สภาพเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเผชิญกับปัญหาเงินฝืดมานานนับสิบปี โดยที่ราคาสินค้าไม่ขึ้นหรือปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราค่าจ้างในประเทศก็ปรับขึ้นไม่ได้มากนัก ทำให้ผู้บริโภคต้องจับจ่ายใช้สอยอย่างประหยัด และเกิดเป็นผลกระทบต่อเนื่องวนกลับมาเป็นวงจรต่อทุกภาคส่วนทั้งธุรกิจ แรงงานและผู้บริโภค
อีกสาเหตุสำคัญ คือ สภาวะสังคมสูงวัย ญี่ปุ่นคือประเทศที่มีประชากรแก่เร็วที่สุดในโลก โดยเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)” ตั้งแต่ปี 1970 ก่อนจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวในปี 1994 และกลายเป็น “สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society)” คนหนุ่มสาวที่มีกำลังซื้อ และมีความต้องการซื้อกลับมีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ ส่วนคนสูงวัย (ที่มีจำนวนมากขึ้น) มีแค่เงินเก็บและเงินบำนาญ ก็ต้องใช้สอยอย่างประหยัด สถานการณ์เหล่านี้ซ้ำเติมวงจรของภาวะเงินฝืด ที่ทำให้เกิดทัศนคติเงินฝืด ฝังลึกลงไป ซึ่งแก้ไขได้ยาก
สาเหตุเหล่านี้ ทำให้นโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น กดดันค่าเงินเยนอย่างรุนแรง ซึ่งยังคงใช้ดอกเบี้ยนโยบายติดลบ 0.1% และมาตรการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (yield curve control) เพื่อไม่ให้ดอกเบี้ยระยะยาวสูงขึ้นมาก ขณะที่ทั่วโลกเร่งขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้ค่าเงินเยน เสียเปรียบสกุลเงินต่างๆ
อย่าลืมกดติดตาม Tojo News เพื่อพบกับข่าวสาร และบทความใหม่ ๆ จากเรา
Line Today TOJO NEWS , ToJoNews