Connect with us

News

เช็กรายละเอียด หมอ เตือน! ใครเสี่ยงมะเร็งปอด ให้ตรวจคัดกรอง หากพบระยะ1-2 สามารถรักษาได้

Published

on

หมอ เตือน PM 2.5 เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปอด คำตอบที่ดีที่สุดคือ การคัดกรอง ยิ่งตรวจพบเร็วยิ่งรักษาได้ทัน

ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า อ.นพ.ศุภฤกษ์ เจียรผัน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

การคัดกรองมะเร็งปอด

กลัวเป็นมะเร็งปอด ใช่มั้ยครับ
เราต้องคัดกรองมะเร็งปอดกัน ดูจากสถานการณ์อากาศของบ้านเรา คิดว่าคงจะต้องเจอปัญหา PM 2.5 กันไปอีกนาน

คิดตามสามัญสำนึก ปอดเราเป็นหน้าด่านที่อากาศจะต้องเข้าไปฟอกเลือดเก่า เอาของเสียออก แลกเปลี่ยนก๊าซให้เลือดมีอ๊อกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ
ดังนั้นปอดจึงเป็นอวัยวะแรกที่ต้องเจอกับสิ่งอันตราย ทำให้เซลล์ปอดถูกทำร้ายซ้ำซ้อน จนเกิดเป็นมะเร็งขึ้นมาได้

และยังมีการศึกษาหลายๆชิ้นที่บ่งบอกว่า ค่า PM 2.5 มีความเกี่ยวข้อง เพิ่มอัตราการเกิดมะเร็งปอดของเราอย่างชัดเจน

ความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่นี้ เน้นย้ำให้ป้องกันการเกิดโรค ดีกว่าเป็นแล้วค่อยหาทางรักษา

แต่สำหรับมะเร็งปอดการป้องกันคงทำได้ยากเพราะเราต้องหายใจตลอดเวลา โดยเฉพาะอยู่ในภูมิภาคที่อากาศเป็นเช่นนี้

ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดตอนนี้คือทำอย่างไรเราถึงจะเจอเร็วที่สุด เพราะยิ่งพบเร็ว ยิ่งมีโอกาสรักษาหายขาดได้ โดยเฉพาะมะเร็งปอดระยะต้นๆ (ระยะที่ 1-2)

คำตอบที่ดีที่สุดที่ทำได้ขณะนี้ คือ การคัดกรองมะเร็งปอดครับ

ซึ่งการคัดกรองที่ดีและแม่นยำในปัจจุบันคือการทำเอ๊กซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT นั่นเองครับ สำหรับคัดกรอง การทำเอ๊กซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำและไม่ต้องฉีดสารทึบรังสีทางหลอดเลือด หรือ Low dose CT ก็เพียงพอครับ สามารถเห็นจุดหรือฝ้าในปอดที่มีโอกาสเป็นมะเร็งได้ดีเลย ซึ่งจะมีความละเอียดกว่าการใช้ X-ray ปอดแบบปกติแน่นอนครับ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็น Low dose CT ( LDCT) ก็มีข้อเสียคือ การได้รับปริมาณรังสีเข้าร่างกายเช่นกัน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ได้รับปริมาณรังสีสะสมในร่างกายและเกิดอันตรายในอนาคตได้

ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้คนทุกคนทำนะครับ แต่จะแนะนำให้ทำในเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอด ซึ่งก็คือ “การคัดกรอง” นั่นเอง

ทีนี้ใครบ้างล่ะครับ ที่มีความเสี่ยง

ของประเทศไทยเราเองยังไม่มีการกำหนดชัดเจนเป็นวาระแห่งชาติ แต่จะอ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลรักษาในสาขาเกี่ยวกับมะเร็งปอด และข้อมูลจากต่างประเทศที่มีการกำหนดนโนบายการคัดกรองมะเร็งปอดไว้แล้ว

หลักๆเลยคือ
1.สูบบุหรี่
2.ญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง สายเลือด
เดียวกัน)เป็นมะเร็งปอด หรือมะเร็งชนิดอื่นๆ
3.เคยเป็นมะเร็งชนิดอื่นๆมาก่อน
4.ทำงานที่เกี่ยวข้องกับสารก่อมะเร็ง
5.ช่วงอายุที่เยอะขึ้น

ทีนี้ตัวเลขและข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนสำหรับทางฝั่งยุโรป อเมริกา และเอเชียเราต่างกันพอสมควรครับ
สรุปมาให้พิจารณาหลักๆ 4 ประเทศครับ คือ อเมริกา อังกฤษ ส่วนเอเชียที่ระบบคัดกรองดีมากๆๆ คือไต้หวันและเกาหลีใต้ครับ

ของอเมริกา แนะนำให้ทำ Low dose CT เมื่อ

-ช่วงอายุ 50-80 ปี ที่สูบบุหรี่ 20 pack-year
และยังคงสูบอยู่หรือหยุดสูบมาไม่เกิน 15 ปี ก็มีความเสี่ยงต้องคัดกรอง (จำง่ายๆว่า A 50-80-20-15 )

[ 1 pack-year = สูบบุหรี่ 1 ซอง (มี 20 มวน) ต่อวันเป็นเวลา 1 ปี (365 วัน) หรือเท่ากับสูบ 7,300 มวน ต่อปี ถ้า 20 pack -year ก็คูณอีก 20 เท่ากับ ปีนึงสูบ 146,000 มวน!!! ]
(อ้างอิง : JAMA. 2021;325(10):962-970.
https://www.uspreventiveservicestaskforce.org/home/getfilebytoken/WN7F3WW6RQFDkHay87a3Dx )

ส่วนของอังกฤษกรองเยอะกว่า โดยรัฐบาลเพิ่งประกาศเมื่อ มิถุนายน 2023 ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยแนะนำให้ทำ low dose CT หมด ถ้า
-อายุระหว่าง 55-74 ปี และ
-ยังสูบบุหรี่ หรือเคยสูบมา
เพราะจากการเก็บข้อมูลพบว่า สามารถคัดกรองเจอมะเร็งปอดระยะต้นจาก LDCT ถึง 76% !!!!
ซึ่งระยะต้นก็หมายถึงมีโอกาสรักษาหายขาดได้นั่นเอง ลองคิดดูสิครับว่าสามารถช่วยรักษาชีวิตคนได้เท่าไหน
(อ้างอิง : https://www.cancerresearchuk.org/health-professional/cancer-screening/lung-cancer-screening)

มาฝั่งเอเชียบ้างครับ อันนี้จะมีเรื่องของผู้ไม่สูบบุหรี่มาเกี่ยวข้องเยอะเลย
ประสบการณ์ส่วนตัวผมเองก็เช่นกัน ในคนไทยเราเจอคนที่เป็นมะเร็งปอด ที่ไม่สูบบุหรี่เยอะครับ ของผมเองพบประมาณ 70 % เลยทีเดียว

เริ่มที่ฝั่งเกาหลีใต้ก่อนครับ

เกาหลีใต้เป็นประเทศแรกๆเลยที่นำ LDCT เข้ามาทำการคัดกรองมะเร็งปอดเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2019 (จากการศึกษา K-LUCAS) โดยแนะนำว่า

-คนที่อายุ 54-74 ปี ที่สูบบุหรี่ตั้งแต่
30 pack-year ขึ้นไป ควรมาทำการคัดกรอง
-แต่ไม่ได้กล่าวถึงกลุ่มความเสี่ยงอื่นๆครับ

ปรากฏว่าก็ได้คัดกรองเจอมะเร็งปอดเยอะจริงๆ แต่ก็มีข้อเสียคือ พบกลุ่มคนไข้ที่มีก้อนในปอดแต่ไม่ใช่มะเร็งปอด(เป็นก้อนติดเชื้ออื่นๆ เช่น วัณโรคปอดที่สร้างแผลเป็นในปอด เป็นต้น) ต้องทำการผ่าตัดปอดเกินจำเป็นไป หรือเรียกว่า ได้รับการวินิจฉัยเกินกว่าเหตุ (over diagnosis) เป็นต้น

และเมื่อปีที่แล้ว มีการเก็บข้อมูลทั้งประเทศมาวิเคราะห์ โดยคนที่ได้รับการคัดกรอง โดย LDCT ช่วงอายุ 20-39 ปี จำนวนทั้งสิ้น 6,891,614 คน
พบคนที่เป็นมะเร็งปอดระยะต้นๆในช่วงอายุน้อยๆ ถึง 4,684 คน โดย 2,585 คน (55.2%) ไม่สูบบุหรี่!!!!

(อ้างอิง : https://www.e-epih.org/upload/pdf/epih-45-e2023101.pdf )

ส่วนไต้หวัน อีกประเทศที่มีระบบคัดกรองมะเร็งปอดที่ดี อันนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่มชัดๆเลยครับ โดยแนะนำว่า

1.กลุ่มที่มีประวัติครอบครัวสายตรงเป็นมะเร็ง
ปอด ควรทำ LDCT กรณี
-ผู้ชายตั้งแต่อายุ 50-74 ปี
-ผู้หญิงตั้งแต่ 45- 74 ปี
ที่ผู้หญิงต้องคัดกรองขณะอายุน้อยกว่า เพราะพบว่าผู้หญิงที่เป็นมะเร็งปอดถึง 90% เป็น non smoker คือไม่มีประวัติสูบบุหรี่ !!!

2.กลุ่มที่สูบบุหรี่ แนะนำที่อายุ 54-74 ปี ที่สูบบุหรี่ตั้งแต่ 30 pack-year ขึ้นไป ทั้งคนที่ยังสูบอยู่ หรือหยุดแล้วแต่หยุดมาน้อยกว่า 15 ปี โดยไม่แยกหญิงชาย
(อ้างอิง https://ascopost.com/issues/november-25-2023-supplement-iaslc-highlights/taiwan-national-lung-cancer-early-detection-screening-program-targets-smokers-and-nonsmokers-with-family-history/ )

ส่วนไทยเรายังไม่มีระบบคัดกรองมะเร็งปอดที่เป็นวาระระดับชาติ แต่จากข้อมูลที่กล่าวไปทั้งหมด ประสบการณ์ส่วนตัวที่แนะนำคือ

-กลุ่มแรกคนที่สูบบุหรี่จัดตั้งแต่ 20 pack-year ขึ้นไป ทั้งยังสูบอยู่ หรือหยุดแล้วแต่หยุดมาน้อยกว่า 15 ปี ควรมาคัดกรองโดย Low Dose CT chest ตั้งแต่อายุ 50-80 ปี ครับ
-กลุ่มที่สองที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งปอด ควรตรวจที่อายุน้อยลงมาอีกโดยเฉพาะผู้หญิงครับ ผมแนะนำเหมือนกลุ่มไต้หวัน คือ ผู้ชายตั้งแต่อายุ 50-74 ปี ,ผู้หญิงตั้งแต่ 45- 74 ปี

แต่ถ้ามีประวัติแรงมาก คือมีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอดหลายคนหรือเป็นตั้งแต่อายุน้อยๆ ควรรีบมาตรวจหน่อยครับ (คนไข้ผมที่เป็นมะเร็งปอดระยะที่สองโดยบังเอิญพบจาก x-ray ปอด และมีประวัติครอบครัวแรงๆ เป็นผู้หญิงอายุ 24 ปีเองครับ!!!)

-อีกกลุ่มคือผู้อาศัยในสภาพแวดล้อมอากาศแย่ๆ ทำงานปนเปื้อนสารเคมีก่อมะเร็ง หรืออยู่ในบริเวณที่อากาศแย่มาก ค่า PM 2.5 สูงๆแดงๆ ม่วงๆ ตลอด มาคัดกรองดีกว่าครับ มีหลักฐานทางวิชาการบ่งบอกว่า PM2.5 เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปอดโดยเฉพาะผู้ที่มียีนส์กลายพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งปอด (EGFR,KRAS)
( ที่มา: https://www.facebook.com/share/p/7FqL3SMUHxMmtaFb/?mibextid=WC7FNe)

ที่พูดมาไม่ได้ขู่ให้กลัวนะครับ แต่เป็นข้อมูลจริงๆจากที่ดูแลคนไข้มา ผมเองก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยเราจะมีนโยบายแห่งชาติสนับสนุนการคัดกรองมะเร็งปอดอย่างเป็นรูปธรรมในเร็วๆนี้
แต่สำหรับตอนนี้ ถ้าใครที่สามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองโดย LDCT ได้แบบไม่เดือดร้อนก็ไม่อยากให้เสียโอกาสครับ

สำหรับใครที่อยากทราบข้อมูลค่าใช้จ่ายจริงๆ เท่าที่ทราบมา LDCT ราคาจะประมาณ ขึ้นกับแต่ละโรงพยาบาลครับ 3 พันกว่าๆ ไปจนถึงหมื่นกว่าๆเลย

สรุปเลยนะครับ เล่ามายาว มะเร็งปอดรักษาได้ครับ ถ้ายิ่งระยะแรกๆยิ่งผลการรักษาดี อย่างน้อยป้องกันไม่ได้ ด้วยปัจจัยที่เราคุมไม่ได้
แต่เจอเร็ว พบเร็ว ด้วยการคัดกรองที่มีคุณภาพ
เจอมะเร็งปอดระยะต้นๆ มีโอกาสหายขาดสูงครับ

หวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ครับ ส่งต่อข้อมูลได้เลยนะครับ บอกพ่อแม่ บอกเพื่อน บอกญาติพี่น้อง
ถ้าใครอ่านเจอบทความนี้แล้วไปตรวจคัดกรองเจอแล้วรักษาหายขาดได้ เท่านี้ผมก็ดีใจมากๆแล้วครับ

#เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: