Culture & Art
21 สิงหาคม 2454 ภาพเขียน โมนาลิซ่า ถูกขโมยไปจากพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ของฝรั่งเศส
Published
3 ปี agoon
ข่าวการหายไปของภาพวาด ได้รับความสนใจไปทั่วโลก โดยภาพเขียนโมนาลิซ่า
ได้สูญหายไร้ร่องรอยไปเป็นเวลานานกว่า 2 ปี จึงมีเบาะแสให้ติดตาม
ภาพวาด โมนาลิซา หรือคนฝรั่งเศสรู้จักกันดีในชื่อ ลา ฌอกงด์ (La Joconde)
ส่วนคนอิตาลีเรียกว่า ลา โจกอนดา (La Gioconda) เป็นภาพวาดเขียนด้วยสีน้ำมัน
มีขนาด สูง 77 เซนติเมตร กว้าง 53 เซนติเมตร
ว่ากันว่า ระหว่าง ค.ศ.1503-1505 ดาวินชี่ ได้วาดภาพหญิงสาวชาวอิตาเลียนชื่อ โมนาลิซ่า
หรือชื่อจริงคือ ลิซา เดล โจคนโด (Lisa del Giocondo) เป็นภริยาพ่อค้าไหม ผู้มั่งคั่งแห่งฟลอเรนซ์
ดาวินชี่ วาดภาพเธอแบบครึ่งตัว วางใบหน้าหันมามองผู้วาด ขณะที่ลำตัวเอี้ยวเล็กน้อย
มือและแขนซ้ายวางบนพนักเก้าอี้ ทับไว้ด้วยมือขวา ด้านหลังเป็นภาพทิวทัศน์แถบเมืองมิลานหรืออิตาลีภาคเหนือ
อารมณ์ที่ปรากฏในภาพเขียนโมนาลิซ่า ทำให้เกิดการตีความในหลายมุมมอง ทั้งดูเหงา ดูเศร้า
ดูสงบเสงี่ยมเจียมตัว รอยยิ้มอมตะที่มุมปาก ซ่อนความนัยไว้มากมาย
และดวงตาซึ้งๆคู่นั้น ดูเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง
ภาพเขียนที่มองแล้วเกิด มิติ หลายมุมมองแบบนี้ เป็นเทคนิคพิเศษของดาวินชี เรียกว่า สฟูมาโต
(Sfumato มาจากภาษาอิตาลีsfumare) เป็นการใช้เทคนิคเรื่อง แสง ร่วมกับการใช้ สี ในภาพวาด
ทำให้เกิด มิติ ในภาพ เป็นอัจฉริยะภาพของ ดาวินชี่ ในการนำหลักการของ วิทยาศาสตร์
มาประยุกต์ใช้ในงาน ศิลปะ เป็นเทคนิคที่แตกต่างจากช่างวาดคนอื่นๆในสมัยเดียวกัน
ดาวินชี่ วาดภาพโมนาลิซ่า ในขณะที่อาศัยอยู่ ณ นครฟลอเรนซ์ อันเป็นที่พำนัก จนถึงปี ค.ศ.1508
ผู้ครองนครมิลานคนใหม่ เป็นชาวฝรั่งเศส ได้ชักชวนให้ไปเป็นช่างวาดหลวงประจำราชสำนักมิลาน
ค.ศ.1506 พระเจ้าฟรานซิสที่ 1 แห่งฝรั่งเศส เชื้อเชิญให้ดาวินชี่ไปวาดภาพให้พระองค์
โดยพระราชทานสตูดิโอที่ทำงานในคฤหาสถ์หลังย่อม ที่ โคล ลูเซ่ ใกล้พระราชวัง ปราสาทอัมบัวส์
ก่อนที่ดาวินชีจะเสียชีวิตในปี ค.ศ.1519 เขาได้มอบภาพวาดส่วนตัว ให้ผู้ช่วยชื่อ ซาลาย ต่อมา
พระเจ้าฟรานซิสที่ 1 ได้ทรงซื้อภาพ โมนาลิซ่า ต่อมาจาก ซาลาย ในราคา 4,000 เอกุส
(เงินสกุลฝรั่งเศสสมัยนั้น) พระเจ้าฟรานซิสที่ 1 โปรดภาพนี้มาก
โปรดให้แขวนภาพไว้ในคอลเลกชั่นส่วนตัว ณ พระราชวังฟองเตนโบล
ภาพเขียน โมนาลิซ่า จึงถือว่าเป็นสมบัติของกษัตริย์ฝรั่งเศส ผ่านไปยังกษัตริย์องค์ต่อๆมา
ภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส พระเจ้านโปเลียนที่ 1 โปรดให้ย้ายภาพไปประดับไว้ที่พระราชวังตุยเลอรีส์
และที่พระราชวังลูฟวร์ ในท้ายที่สุด
วันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม ปี ค.ศ. 1911 ภาพเขียน โมนาลิซ่า ได้หายไปจากที่จัดแสดง
วันนั้นเป็นวันปิดทำการ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ยังไม่มีใครรู้ระแคะระคาย ต่างคิดกันว่าภาพถูกนำไปซ่อมแซม
กว่าพิพิธภัณฑ์จะรู้ตัวว่า ภาพเขียน โมนาลิซ่า ถูกขโมยก็ผ่านไปหนึ่งวันเต็มๆ สื่อต่างประโคมข่าว
พาดหัวกันเอิกเกริกว่า “ภาพเหมือนบุคคลที่ยอดเยี่ยมที่สุดแห่งวงการศิลปะได้ถูกขโมยไปแล้ว”
เป็นที่สนใจของสาธารณชนกันอย่างล้นหลาม ผู้คนจำนวนมากยอมลงทุนไปยืนมองกำแพง
และขาตั้งซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของภาพเขียนโมนาลิซ่า ยอดผลงานเขียนของยุคเรเนสซองส์
48 ชั่วโมง หลังภาพโมนาลิซ่าหาย จากการรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส
ก่อให้เกิดกระแสโมนาลิซ่า ฟีเว่อร์ ไปทั่วโลก จากการปลุกกระแสของสื่อ
ทำให้ราคาภาพโมนาลิซ่าพุ่งกระฉูด ในโลกนักค้าของเก่า มีข่าวเล่าลือหลายกระแสทำนองว่า
ภาพโมนาลิซ่าตกไปอยู่ในการครอบครองของราชวงศ์มั่งคั่ง ข่าวการจับแพะรับบาป
กระทั่งมีข่าวว่า มีการทำลายภาพเขียนทิ้งไปแล้ว
มีข่าวลือว่า ผู้อยู่เบื้องหลังใบสั่งโจรกรรมภาพโมนาลิซ่า เรียกกันในวงการว่า ซินญอเร่
เป็นมหาเศรษฐีเชื้อสายสเปน-อาร์เจนติน่า เดิมทีมีคนรับงาน 2 คน คนแรกคือ เปรูจา ช่างไม้ชาวอิตาเลียน
และเพื่อนชื่อ วินเซนต์ ทั้งคู่ทำงานอยู่ที่ลูฟวร์ รู้ช่องทางหนีทีไล่ในพิพิธภัณฑ์เป็นอย่างดี
แต่กระแสโมนาลิซ่า ฟีเว่อร์ เป็นแรงกดดันทำให้ ซินญอเร่ ผู้จ้างวาน ไม่กล้ารับมอบภาพจากหัวขโมย
แต่ก็ยอมจ่ายเงินให้ 1 ใน 3 ตามเงื่อนไข
เปรูจา ยังทำงานต่อเพื่อรอคำสั่ง “มอบภาพ” และรับเงินค่าจ้างก้อนสุดท้าย แต่เมื่อเวลาผ่านไปเป็นปี
ก็ไม่มีวี่แววข่าวจากผู้จ้างวาน เปรูจา ตัดสินใจหอบภาพเขียนเดินทางกลับบ้าน นครฟลอเรนซ์ อิตาลี
ในเดือนกันยายนปีเดียวกันระหว่างที่ตำรวจสืบสวนคดีโจรกรรม ได้เชิญทั้งปาโบล ปิกัสโซ่ (Pablo Picasso)
ศิลปินชื่อดังชาวสเปนซึ่งพำนักอาศัยอยู่ในฝรั่งเศสเวลานั้น รวมถึง
กิโยม อปอลลิแนร์ (Guillaume Apollinaire) ศิลปิน นักประพันธ์ กวี และนักวิจารณ์ศิลปะชื่อดังของฝรั่งเศส
ก็ต้องตกเป็นผู้ต้องสงสัยเช่นเดียวกัน ด้วยความที่ ทั้งสองอยู่ในกลุ่มพวกโมเดิร์นนิสต์ ศิลปินรุ่นใหม่
ที่ต่อต้านงานศิลปะในยุคเก่า ก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัวในภายหลัง
เนื่องจากขาดหลักฐานที่จะเอาผิดทั้งสองได้
2 ปี 4 เดือน 18 วัน หลังจากภาพเขียนโมนาลิซ่าได้หายสาปสูญไปอย่างไร้ร่องรอย
เรื่องมาแดงเอาในเดือนพฤศจิกายน 1913 (พ.ศ. 2456) เมื่อมีคนใช้ชื่อปลอมเรียกตัวเองว่า
ลีโอนาร์โด วินเซนโซ่ (Leonardo Vincenzo) เขียนจดหมายไปหา อัลเฟรโด เจรี (Alfredo Geri)
ซึ่งเจ้าของแกลลอรี่ชื่อ อุฟฟิซี (Uffizi) และเป็นนายหน้าค้าขายงานศิลปะ ในนครฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี
เพื่อเสนอขายภาพเขียนหายาก โดยโฆษณาสรรพคุณว่า ภาพเขียนดังกล่าว เป็นสมบัติล้ำค่าของคนอิตาลี
แถมคุยโอ่ด้วยความภาคภูมิใจว่า เขาเป็นผู้ที่นำภาพเขียนชื่อดัง โมนาลิซ่า กลับมายังถิ่นกำเนิดในอิตาลีได้
โดยขอสินน้ำใจเล็กน้อยสัก 5 แสนลีร์ สำหรับเป็นค่าตอบแทนการปฏิบัติภารกิจเพื่อชาติในครั้งนี้
เมื่อตกลงกันเป็นที่เรียบร้อย วินเซนโซ่ ก็นั่งรถไฟมายังนครฟลอเรนซ์ในเดือนธันวาคม เมื่อเขาเอาภาพมาให้ดู
เจ้าของแกลลอรี่รายนี้จึงแจ้งแก่ วินเซนโซ่ ว่าให้ทิ้งภาพไว้ที่แกลเลอรี เพื่อรอให้ผู้เชี่ยวชาญมาพิสูจน์ให้แน่ชัด
เมื่อผลการพิสูจน์ออกมาว่าภาพวาดเป็นของจริง อัลเฟรโด จึงวางแผนตลบหลัง โดยการโทรแจ้งตำรวจ
ให้มาจับกุมตัว วินเซนโซ จึงถูกจับกุมตัวได้ในที่สุด
และเมื่อตำรวจอิตาลีได้สอบปากคำผู้ต้องหา ก็พบว่า ผู้ก่อเหตุอุกอาจครั้งนี้ ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นคนงานเก่าของ
พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ โดยหนุ่มอิตาเลียน รายนี้ มาทำงานในกรุงปารีสเมื่อปี 1908 มีชื่อว่า วินเซนโซ เปรูจา
(Vincenzo Peruggia) โดยทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ติดตั้งกระจกครอบรูป โมนาลิซา เปรูจา อ้างว่าโมนาลิซา
เป็นผลงานของอิตาลี สมควรกลับมาพำนักในบ้านเกิด เขาเป็นเพียงผู้รักชาติชาวอิตาลี
ที่ต้องการทวงสมบัติของชาติคืนเท่านั้น
แต่ข้ออ้างดังกล่าวฟังไม่ขึ้น เพราะ โมนาลิซ่ามา อยู่ในฝรั่งเศสตั้งแต่ภาพยังไม่เสร็จ จึงถือเป็นสมบัติของฝรั่งเศสตั้งแต่ต้น เปรูจา ยังให้การในทำนองว่า การรักษาความปลอดภัยของ พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ค่อนข้างหละหลวม
ภาพเขียน โมนาลิซ่า ติดตั้งไว้โดยมีขาเกี่ยวยึดกับกำแพงอย่างง่าย ๆ แถมไม่มีรั้วกั้น
รายละเอียดจากคำให้การของ เปรูจา ถึงวิธีการนำภาพเขียนออกจากพิพิธภัณฑ์ เริ่มจาก เปรูจา มาทำงานในวันอาทิตย์ตามปรกติ หลังเลิกงานก็ซ่อนตัวอยู่ในตู้เก็บของ และออกมาจากที่ซ่อน ในเช้าวันจันทร์
ซึ่งเป็นวันหยุดของ พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ปลอดคน ปลอดยาม แต่วันจันทร์เป็นวันที่เปิดให้คนงานเข้าไปซ่อม
ปรับปรุงพื้นที่ จึงอาศัยโอกาสนี้ ใช้ความคุ้นเคย เดินมายกภาพวาดจากกรอบและงัดภาพวาดออกมา ฅ
จากนั้นจึงเดินออกจากพิพิธภัณฑ์พร้อมภาพวาด ที่ซ่อนไว้ในเสื้อโค้ตยาวโดยไม่มีคนสงสัย
ก่อนที่จะนำไปซ่อนไว้ในลังไม้สำหรับเก็บข้าวของส่วนตัว ในห้องเช่าราคาถูกกลางกรุงปารีส
จอมโจรผู้ขโมยภาพเขียน โมนาลิซาถูกตัดสินให้รับโทษจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน
ท่ามกลางเสียงชื่นชมของกลุ่มชาตินิยมชาวอิตาลี
จากการตรวจสอบหลักฐานของเจ้าหน้าที่ ก็ไปพบสมุดจดบันทึกของ เปรูจา ปรากฏว่าเขาจดชื่อ
ของบรรดานักสะสมที่มีศักยภาพพอจะซื้อภาพของเขาได้หลายคน มีทั้งชาวอเมริกัน ชาวเยอรมันและชาวอิตาลี
ที่ดังๆ ก็มี จอห์น ดี. ร็อคกีเฟลเลอร์ , เจ.พี. มอร์แกน และแอนดรูว์ คาร์เนกี้ และก่อนหน้าที่เขาจะติดต่อกับ
อัลเฟรโด เจรี ก็พบว่าเขาก็เคยติดต่อนายหน้าหลายคน ทั้งในลอนดอน ปารีส และเนเปิ้ล
ส่วนภาพเขียน โมนาลิซ่า รัฐบาลอิตาลี นำมาเปิดแสดงให้ชาวอิตาลีชม แล้วก็ส่งคืนให้ฝรั่งเศส ในวันที่ 4 ม.ค.1914 วันแรกในการเปิดให้ชม มีชาวฝรั่งเศสเบียดเสียดกันไปเข้าคิวดูถึง 1 แสนคน และชื่อของ โมนาลิซ่า
ก็โด่งดังเป็นที่กล่าวขานไปทั่วโลก มานับตั้งแต่บัดนั้น
เมื่อภาพเขียน โมนาลิซ่า กลับมายังพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ การรักษาความปลอดภัยจึงถูกปรับเปลี่ยน
ตัวกรอบภาพเขียน ถูกผนึกติดกับกำแพง พร้อมรั้วกั้น ไม่ให้เกิดเหตุโจรกรรมเลียนแบบอีก
แต่ภาพเขียน โมนาลิซา ก็ไม่ใช่ภาพเขียนที่ทุกคนจะชื่นชอบ เคยมีคนพยายามใช้คัตเตอร์กรีดรูป
จึงมีการนำกระจกมาติดตั้งเพื่อป้องกันภาพเขียน
หลังจากนั้น ก็ยังมีเหตุระทึกกับภาพวาดชิ้นนี้ถึงสองครั้งในปี 1956 ครั้งแรก ชายคนหนึ่งสาดน้ำกรดใส่รูปภาพ
แต่โชคดีที่มีกระจกกันไว้ ครั้งที่สองเกิดในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ชายชาวโบลิเวียคนหนึ่ง
ขว้างหินใส่รูปภาพเต็มแรงจนกระจกแตก สีบริเวณข้อศอกซ้ายของโมนาลิซา หลุดล่อนไปเล็กน้อย
หลังจากนั้นมา พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ก็หันมาใช้กระจกกันกระสุนป้องกันภาพเขียน โมนาลิซ่า แทน
ข้อมูลจาก
- ปฏิบัติการโจรกรรม…ภาพโมนาลิซ่า (thairath.co.th)
- โมนาลิซา – วิกิพีเดีย (wikipedia.org)
- Mona Lisa: The theft that created a legend – CNN
- เรื่องจริงของ จอมโจรคนแรกและคนเดียวในประวัติศาสตร์ ที่ขโมยภาพวาด “โมนาลิซ่า” ได้สำเร็จ (flagfrog.com)
- ตำนานโจรข้ามชาติ หนุ่มอิตาเลียนบุกฉกภาพเขียนโมนาลิซา ถึงพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (silpa-mag.com)
- วิบากกรรมอลเวงของภาพวาดระดับโลก ‘โมนาลิซา’ (gypzyworld.com)
- [Timeless History (ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา)] “Mona Lisa” กับตำนานการขโมยภาพเขียนระดับโลก (blockdit.com)
You must be logged in to post a comment Login