Connect with us

News

บอม โอฬาร เผยเคล็บลับ “ทำยังไงให้อาชีพเกษตรกร เป็นธุรกิจที่น่าทำ แบบฉบับ YAK GREEN”

Published

on

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566 คุณบอม โอฬาร วีระนนท์ CEO and Co-founder, บริษัท Yak Green (ยักษ์เขียว) และผู้เขียนหนังสือ “คอนเนคชันพันล้าน สานเองได้” ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ CEO VISION PLUS ทาง FM 96.5 ดำเนินรายการโดย คุณวรพงศ์ แจ้งจิตต์ และคุณศลิลนา ภู่เอี่ยม

“คอนเนคชันพันล้าน สานเองได้ แบ่งปันประสบการณ์เพื่อสร้างประโยชน์ให้สังคม”

คุณโอฬาร ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือ “คอนเนคชันพันล้าน สานเองได้” ไว้ว่าเมื่อก่อนเป็นเด็กที่เติบโตมาด้วยทุนการศึกษาขาดแคลน ไม่ได้มีสมบัติอะไร ได้มาทำงานอยู่ที่ตลาดหลักทรัพย์ และทำงานกับผู้คนหลากหลาย คุณโอฬารรู้ว่าเวลาที่คนเราเจอผู้ใหญ่ที่มีฐานะ ประสบความสำเร็จมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการระดับสูง รวมถึงเหล่าผู้บริหาร นักธุรกิจ เจ้าของกิจการ ที่รวยเป็นร้อยล้าน พันล้าน คนส่วนใหญ่จะรู้สึกเกร็ง แล้วรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่า ทำตัวไม่ถูก จนทำให้พลาดโอกาสในการสร้างสายสัมพันธ์ดี ๆ อย่างถูกต้อง

ซึ่งในความจริงแล้วคนเราสามารถดีลได้กับผู้คนทุกระดับได้ ไม่ว่าเราจะเป็นใครก็ตาม ถ้าเรามีทัศนคติที่ถูกต้อง เข้าใจหลักการสร้างสายสัมพันธ์ และฝึกฝนจนเป็นนิสัยและเชี่ยวชาญ ซึ่งในตอนนั้นคุณโอฬารรู้สึกโชคดีที่มีโอกาสในการเจอคนเหล่านั้นมากมาย ทั้งจากการทำงาน กิจกรรมทั้งในและนอกองค์กร เลยทำให้รู้ว่าคนที่ตั้งตัวขึ้นมาเริ่มตั้งแต่ศูนย์จนกลายเป็นร้อย เป็นพันล้านหรือมากกว่านั้น

คนเหล่านี้มีจุดร่วมในเชิงทัศนคติที่คล้ายคลึงกันมาก ได้สัมผัสและเรียนรู้วิธีการสร้างสัมพันธ์กับผู้คนทุกระดับให้ไว้วางใจ และสามารถต่อยอดทั้งในเชิง ชีวิต ธุรกิจ และสังคมร่วมกันได้ในอนาคตอย่างหลากหลาย ใช้ได้จริง จึงนำเรื่องเหล่านี้มาแบ่งปันผ่านหนังสือ “คอนเนคชันพันล้าน สานเองได้” ให้ผู้คนในวงกว้างได้ประโยชน์ เมื่อราวปี 2015 และติดอันดับขายดีอยู่ราว 1-2 ปี ซึ่งคุณบอม โอฬาร ได้ใช้หลักการนี้ ในการต่อยอด และสร้างธุรกิจมากมายในปัจจุบัน ซึ่งทั้ง บจ.ดูเรียน คอร์ปปอเรชัน (DURIAN) และ บจ.ยักษ์เขียว (YAK GREEN) ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เติบโตมาได้ด้วยหลักการนี้เช่นกัน

คุณบอม โอฬาร วีระนนท์ CEO and Co-founder, บริษัท Yak Green

การรวมกันของ “ยักษ์เขียว” เกี่ยวข้องกับเกษตรกรอย่างไร?

