เชื่อว่าช่วงนี้หลายคนกำลังจับตาดูสถานการณ์น้ำในประเทศไทย ว่ามีโอกาสจะเกิดอุทกภัยที่สร้างความเสียหายมากน้อยแค่ไหน และจะเกิดขึ้นในบริเวณใดบ้าง ทำให้ย้อนนึกไปถึงเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2554 ที่สร้างความเสียหายในวงกว้าง เมืองน้ำหลากเข้าท่วมเมือง และท่วมขังเป็นระยะเวลานาน จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีประเด็นให้ขบคิดกันมากมาย หนึ่งในหลากหลายเรื่องที่ทำให้นักออกแบบวางผังต้องหันกลับมาสนใจรายละเอียดกันอย่างจริงจังก็คือเรื่องพืชพรรณ
จากวิกฤติการณ์น้ำท่วมใน พ.ศ.2554 มีหลายพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังนานนับเดือน เมื่อน้ำลดลงจึงพบว่าต้นไม้ใหญ่ไม่รอดชีวิตและยืนต้นตายเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องย้อนกลับมาพิจารณาการเลือกใช้พืชพรรณที่มีความยืดหยุ่นสูงเหมาะสมกับเมืองใหญ่ที่มีสภาพแวดล้อมแตกต่างไปจากธรรมชาติดั้งเดิม
ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีกฎหมายควบคุม และแนวคิดในการจัดการพื้นที่สีเขียวสำหรับเมืองเกิดขึ้นมากมาย แต่ต้องยอมรับว่าพื้นที่สีเขียวเหล่านั้นทดแทนธรรมชาติดั้งเดิมไม่ได้ทั้งหมด พื้นที่สีเขียวในเมืองส่วนหนึ่งอาจเป็นการอนุรักษ์รักษาของเดิมไว้บางส่วน ในขณะที่ส่วนหนึ่งเป็นการก่อสร้างพื้นที่สีเขียวขึ้นใหม่ และทั้งหมดอยู่ภายใต้ขนาดพื้นที่ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ระบบการหมุนเวียนพลังงานและการจัดการภูมิอากาศในระดับจุลภาคย่อมมีลักษณะที่แตกต่างจากธรรมชาติดั้งเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขึ้นชื่อว่าเมืองแล้ว การก่อสร้างอาคาร ถนน รวมถึงพื้นที่รองรับกิจกรรมต่าง ๆ ของคนเมืองที่เป็นโครงสร้างและพื้นที่ดาดแข็ง ล้วนส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม ทั้งลักษณะความลึกและประเภทของดินที่ใช้ปลูกต้นไม้ อุณหภูมิเมือง ทิศทางแดด ลม ฝน รวมไปถึงคุณภาพของอากาศ ต้นไม้จะต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างวิกฤตเมื่อเทียบกับการเจริญเติบโตในพื้นที่ธรรมชาติ ดังนั้นการการพิจารณาในคัดเลือกชนิดของต้นไม้ จึงควรเป็นต้นไม้ที่มีความทนทานต่อทุกสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะพืชพรรณที่มีคุณสมบัติทนแล้ง ทนน้ำท่วม อดทดต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ มีความยืดหยุ่นสูง สมควรจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
สภาพพื้นดินหลังเกิดน้ำท่วมขังเป็นเวลาประมาณ 2 เดือน
จากการสำรวจพื้นที่ประสบอุทกภัยครั้งที่ผ่านมาพบว่าพืชพรรณหลายชนิดที่รอดจากภาวะน้ำท่วมขังและเป็นพืชพรรณที่มีความทนทานสูง อาทิ แปรงล้างขวด ทรงบาดาล ขี้เหล็กอเมริกัน กระถินณรงค์ ถึงแม้ว่าพืชพรรณเหล่านี้มีความทนทานต่อความเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมได้ดี แต่พืชพรรณเหล่านี้เป็นไม้นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งอาจมิได้เอื้อประโยชน์ต่อสัตว์ท้องถิ่นเท่าใดนัก หากมีการใช้พืชพรรณเหล่านี้อย่างแพร่หลายต่อไปเราอาจได้เพียงแต่ประโยชน์จากต้นไม้สีเขียว และสมบัติการช่วยปรับปรุงสภาพแวดล้อมของต้นไม้ แต่จะไม่ได้ประโยชน์ต่อสัตว์พื้นถิ่นและระบบนิเวศของประเทศไทยเท่าที่ควร
การศึกษาไม้พื้นถิ่นที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล จำเป็นต้องย้อนกลับไปพิจารณาธรรมชาติของสังคมพืชดั้งเดิมของประเทศไทยว่ามีสังคมพืชใดบ้างที่มีต้องเผชิญกับภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรงในรอบปี
สังคมพืชแบบ ป่าบึงน้ำจืดหรือป่าบุ่ง-ทาม (Freshwater swamp forest) เป็นสภาพป่าไม้ที่น่าศึกษาและนำมาประยุกต์ใช้ สังคมพืชแบบป่าบึงน้ำจืดพบเห็นได้ตามที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสะแกกรัง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี แม่น้ำตาปี โดยพื้นที่ดังกล่าวจะมีทั้งส่วนที่เป็นแอ่งน้ำขัง (บุ่ง) และพื้นที่ดอนที่มีต้นไม้ขึ้นเป็นป่า (ทาม) สังคมพืชชนิดนี้จะมีน้ำท่วมขังเป็นประจำจากการเอ่อล้นของแม่น้ำในฤดูน้ำหลาก ซึ่งอาจท่วมอยู่เป็นเวลานาน ในขณะจำเป็นต้องมีความทนทานต่อความแห้งแล้งในฤดูแล้งด้วย พืชพรรณใหญ่น้อยในป่าชนิดนี้จึงมีความยืดหยุ่น อดทนต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมสูง เมื่อพิจารณาชนิดของต้นไม้ใหญ่ในป่าบึงน้ำจืดแล้วนำมาเปรียบเทียบกับพืชพรรณที่รอดชีวิตจากอุทกภัยพบว่าตรงกัน ซึ่งหลายชนิดได้รับความนิยมในการใช้งานทางภูมิสถาปัตยกรรมอยู่ก่อนแล้ว อาทิ กระโดน พะยอม กันเกรา จิกสวน ชุมแสง เฉียงพร้านางแอ (มั่งมี) อินทนิลน้ำ หว้า ข่อย และยังมีอีกหลายชนิดที่มีคุณสมบัติดังกล่าว แต่ยังไม่มีการใช้อย่างแพร่หลายในงานออกแบบ เช่น กระเบาใหญ่ กระทุ่มบก กระทุ่มน้ำ กุ่มบก กุ่มน้ำ สะแกนา สนุ่น จันทน์กะพ้อ กรวยสวน ส้านน้ำ คาง ฯลฯ
มองกลับมา ณ ปัจจุบัน
ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ผู้ออกแบบควรย้อนกลับมามองพืชพรรณท้องถิ่นที่มีศักยภาพดี ๆ ของประเทศไทย แล้วประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม แทนที่การเลือกใช้แต่พืชพรรณต่างถิ่นที่มีขายในท้องตลาด สุนทรียภาพ (Aesthetics) จากพืชพรรณอาจมิได้มาจากดอกไม้และความสวยงามเพียงอย่างเดียว หากมาจากความอุดมสมบูรณ์ สุขภาพดี มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เอื้อเฟื้อต่อสรรพสัตว์ต่าง ๆ มีเรื่องราว และยังเสริมสร้างเอกลักษณ์ของประเทศไทยได้อย่างที่ไม่มีชาติใดเสมอเหมือน
—————————————————————————————————————–
เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปารณชาตกุล
ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการวิเคราะห์ภูมิภาค เมือง และสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์ (RUBEA)คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
—————————————————————————————————————–
รายการอ้างอิง
ธวัชชัย สันติสุข. (2549). ป่าของประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สำนักหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.
You must be logged in to post a comment Login