วิกฤติหนักหมอนยางพารา จากผลกระทบโควิด-19 จีนตลาดหลักยกเลิกออร์เดอร์ ค้างสต๊อกอื้อ จำใจขายราคาทุน
สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก สังกัดการยางแห่งประเทศไทย อ.รัษฎา จ.ตรัง ซึ่งเป็นสหกรณ์รายเดียวในจังหวัดที่แปรรูปน้ำยางพาราเป็นหมอนยางพารา เพื่อจำหน่ายภายในประเทศ และส่งออกไปต่างประเทศ เปิดเผยว่าลูกค้าทั้งคนไทย และต่างชาติ ได้สั่งยกเลิกออร์เดอร์ที่สั่งซื้อ นับตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังเกิดสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะลูกค้าประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลัก ทำให้มีหมอนยางพาราค้างอยู่ในสต๊อกขณะนี้รวมประมาณ 3,700 ใบ มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท
นายมนัส หมวดเมือง ผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก กล่าวว่า เดิมสหกรณ์ผลิตหมอนยางพาราไม่พอส่งขาย โดยเฉพาะยอดสั่งซื้อจากประเทศจีน ที่มีเข้ามาเดือนละ 4,000 ใบ แต่นับตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา ถูกยกเลิกใบสั่งซื้อทั้งหมด นับเป็นวิกฤติที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ตั้งโรงงานมา ทั้งจากปัญหาเชื้อโควิด และเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำมาก จนแปรรูปอะไรมาก็ส่งจำหน่ายไม่ได้ ทำให้คนงานที่มี 6 คน ขณะนี้ไม่มีงานทำ และอาจจะหมุนเวียนกันมาทำงาน เฉพาะช่วงที่มีคนสั่งซื้อที่นอนยางพาราเข้ามาเท่านั้น แต่ก็น้อยมาก เพราะต่างประสบปัญหาเดียวกันคือ ลูกค้ายกเลิกออร์เดอร์ ทำให้ต้องสลับกันมาทำงาน
ทั้งนี้ โรงงานผลิตหมอนยางพาราทั่วประเทศ ที่มีกว่ากว่า 40 แห่ง ต่างประสบปัญหาเช่นเดียวกันทุกแห่ง โดยส่วนตัวมองว่า แม้ในวันข้างหน้าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ปัญหาของผู้ประกอบการหมอนยางพาราก็ยังคงมีอยู่ต่อ เพราะลูกค้าเดิมที่ซื้อไป ก็ต้องจำหน่ายของเดิม หรือบางรายก็ขาดทุนไปแล้ว ไม่มีเงินมาซื้อใหม่ ทางออกคือ จะต้องหาตลาด หาลูกค้าใหม่ แต่ก็ไม่ทราบว่าจะทำได้รวดเร็วแค่ไหน เพราะทุกคนก็ประสบปัญหาเดียวกัน โดยเฉพาะตลาดส่งออกจีน โดยอาจต้องหาผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ หรือทำสินค้าตัวใหม่ออกมาขาย
จากปัญหาดังกล่าวนี้ สหกรณ์ผู้ผลิตหมอนยางในสังกัด กยท.ได้พยายามเสนอเรื่องไปยัง กยท.เพื่อขอความช่วยเหลือ โดย กยท.ก็รับปากว่าอาจจะช่วยเหลือ โดยใช้วิธีรับจำนำหมอนยางพาราไว้ในราคาใบละ 200 บาท ซึ่งหากสหกรณ์มีลูกค้าสามารถขายได้ในราคาที่สูงกว่า ก็นำไปขายได้ แต่ขณะนี้ทาง กยท.ตรัง และ กยท.ส่วนกลาง ก็ยังเงียบ ยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้อย่างใด
นอกจากนั้น ส่วนตัวก็ได้ทำหนังสือไปยังจังหวัดตรัง ทั้งผ่านสหกรณ์จังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด และสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เพื่อขอให้ช่วยเหลือด้วยการจัดหาพื้นที่จำหน่าย ซึ่งสหกรณ์ก็พร้อมจะขายสินค้าที่มีอยู่ในสต๊อกทั้งหมด และยอมขาดทุน ในราคาต้นทุน คือ ใบละ 350 บาท จากราคาขายเดิม 550 บาท หรือหากเป็นราคาส่ง จะขายในราคาใบละ 280 บาท เพื่อนำเงินมาหมุนเวียน
ข้อมูลจาก Postoday
#TOJONEWS #โตโจ้นิวส์
You must be logged in to post a comment Login