คุณโอฬารได้พูดไว้ว่า “ยักษ์เขียว” เป็นหนึ่งในบริษัทในเครือ ของบจ. ดูเรียน คอร์ปปอเรชัน “ยักษ์เขียว” มาจากการที่เราเชื่อมั่น และรู้สึกว่าจริง ๆ ว่า ภาคการเกษตรของไทยเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาประเทศ ไม่ใช่แค่คำกล่าวสวยๆ ว่าชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ แต่ชีวิตชาวนาและเกษตรยังลำบากยากจนอยู่

ประเทศไทยเรา มีพื้นที่การเกษตรราว 149 ล้านไร่ ครอบครัวเกษตรกรมีไม่น้อยกว่า 10 ล้านครอบครัว แต่มีค่าตอบแทนต่อไร่ต่อปีโดยเฉลียเพียง 8,000 บาทต่อไร่ต่อปี ถ้าเราสามารถเพิ่มรายได้เฉลี่ยให้พื้นที่เกษตรทั่วประเทศได้เพียง 1,000 บาทต่อไร่ต่อปี นั่นแปลว่าประเทศไทยจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 150,000 ล้านบาท ถ้าตีเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจคือ 1% GDP และถ้าทำให้เพิ่มขึ้นได้ 10,000 บาทต่อไร่ต่อปีเราจะเพิ่มรายได้ให้ประเทศ 1.5 ล้านล้านบาท หรือราวคือ 10% GDP ทีเดียว หากเรามองภาพเช่นนี้ออกจะเห็นได้ชัดเจนว่าภาคการเกษตร สามารถเป็นแกนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เลย แต่ภาคการเกษตรปัจจุบันกลับเป็นกลุ่มที่รัฐบาลต้องคอยให้เงินช่วยเหลือ (Subsidize) อยู่เสมอซึ่งเราพัฒนาได้ ถ้าเราตั้งใจทำมันอย่างจริงจัง

รายการ CEO VISION PLUS ทาง FM 96.5 ดำเนินรายการโดย คุณวรพงศ์ แจ้งจิตต์ และคุณศลิลนา ภู่เอี่ยม

“Agripreneur ผู้ประกอบการเกษตรมูลค่าสูง คือคำตอบในการพัฒนาภาคการเกษตรไทย”

ในต่างประเทศจะมีคำว่า Agripreneur ที่มาจาก Agriculture และ Entrepreneur รวมกันเป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตร ถ้าเราเปลี่ยนกรอบความคิด เปลี่ยนทัศนคติของผู้คนจาก “เกษตรกร” พัฒนาเค้าให้เป็น “ผู้ประกอบการด้านการเกษตร” และสนับสนุนเป็นระบบทุกอย่างจะเปลี่ยนไปอย่างชัดเจนและรวดเร็ว

รายการนี้คือ CEO VISION จริง ๆ แล้วเป็น CEO ต้องทำอะไร?

CEO ต้องทำ 3 ด้าน คือ ทำเรื่อง คน งาน และเงิน หากเราพัฒนาเกษตรกร ให้เป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตร ก็เหมือนเค้าเป็นนักธุรกิจ เป็น CEO เขาต้องใส่ใจในการบริหารคน ต้องใส่ใจงานว่าทำยังไงให้รายได้เพิ่มขึ้น รายจ่ายลดลง ใส่ใจเงินว่าทำยังไงให้บริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด คือถ้าเราติดองค์ความรู้ให้เกษตรกรอย่างนี้ได้ เราจะไม่ต้องคอยล้างหนี้ แต่เราจะได้นักธุรกิจเกษตร ที่สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศ เพิ่มขึ้นมากมาย และนำเอาความรู้ที่เรามีต่อยอดตลาดให้เขาได้ อันนี้คือจุดเริ่มต้นและความตั้งใจของเราชาว “ยักษ์เขียว”

กลยุทธ์ในการต่อยอดของยักษ์เขียว สู่ตลาดโลก

คุณโอฬารมองว่า “ยักษ์เขียว” เป็นธุรกิจแห่งอนาคตที่สร้างประโยชน์ให้ผู้คนมากมาย และขอให้เครดิต ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ซึ่งถือเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญในการปลดล็อกกฎหมายไม้หวงห้าม ส่งเสริมไม้การปลูกไม้ ป่าไม้เศรษฐกิจ ซึ่งเราคาดการณ์ว่าจะทำให้ผู้คนและประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นนับแสนล้านบาท แต่เมื่อเราสามารถปลูกป่าไม้เศรษฐกิจได้จริง ทำไมโครงการนี้กลับสร้างผลกระทบ (Impact) ได้ไม่เยอะอย่างที่ตั้งใจ เหตุผลง่ายๆ คือชาวบ้านเขารอไม่ได้ สมมุติปลูกไม้เศรษฐกิจให้โตต้องรอ 10 – 20 ปี แต่เขารอไม่ได้ เขาจำเป็นต้องกิน ต้องอยู่ ต้องใช้เงิน ใช้หนี้ ในแต่ละวัน

เมื่อเห็นปัญหาจากการลงพื้นที่และลงมือทำจริง คุณโอฬาร ชาวยักษ์เขียว และพันธมิตร ก็ได้หารือ ระดมความคิดกันว่า มันมีวิธีการไหนไหมที่ทำให้ชาวบ้านเขาได้เงินเลยตั้งแต่วันแรกที่เขาร่วมโครงการ ยักษ์เขียวเลยสร้างรูปแบบธุรกิจที่เรียบง่าย แต่ได้ประโยชน์กับผู้คนทุกภาคส่วน (Stakeholders) ที่สนใจเรื่องการปลูกป่าเพื่อสร้างรายได้ สร้างประโยชน์ให้โลกใบนี้  เช่น หากชาวบ้านมีที่ดินแต่ไม่มีเงิน ชาวบ้านมีความรู้ มีเวลา มีแรง แต่ไม่มีตลาด เราให้ชาวบ้านทำในสิ่งที่ถนัด คือ การปลูกและดูแลต้นไม้ได้ มีพื้นที่ เราเช่า/ซื้อ/จ้างเขาเลย ทำให้เขาได้เงินทันที

และเราชาวยักษ์เขียว ให้การสนับสนุน ช่วยทำในสิ่งที่ชาวบ้านไม่ถนัด และยากสำหรับเค้า เช่น เรื่องกฏหมาย เงินทุน การค้าขายระหว่างประเทศ การดีลสัญญา การวิจัยนวัตกรรม การเข้าใจเรื่องวิทยาศาสตร์การส่งออก ช่วงปลายปีที่ผ่านมา คุณโอฬาร กับเพื่อนๆ CEO ในหลายอุตสาหกรรม ถือเป็นนักธุรกิจกลุ่มแรกของไทย ที่มีโอกาสเดินทางไปเชื่อมสัมพันธ์และต่อยอดธุรกิจกับประเทศซาอุดิอาระเบีย ร่วมกับคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เราเห็นโอกาสมากมายซึ่งต้องขอขอบคุณกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ตลอดจนคณะผู้จัดงานไว้ ณ ที่นี้ด้วย

แต่หากว่าถ้าจะส่งออกไปประเทศซาอุดิอาระเบียจริง ๆ ดูเหมือนง่ายแต่มันไม่ง่าย ทั้งเรื่องกฏหมาย เรื่องเงินทุนที่ต้องใช้ในการจดทะเบียน เรื่องการห้ามขนส่งดินเข้าประเทศ ต้นทุน Logistics ฯลฯ ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่ไม่น้อย และเกินกว่าชาวบ้านจะแบกรับไหว หรือหากส่งไปแล้วนำเข้าประเทศไม่ได้ มีค่าใช้จ่าย ค่าปรับอีกมากมาย ที่ถือป็นความเสี่ยงที่คนทำธุรกิจต้องแบกรับ

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำเราทำในเรื่องที่ชาวบ้านไม่ต้องรับความเสี่ยง พูดง่าย ๆ เรื่องส่งออกเราดูแล เรื่องการเทรดเดอร์เราดูให้ เรื่องวิทยาศาสตร์งานวิจัยปลูกยังไงให้เป็นระบบและส่งออกได้ เขาต้องการพันธุ์ไม้อะไร แบบไหน พันธุ์ไม้เมืองไทยมีจำนวนมาก ถ้าจะไปตะวันออกกลางต้องเป็นไม้อะไร ไปจีนต้นไม้อะไร ถ้าไปอเมริกาต้องเป็นไม้อะไร เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้องค์ความรู้ในเชิงธุรกิจประกอบกับเรื่องอื่น ๆ 

อย่างคุยการเรื่องต้นไม้ระดับโลกไม่ได้คุยกันด้วยภาษาไทย เขาไม่ได้คุยแม้ภาษาอังกฤษ เขาคุยกันภาษาลาติน คุยภาษาลาตินแค่ชื่อสปีชีส์ผิดไป ส่งผิดแบบก็ถูกตีกลับ เรื่องแบบนี้ใครป้องกันความเสี่ยงให้ชาวบ้าน ยักษ์เขียวทำเรื่องนี้ ทำเป็นตัวกลาง แต่ว่าเราประสานงานกับชาวบ้านให้ มีที่ลงที่ มีแรงลงแรง เราลงส่วนที่เขาขาด ทั้งเงิน ความรู้ งานวิจัย ฯลฯ เราทำเรื่องนี้เลย

“หากส่งเสริมด้านการเกษตร และ Agripreneur ไทยจะพัฒนาได้อย่างยั่งยืน”

ในด้านการส่งเสริมของหน่วยงานภาครัฐ  ต่อภาคเกษตรกรรมคุณโอฬารมองเห็นว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่จะมาเป็นรัฐบาลในอนาคต กระทรวงที่สำคัญมาก ๆ ที่สามารถพลิกฟื้นประเทศไทยได้  คือ กระทรวงเกษตรฯ ไม่ว่าเป็นพรรคการเมืองไหนที่เข้ามา ข้าราชการดี ๆ มีเยอะมาก แต่ต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้เค้าทำงาน ยกตัวอย่าง พี่กร ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นข้าราชการที่มีคุณภาพสูงมาก เป็นบุคคลที่พยายามให้องค์ความรู้เรื่องการเกษตรที่ทันสมัยในหลายมิติ ทันโลก ทำงานกับผู้คนมากมาย ในทุกระดับ ทั้งเกษตรรุ่นใหม่ ทำเรื่องการส่งออก ทุเรียนนานาชาติ ทำเรื่องวันดินโลก (World Soil Day) การใช้ดินของในหลวง ร.9 เรื่องการลด PM2.5 จากภาคการเกษตร ฯลฯ ทำเรื่องต่าง ๆ มาเยอะมากเลย แต่ต่อให้ข้าราชการตั้งใจขนาดไหนก็ตาม  ถ้าไม่มีการส่งเสริมอย่างเป็นระบบ จากภาคการเมือง ภาครัฐในภาพรวม ไม่ใช่แค่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง  ยกตัวอย่างการค้าขายไปต่างประเทศในแต่ละครั้ง  กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

คุณระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร
ข้าราชการคุณภาพคับแก้ว ที่คุณโอฬาร วีระนนท์ ให้ความนับถือ

1. กระทรวงพาณิชย์ ต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการคัดกรองคู่ค้า การส่งเสริมสนับสนุน จะทำให้การทำงานง่ายขึ้น เพราะว่า คุยกับระดับรัฐต่อรัฐ กับคุยกันเองB2B คนละระดับ

2. กระทรวงเกษตรที่ต้องประสานกับ ภาคอุตสาหกรรม เช่น หากเราส่งออกต้นไม้ 1,000 ต้น สามารถทำได้ ไม่ยากนัก แต่ถ้าบอกว่าส่งออกล้านต้น กลายเป็นเรื่องที่ใหญ่ขึ้น ต้องใช้ตู้ในการขนส่งกี่ร้อย กี่พันตู้ ทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ฯลฯ และยังเกี่ยวเนื่องกับอีกหลากหลายหน่วยงาน

ยกตัวอย่างประเทศจีน ที่เราเห็นประเทศจีนทำ E-commerce ทำการค้า ข้ามมายังประเทศไทยและทั่วโลก ได้เยอะ ๆ จนสร้างการเติบโตให้ประเทศได้ จริงๆ ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงต่างประเทศ ฯลฯ ของเขาล้วนต้องทำงานร่วมกัน ทำอย่างเป็นระบบ การส่งออกไปต่างประเทศรัฐบาลจีน สนับสนุน (Subsidize) ภาคธุรกิจ ด้วยรูปแบบต่าง ๆ ส่วนใหญ่่ ๆ ต้นทุนการส่งออกสินค้าจากจีนไปอเมริกาถูกกว่าต้นทุนส่งออกสินค้าจากไทยไปเวียดนาม มันเกิดจากการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ เกิดเป็นนโยบายจากคนที่เข้าใจธุรกิจจริง ๆ

โดยคาดหวังอย่างยิ่งว่าเมื่อจบการเลือกตั้ง ไม่ว่าพรรคใดจะมาเป็นรัฐบาลก็ตาม  ควรเห็นความสำคัญกับการสนับสนุนภาคการเกษตรให้เติบโตอย่างยั่งยืน หาใช่เพียงการทำประชานิยมฉาบฉวย ประชากรภาคการเกษตร ที่มีมากกว่า 10 ล้านครัวเรือน รวมหลายสิบล้านคน เราสามารถเพิ่มรายได้ หาเงินเข้าประเทศได้เพิ่ม อย่างน้อย 1-10% ของ GDP เรื่อง Agripreneur หรือผู้ประกอบการด้านการเกษตรมูลค่าสูง ทุกพรรคที่ได้เข้ามาทำงาน ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกรไทย ยกระดับรายได้ของประเทศ

การเลือกตั้งจะทำให้เศรษฐกิจในประเทศดีขึ้น ทุกการเลือกตั้งมีเงินสะพัดอย่างน้อย 5 -7 หมื่นล้าน หรือมากกว่านั้น แต่มันไม่ควรจะเป็นเงินที่นำไปหาเสียงแบบฉาบฉวย แต่ควรเป็นเงินที่ไปช่วยโครงสร้างพื้นฐานในด้านการเกษตรอย่างยั่งยืน คุณโอฬารเผยว่า เคยได้ร่วมพูดคุยหารือกับผู้คน ทั้งนักวิชาการ นักการเมือง และปราชญ์ในหลายวงการ ทั้งภาครัฐและเอกชน เราเห็นชัดเจนว่าประเทศเล็ก ๆ อย่าง เนเธอแลนด์ อิสราเอล หรือแม้กระทั่งญี่ปุ่น เป็นประเทศที่พัฒนาภาคการเกษตรโดยใช้แนวคิด Agripreneur จนสามารถให้ผลตอบแทนต่อไร่ต่อหน่วยสูงกว่าประเทศไทยได้หลายเท่าตัว

หน้าที่ของเราไม่จำเป็นต้องไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ (Re-invent the wheel) เราสามารถไปดูดองค์ความรู้มาได้เลย อย่างเช่น ประเทศจีนพัฒนาประเทศ ทำรถไฟฟ้าความเร็วสูง ไม่ได้หมายความว่าต้องคิดเอง แต่รับองค์ความรู้มาจากประเทศเยอรมัน และประเทศตะวันตกมาก นำมาถ่ายทอดให้ผู้คนของตน จนวันนี้กลายเป็นผู้นำด้วยตนเองไปแล้ว

“นำองค์ความรู้ระดับโลก พัฒนา Agripreneur ไทย ทำได้ ถ้าจะทำจริง”

ในการเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรกรของไทยให้ดีขึ้น ให้เป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตรนั้น คุณโอฬาร วีระนนท์ เสนอแนวคิดในการเชิญผู้ประกอบการเกษตรระดับโลก มาถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง จริงจัง  เพื่อพัฒนาต่อยอพ และสามารถ Customize ให้เป็นเหมาะสมกับประเทศของเราในอนาคต ใช้องค์ความรู้ทั้งศาสตร์พระราชา ปราชญ์ชาวบ้านของประเทศไทย สร้างความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน 

ใช้หลักการ “3 เหลี่ยม เขยื้อนภูเขา” ของอาจารย์หมอประเวศ วะสี มาใช้ กล่าว คือ หาก “ยักษ์เขียว” เราทำเองในภาคเอกชน เราอาจตั้งเป้าหลัก 100 – 1,000 ล้านได้ แต่มันถือว่าเล็กมากถ้าเทียบกับการที่ร่วมทำกับในฝั่งของภาครัฐ เอาแค่ตัวอย่างที่กล่าวไปว่า หากเราเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อไร่ของภาคการเกษตรได้เพียง 1,000 บาท ก็สามารถเพิ่มรายได้ให้ประเทศได้ 150,000 ล้านบาทแล้ว “ยักษ์เขียว” เราไม่ได้ต้องการกินรอบ เราไม่ได้ต้องการรวยคนเดียว ในขณะที่เกษตร และภาคการเกษตรของไทยยังลำบาก ทั้ง ๆ ที่เรารู้และเห็นว่ามันพัฒนาได้ เราต้องการเอาสิ่งที่เราทำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในภาคการเกษตร พัฒนาประเทศไทยให้ดีขึ้น ถ้าชุมชนไหน พรรคการเมืองใด หน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชนไหน อยากทำร่วมกัน คุณโอฬาร และชาวยักษ์เขียว ยินดีเปิดรับพูดคุยเสมอ

“Agripreneur ช่วยสกัดวงจร หนี้ชาตินี้  ใช้ชาติหน้า”

บอม โอฬาร กล่าวว่า หากเราพัฒนาเกษตรกรของไทย ให้เป็นนักธุรกิจเกษตรได้ ตามแนวคิดที่กล่าวมา เราจะสามารถเปลี่ยนภาคการเกษตร จากการเป็นกลุ่มคนที่เราต้องคอยให้เงินอุดหนุนช่วยเหลือ (Subsidize) พัฒนาจนกลายเป็นผู้มีรายได้มากพอ จนสามารถจ่ายภาษี (Taxpayer) นี่คือการพัฒนาแบบก้าวกระโดดจริงๆ

ทุกวันนี้เกษตรกรมีรายได้น้อย พอมีรายได้น้อย รัฐก็ต้องให้เงินอุดหนุน คอยล้างหนี้ให้ เพราะไม่มีเงินใช้หนี้ หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า “เป็นหนี้ชาตินี้ ใช้ชาติหน้า” เช่นรุ่นปู่ย่ากู้ พ่อแม่หาเงินใช้หนี้ ใช้ไม่หมดตกมาถึงรุ่นลูกและรุ่นหลานรับต่อ เรียกกันว่าเป็นหนี้กันทีหลายชั่วคน เกษตรกรในประเทศไทยเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเราทำแบบที่เรากำลังคุยกัน แบบที่ “ยักษ์เขียว” ตั้งใจทำ ในอนาคตเราไม่ต้องSubsidize แล้ว แต่มุ่งเน้นการให้องค์ความรู้ ให้เงินตั้งต้นในการทำธุรกิจ สร้างโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องโลจิสติกส์และการตลาดให้เกษตรกร จากนั้นเมื่อพวกเขามีรายได้มากขึ้น จากรัฐที่ต้องอุดหนุน กลายเป็นประชาชนต้องเสียภาษีที่ได้มาจากการมีกำไร แบบนี้คือไปกลับเราเติบโตขึ้นอีกหลายเท่าตัว แต่ข้าราชการ นักการเมือง รวมทั้งภาคธุรกิจ ที่จะทำได้ ต้องเป็นคนที่มีหัวก้าวหน้า เห็นคนเท่ากัน และเปิดโอกาสให้ผู้คนเติบโตได้อย่างเท่าเทียม


“ประสานสิบทิศ แสวงหาความร่วมมือ สื่อสารและลงมือทำ ความท้าทายที่ต้องผ่านไปให้ได้”

ทั้งยักษ์เขียว (Yak Green) และ ดูเรียน (DURIAN) เชื่อในหลักการลงมือทำ ใครไม่ทำเราทำก่อน ต่อให้รัฐไม่สนับสนุนเลย เราก็เดินหน้าที่จะทำ ซึ่งเป็นการเดินที่สำเร็จมาระดับหนึ่งแล้ว แต่ความสำเร็จของเราเมื่อเทียบกับภาครัฐ เราอาจจะเป็นแค่หัวเข็มหมุดเล็ก ๆ สิ่งที่ภาครัฐควรส่งเสริม คือ การเอาเรื่องของคนที่ทำได้สำเร็จมาเรียนรู้ ขยายผล ทำซ้ำ สร้างวงจรแห่งความสำเร็จในวงกว้างให้ใหญ่ขึ้น

โดยคุณโอฬาร และยักษ์เขียว เริ่มแล้ว ทั้งในการใช้พื้นที่ปลูกในประเทศไทย และหาโอกาสในประเทศต่างๆ สาเหตุสำคัญคือเรื่องต้นทุนต่างกันหลายเท่า หลายอย่างทำในประเทศเพื่อนบ้านเราต้นทุนต่ำกว่ามาก แต่ต่อให้เป็นอย่างนี้ ก็ยังอยากจะทำธุรกิจที่ประเทศไทย หากรัฐบาล นักการเมือง และข้าราชการไทยยังไม่เริ่มพัฒนาอย่างจริงจัง จะส่งผลให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น ทั้ง ๆ ที่เขาชอบประเทศไทย ไม่ใช่คนไทยไม่ดีหรือไม่เก่ง แต่การทำธุรกิจสิ่งสำคัญ คือ ทำอย่่างไรให้รายได้เพิ่มขึ้น และบริหารต้นทุนให้ลดลง ตอนนี้ต้นทุนในประเทศไทยแพงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยนโยบายประชานิยมแบบไม่ลืมหูลืมตา ทั้งส่วนมากเป็นประชานิยมที่ทำโปรยผิว ไม่เป็นประชานิยมที่ทำให้ฐานรากของประเทศดีขึ้น อันนี้ถือเป็นความท้าทาย ที่เราทุกคนต้องก้าวผ่านไปให้ได้จริง ๆ

“นายทุนไทย และการผูกขาดทางธุรกิจ มองพลิกมุม ก็โตไปด้วยกันได้”

ในมุมมองของคุณบอม โอฬาร วีระนนท์ เห็นว่า ไม่มีนายทุนคนใด สามารถผูกขาดตลาดได้แต่เพียงผู้เดียว ต่อให้เป็นทุนใหญ่ของประเทศ ที่เราบอกนายทุนผูกขาด เอาเข้าจริงประเทศไทยไม่ได้เหมือนประเทศเกาหลีที่เขามีแชโบ (Chaebol) กลุ่มนึงแค่ 5 บริษัทแล้วครอบครองรายได้กว่า 90% ของประเทศ ประเทศไทยหลายหลายกว่านั้น เรามีบริษัทจดทะเบียนหลายร้อยแห่ง เรามีกลุ่มธุรกิจใหญ่ระดับสูงนับร้อยและยังกระจายตัวดีกว่ามาก

ถ้าเราจะผลักดันด้านการเกษตรจริง ๆ ต่อให้เป็นคนตัวเล็ก แต่มีกลยุทธ์ที่ดี คุณโอฬาร มองว่าเรายังสามารถโตขึ้นและแข่งขันได้ ยักษ์เขียวทุนจดทะเบียนเริ่มต้นตอนแรก 3 ล้านบาท แต่ก็สามารถโตได้ เราไม่ได้ถูกทุนผูกขาดครอบงำ แต่เราต้องไม่งอมืองอเท้า อะไรที่รู้สึกว่าเขากีดขวางจนเกินไป ต้องมีเวทีในการพูดคุย โลกธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต ไม่ควรมองคนเป็นเพียงคู่แข่งแค่มิติเดียว เมื่อก่อนเรามองการตลาดโดยการวิเคราะห์คู่แข่ง (Competitors Analysis)

แต่ในปัจจุบัน “ยักษ์เขียว” ขอใช้คำว่าการวิเคราะห์ผู้เล่นในตลาด (Player Analysis) มากกว่า เพราะผู้เล่นสามารถพัฒนามุมมองได้หลากหลายกว่า เช่นอาจเป็นคู่ค้า เป็นพันมิตรหรือ เป็นคู่แข่ง ก็เป็นได้ การมีทุนขนาดใหญ่ในระบบ ไม่ได้แปลว่าเขาต้องการจะแข่งกับเราทุกคน เพราะทุนขนาดใหญ่มีข้อดีีในเรื่องเงินทุน แต่ก็มีจุดอ่อนคือการเคลื่อนไหวที่ช้า มีความกังวลทั้งเรื่องแบรนด์ เรื่องชื่อเสียง นักลงทุน ราคาหุ้น ผลกระทบต่าง ๆ ให้คำนึงถึง ถ้าเราเป็นคนตัวเล็ก แต่เก่งจริงในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง สามารถเคลื่อนตัวได้ไว อุดจุดอ่อนและเติมเต็มความต้องการเขาได้ เราก็สามารถเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกับบริษัทขนาดใหญ่ได้เช่นกัน เรียกง่าย ๆ ว่ารู้จักใช้สายสัมพันธ์สร้างความร่วมมือให้เกิดผลลัพธ์ได้ (Collaborative networking)

 

คุณบอม โอฬาร วีระนนท์ ได้ให้แง่คิดดี ๆ ที่มีคุณค่ายิ่ง ที่ช่วยให้เห็นโอกาสในการทำธุรกิจหลากหลาย และโอกาสในการส่งเสริมพัฒนาภาคการเกษตรและเกษตรกรไทย สู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรมูลค่าสูง (Agripreneur) จะเห็นได้ว่าการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน การเมือง และภาคประชาชน หากมุ่งเน้นการส่งเสริม พัฒนารากฐานของประเทศ โดยวิธีการลงมือทำตามแบบฉบับ “ยักษ์เขียว” (Yak Green) จะช่วยทั้งเสริมรายได้ให้เกษตรกร เพิ่ม GDP เป็นผลดีต่อประเทศในอนาคตอย่างยั่งยืน

ดูข้อมูลเพิ่มเติม “ยักษ์เขียว” ได้ที่

website : Yakgreen

Youtube : YAK Green Channel Official

#โอฬารวีระนนท์ #Yakgreen #ทำยังไงให้อาชีพเกษตรกรเป็นธุรกิจที่น่าทำแบบฉบับYAKGREEN

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: