Connect with us

On this day

๑ พฤศจิกายน ๒๔๓๒ วันก่อตั้งสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

Published

on

สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาเป็นโรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกใน ประเทศไทย
ก่อตั้งโดยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๓๒ โดยมีชื่อว่า “โรงพยาบาลคนเสียจริต” ตั้งอยู่ที่ปากคลองสาน

โรงพยาบาลคนเสียจริตแรกก่อตั้ง ภาพจาก www.somdet.go.th

โรงพยาบาลคนเสียจริตเดิม ทำการรักษาผู้ป่วยโดยแพทย์ประจำ และแพทย์แผนไทย
ต่อมามีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นประกอบกับสถานที่คับแคบ นายแพทย์ ฮิวจ์ แคมป์เบล ไฮเอต
(Huge Campbell Highet) เจ้ากรมแพทย์สุขาภิบาล กระทรวงนครบาล
ซึ่งถือว่าเป็นผู้อำนวยการคนแรกของโรงพยาบาล ได้เสนอให้รัฐบาลซื้อที่ดิน
และบ้านเดิมของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) หรือเจ้าคุณทหาร
รวมถึงที่ดินของนายเปีย ราชานุประพันธ์ และ ที่ดินใกล้เคียงของราษฎรอื่นๆ รวมเนื้อที่ ๔๔ ไร่ครึ่ง
เพื่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันฯ ในปัจจุบัน
คืออยู่ที่ริมคลองสานด้านตะวันตกตอนใต้ ห่างจากสถานที่เดิมประมาณ ๖๐๐ เมตร

ภาพจาก www.somdet.go.th

การสร้างโรงพยาบาลคนเสียจริต อยู่ภายใต้การควบคุมของพระยาอายุรเวชวิจักษ์ หรือ
หมอเอ็ม.คาธิวส์ (Dr.Modern Cathews)ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้ากรมแพทย์สุขาภิบาล
ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้วางรากฐานโรงพยาบาลจิตเวชให้เป็นแบบตะวันตกอย่างแท้จริง
โดยให้การบำบัดรักษาตามหลักวิชาการในสมัยนั้น พร้อมทั้งให้การดูแลผู้ป่วยด้วยความเมตตา กรุณา
และมีมนุษยธรรม ในด้านสภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลมีความร่มรื่นด้วยไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ไม้ดอก
ไม้ใบสีสวย เรือนผู้ป่วยเป็นห้องมีลูกกรงสายบัว โปร่ง ไม่มีหน้าต่าง หลังคาสังกะสีทาสีแดง
จนในภายหลังต่อมา ประชาชนทั่วไปจะเข้าใจได้ว่า “หลังคาแดง” หมายถึงโรงพยาบาลคนบ้า

ศาสตราจารย์นายแพทย์หลวงวิเชียรแพทยาคม (นายแพทย์เถียร ตูวิเชียร)

      ภายหลังมีแพทย์แผนปัจจุบันคนไทย จบการศึกษามารับราชการแทนชาวต่างประเทศ
คือศาสตราจารย์หลวงวิเชียรแพทยาคม (นายแพทย์เถียร ตูวิเชียร) ได้รับแต่งตั้งให้เป็น
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนแรกซึ่งเป็นคนไทย ท่านได้ไปศึกษาวิชาโรคจิตเพิ่มเติม
ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา ๒ ปี ท่านตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช
จึงได้เผยแพร่ความรู้ทางด้านจิตเวชด้วยการเขียนบทความ บรรยาย ปาฐกถาเพื่อให้ประชาชนเข้าใจ
และเลิกหวาดกลัวผู้ป่วยจิตเวช ท่านได้เปลี่ยนชื่อ “โรงพยาบาลคนเสียจริต” มาเป็น
“โรงพยาบาลโรคจิตต์ธนบุรี” ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เพื่อให้คนทั่วไปไม่ตั้งแง่รังเกียจผู้ป่วยจิตเวช

ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว

ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว เป็นผู้อำนวยการในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๕๐๒
ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งจิตเวชศาสตร์ไทย ท่านได้พัฒนาโรงพยาบาลโดยรื้อลูกกรงเหล็ก
แล้วเปลี่ยนเป็นมุ้งลวดแทน เปลี่ยนชื่อเรือนที่พักของผู้ป่วย เป็นชื่อดอกไม้เพื่อให้มีความหมายน่าชื่นใจ
ในด้านการดูแลผู้ป่วยใช้หลักของความรัก ความเอาใจใส่ประดุจพ่อแม่ดูแลลูก
ในด้านวิชาการท่านเป็นผู้วางรากฐานวิชาจิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิตในการศึกษาก่อนและหลังปริญญา
ท่านได้เปลี่ยนชื่อ ”โรงพยาบาลโรคจิตต์ธนบุรี” มาเป็น “โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา”
ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ตามชื่อของถนนสมเด็จเจ้าพระยาซึ่งผ่านหน้าโรงพยาบาล

ผู้ป่วยโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาในอดีต

โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาให้บริการบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวช ประสาทวิทยา ประสาทศัลยศาสตร์
ประสาทจิตเวชศาสตร์ เป็นสถาบันฝึกอบรมทางด้านจิตเวชศาสตร์ สุขภาพจิต
และศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในระดับก่อนและหลังปริญญา พัฒนางานวิชาการด้านจิตเวชศาสตร์
สุขภาพจิต ประสาทวิทยา ประสาทศัลยศาสตร์ ประสาทจิตเวชศาสตร์
และเพื่อให้สอดคล้องกับหน้าที่และความรับผิดชอบจึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น
“สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา” ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕

ข้อมูลจาก
ประวัติสถาบันฯ (somdet.go.th)

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Click to comment

You must be logged in to post a comment Login

Leave a Reply

Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: