจากต่างประเทศที่ให้ดอกสวยงามเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี อาจให้ผลกระทบที่ดีในเชิงเศรษฐกิจแต่ในทางกลับกันธรรมชาติอาจไม่ได้อะไรกลับคืนไปเท่าที่ควร ทั้งในแง่ของการอยู่อาศัยและอาหารของสัตว์ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการควบคุมการระบาดของโรคและแมลง นอกเหนือจากประเด็นเชิงธรรมชาติแล้ว ยังมีประเด็นปัญหาการใช้ต้นไม้กับเรื่องอัตลักษณ์ขององค์กรเข้ามาเกี่ยวข้องเช่นกัน บางแห่งอาจมีการหลีกเลี่ยงการปลูกต้นไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ขององค์กรอื่น หรือมีการสนับสนุนให้ปลูกเฉพาะต้นไม้ที่สร้างเอกลักษณ์ขององค์กรตนเองเท่านั้น การนำองค์ประกอบที่เป็นธรรมชาติมากำหนดอัตลักษณ์ตามเขตพื้นที่การปกครอง ลักษณะนี้จะทำให้พื้นที่เสียโอกาสในการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ และโอกาสการสร้างสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์จากต้นไม้พื้นถิ่นที่มีคุณค่าไป

การพิจารณาสร้างเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ผ่านคำว่าสังคมพืช (Plants community) จึงน่าจะถูกนำมาพิจารณาแทนที่การสร้างเอกลักษณ์ใหม่ด้วยต้นไม้ที่พิเศษเพียงต้นเดียว หรือต้นไม้ที่สร้างความโดดเด่นเพียงชนิดเดียว เพราะสังคมพืชเป็นการที่พืชหลากหลายชนิดอยู่อาศัยร่วมกันในสภาพแวดล้อม เกื้อกูลกันอย่างยั่งยืน มีความหลากหลายทางชีวภาพ ความมากมายของแต่ละสายพันธุ์ มีช่วงอายุที่หลากหลาย และมีความเพิ่มพูนของผลผลิตอย่างต่อเนื่อง สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม บางครั้งคนในพื้นที่อาจมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาเพราะเห็นสังคมพืชแบบนี้เป็นปกติวิสัยในทุกวัน แต่อัตลักษณ์ดังกล่าวอาจมีความพิเศษที่ทำให้ผู้มาเยี่ยมเยือนจากต่างถิ่นให้ความสนใจ และเป็นสภาพแวดล้อมที่แสดงถึงตัวตน หรือสามารถสอดประสานกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของพื้นที่นั้น ๆ ด้วย

ป่าเต่าร้างยักษ์ท่ามกลางสังคมพืชป่าดิบเขา พืชถิ่นเดียวที่เป็นเอกลักษณ์ของอุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน

ดังนั้น การปรับทัศนคติด้วยการค้นหาอัตลักษณ์ใหม่อย่างยั่งยืนของแต่ละพื้นที่จึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างเอกลักษณ์ ซึ่งสามารถทำได้โดยการศึกษาสภาพแวดล้อมและสังคมพืชที่เหมาะสมสำหรับแต่ละพื้นที่ ค้นหาและคัดเลือกพืชพรรณพื้นถิ่น เพื่อสร้างเอกลักษณ์บนพื้นฐานของความยั่งยืนที่ต้องให้พืชพรรณต่าง ๆ เจริญเติบโตต่อไปได้ด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีการดูแลรักษามากนัก และเป็นการส่งเสริมเอกลักษณ์ที่สำคัญทางธรรมชาติทั้งในระดับเมือง และระดับภูมิภาค ซึ่งการสร้างเอกลักษณ์จากลักษณะทางสภาพแวดล้อมนี้มีผลกระทบไปไกลและลึกซึ้งกว่าการสร้างLandmark เพื่อการรับรู้ แต่ในกรณีนี้จะเป็นการสร้างเอกลักษณ์ของบรรยากาศที่เหมาะสมเชิงนิเวศวิทยาในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาคและภูมิลักษณ์ หากมีการปล่อยวางการยึดติดกับภาพลักษณ์หรือเอกลักษณ์ประจำพื้นที่ที่มีการสร้างขึ้นแต่เดิม ปล่อยให้ธรรมชาติเป็นผู้ชี้นำ ไม่แน่ว่าวันหนึ่งสังคมพืชตามธรรมชาติอาจเป็นปัจจัยที่ช่วยในการสร้างและกำหนดขอบเขตที่ว่างต่าง ๆ ของเมืองและภูมิภาค เป็นตัวแปรหนึ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นอันดับต้น ๆ และให้ความสำคัญเหนือกว่าการสร้างเอกลักษณ์ไปตามขอบเขตพื้นที่เชิงการปกครองอย่างที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน

.

เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปารณ ชาตกุล

ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการวิเคราะห์ภูมิภาค เมือง และสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์ (RUBEA)

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Click to comment

You must be logged in to post a comment Login

Leave a Reply

Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: