Environment
ยักษ์เขียว ร่วมกับ พอช. ลงสำรวจพื้นที่ชุมชนตัวอย่างบ้านถ้ำเสือ
Published
4 สัปดาห์ agoon
“ YAK GREEN ร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (CODI หรือ พอช.) ลงสำรวจพื้นที่ชุมชนตัวอย่างบ้านถ้ำเสือ แบ่งปันความรู้ สร้างรายได้จากการปลูกต้นไม้อย่างยั่งยืนร่วมกัน ”
วันพุธที่ผ่านมา (21 สิงหาคม 2567) คุณโอฬาร วีระนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บจ.ยักษ์เขียว (YAK GREEN) และ รศ.ปารณ ชาตกุล ผู้ช่วยคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รองผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการวิเคราะห์ภูมิภาคเมืองและสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์ (RUBEA) และผู้ร่วมก่อตั้ง บจ.ยักษ์เขียว (YAK GREEN) ได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (CODI หรือ พอช.) ลงสำรวจพื้นที่บ้านถ้ำเสือ ในการสร้างความร่วมมือ เป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่ ในการส่งออกต้นไม้ สู่ตลาดนานาชาติ อย่างยั่งยืนร่วมกัน
“ขอบคุณ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ที่ริเริ่มโครงการดีๆ ทั้งในการจัดการป่าชุมชนบ้านถ้ำเสืออย่างยั่งยืน”
โดยในครั้งนี้ทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) นำโดย คุณจันทนา เบญจทรัพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. ร่วมกับ นายสุเทพ พิมพ์ศิริ ประธานคณะกรรมการธนาคารต้นไม้บ้านถ้ำเสือ ได้นำภาคีเครือข่ายการพัฒนาผู้นำชุมชนบ้านถ้ำเสือ และภาคีเครือข่ายภาคใต้ในหลายจังหวัด จำนวนกว่า 30 คน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างโอกาสความร่วมมือกับทาง บจ.ยักษ์เขียว (YAK GREEN) ณ ธนาคารต้นไม้บ้านถ้ำเสือ ต.แก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บจ.ยักษ์เขียว (YAK GREEN)
คุณโอฬาร วีระนนท์ ได้เริ่มต้น Session ด้วยการขอบคุณดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) ที่ร่วมกับพี่ๆ นักศึกษาหลักสูตร การป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 66 (กลุ่มนกเค้าแมว) ที่ได้เชิญ “YAK GREEN” มาร่วมสร้างแนวทางการจัดการป่าชุมชน และพัฒนาโอกาสในการ ปลูกต้นไม้ เพื่อสร้างรายได้ ให้ชุมชนบ้านถ้ำเสืออย่างยั่งยืนร่วมกัน และยังกล่าวย้ำว่า “ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” คือบุคคลสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่า ตั้งแต่ปี 2561 และเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนคนสำคัญในการปลดล็อกกฎหมายป่าไม้เศรษฐกิจให้กับประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ และธุรกิจหลากหลายให้ชุมชน และประเทศไทย สอดคล้องกับยักษ์เขียว ที่เห็นคุณค่าของต้นไม้ ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการพัฒนาชุมชนและประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยยึดเอาศาสตร์พระราชา มาร่วมกับเทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่ ผสานกับองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการ การบริการธุรกิจ และเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม ทั้งในประเทศไทย และนานาชาติ มาสร้างโอกาสในการทำธุรกิจ “ฟาร์มต้นไม้ส่งออก” และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องร่วมกัน
“โอกาสของประเทศไทยและชุมชน ในการสร้างความร่วมมือ เข้าสู่ตลาดระดับโลก ด้วยฝีมือคนไทยร่วมกัน”
คุณโอฬาร วีระนนท์ ได้กล่าวว่าประเทศไทย มีทรัพยากรที่มีคุณค่ายิ่ง คือ ดิน น้ำ ป่า และภาคการเกษตร ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านได้ทรงอุทิศพระวรกาย ตลอดหลายสิบปี ในรัชสมัยของท่าน ในการสร้างองค์ความรู้ด้านการพัฒนาดิน ต้นไม้ และป่าไว้มากมาย ไว้ให้ประเทศไทย จนเป็นที่ประจักษ์ในระดับโลก หากเราเข้าใจ และผสานเอาองค์ความรู้ ด้านการตลาด นวัตกรรม การค้าระหว่างประเทศ และร่วมกันทำงานเป็นทีมประเทศไทย ให้ได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ ทำงานเป็นทีม ไม่ขายตัดราคากันเอง และดึงเอาศักยภาพ ที่แต่ละคน แต่ละภาคส่วนมีร่วมกัน มาสนับสนุนส่งเสริมร่วมกัน เราจะสามารถเปลี่ยนคำว่า “เกษตรกร” กลายเป็น “ผู้ประกอบการด้านการเกษตรนวัตกรรม” หรือ ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Agripreneur” ที่มาจากคำสองคำ คือ “Agriculture” (การเกษตร) มารวมกับคำว่า“Entrepreneur (ผู้ประกอบการ) จะทำให้คนทำเกษตรในยุคต่อไป สามารถมีชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้ที่ดี เป็นผู้ประกอบการที่มีคุณค่า ไม่แพ้อุตสาหกรรมอื่นๆ สามารถเลี้ยงดูตนเอง ครอบครัวได้ มีความหวังในการต่อยอดสู่อนาคต โดยไม่ต้องรอรับเงินสนับสนุน มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี พึ่งพาตนเองได้ และมี Life Style ที่สามารถทำงานได้จากชุมชนของตัวเอง แต่สามารถเชื่อมโยงธุรกิจได้ทั้งในประเทศและนานาชาติ และด้วยจำนวนครัวเรือนภาคการเกษตรไทยที่มีมากถึง 7.7 ล้านครัวเรือน จำนวนเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนมากถึง 8.8 ล้านราย ซึ่งหากเรานับไปถึงผู้เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร ทั้งที่มาขึ้นทะเบียน และไม่ได้ขึ้นทะเบียน จะครอบคลุมไปถึงประชากรราว 1 ใน 3 ของประเทศไทย ดังนั้นหากเราสามารถพัฒนาภาคการเกษตรอย่างจริงจังและยั่งยืนได้ ประเทศไทยก็จะสามารถพัฒนาด้วยเช่นกัน
“ยักษ์เขียว ต่อยอดจากประสบการณ์จากเข้าพบนายกรัฐมนตรีของบาห์เรน ในปี 2018 สู่โอกาสของประเทศไทย”
คุณโอฬาร วีระนนท์ กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของ YAK GREEN คือ “Make Everyone Love Tree” ซึ่งก็คือ การนำเอาปรัชญาของในหลวง ร.9 เรื่อง “ปลูกต้นไม้ในใจคน” ไป Scale สู่ระดับนานาชาติ โดยขับเคลื่อนจากภาคเอกชน เริ่มต้นจากการได้เห็นโอกาสในตะวันออกกลาง จากการจัด Business Matching ตั้งแต่สมัยที่เป็นนายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย และได้มีโอกาสร่วมคณะกับ คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในการเข้าพบ Sheikh Khalifa bin Salman Al Khalifa นายกรัฐมนตรีคนแรกของบาห์เรน ที่ดำรงตำแหน่งมายาวนานถึง 50 ปี และทรงเป็นพระปิตุลา (ลุง) ขององค์พระมหากษัตริย์ของบาห์เรน ซึ่งท่านทรงรักประเทศไทย และมีพระเมตตาให้กับคนไทยมาก และทรงเป็นบุคคลสำคัญในการอยู่เบื้องหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและซาอุดิอาราเบีย ในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
รองผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการวิเคราะห์ภูมิภาคเมืองและสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์ (RUBEA) และผู้ร่วมก่อตั้ง บจ.ยักษ์เขียว (YAK GREEN)
ในครั้งนั้นเราได้เห็นว่า ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง เป็นประเทศที่น่าสนใจมาก ทั้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์โลก (Geopolitics) และการนำเอาแนวนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ที่เมื่อคิดจะทำ สามารถทำได้ทันที เช่น ในวันนั้น คุณสนธิรัตน์ ได้ทูลขอท่านนายกรัฐมนตรีบาห์เรน ให้อนุมัติประเทศไทย เป็นประเทศที่สองในโลก ต่อจากสหรัฐอเมริกา ที่หากมาทำธุรกิจสามารถถือหุ้นได้ 100% ในบาห์เรน โดยไม่ต้องมี Local Partners และขอให้พิจารณาเพิ่มเที่ยวบินแบบบินตรง (Direct Flight) ระหว่างทั้งสองประเทศจาก 3 วันต่อสัปดาห์ ให้เป็นทุกวัน คือ 7 วันต่อสัปดาห์ และด้วยทักษะการเจรจาของคุณสนธิรัตน์ รมว.พาณิชย์ฯ ในสมัยนั้น ท่าน Sheikh Khalifa bin Salman Al Khalifa นายกรัฐมนตรีคนแรกของบาห์เรน ทรงมีพระเมตตามาก และอนุมัติเรื่องที่เราขอเสร็จสิ้นภายใน 1 วัน จึงทำให้เรารู้เลยว่าภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาค ที่มีศักยภาพสูงมาก และหากมีมิตรภาพที่ดีต่อกัน ไม่ว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้
“ ยักษ์เขียว เริ่มต้นจากภาคเอกชน ปลูกต้นไม้ในใจคนสู่การเป็นผู้นำในการส่งออกต้นไม้ สู่ตะวันออกกลางอย่างจริงจัง ”
จากการเริ่มต้นเดินทางสู่ภูมิภาคตะวันออกกลางที่บาห์เรน ในปี 2018 ประกอบกับการมีโอกาสในการรับฟังปัญหาของเกษตรกรไทย ทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศในเรื่องของปลูกป่าเศรษฐกิจ การมีโอกาสเชื่อมโยงผู้กำหนดนโยบาย การทำการค้า การมีโอกาสเดินทางเข้าพบผู้กำหนดนโยบาย ทั้งภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนศึกษาวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ Gulf Cooperation Council หรือกลุ่มประเทศ GCC ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี และดูไบ) โอมาน กาตาร์ คูเวต และบาห์เรน ตลอดจนการมีกลุ่มผู้ก่อตั้งที่มีความเชี่ยวชาญในด้านธุรกิจระหว่างประเทศ ด้านการออกแบบอุตสาหกรรม ด้านภูมิสถาปัตย์ การพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรม และมีพาร์ทเนอร์ที่ทำงานในภูมิภาคนี้มากกว่า 20 ปี
สิ่งเหล่านี้ทำให้ยักษ์เขียวมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนธุรกิจภาคการเกษตร โดยมุ่งมั่นทำฟาร์มต้นไม้ขนาดใหญ่ (Tree Farms), การออกแบบภูมิสถาปัตย์ (Landscape Design and Services), การพัฒนาวัสดุปลูก (Growing Material), การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการปลูกต้นไม้ (Green Technology) และการให้ความรู้และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง (Education and Activities) โดยมีตลาดหลักอยู่ที่ภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่สิ่งที่เค้าคิดกลับมาไม่ใช่การพูดขาด แต่กลับเป็นการเชื่อมโยง และเปิดโอกาส ให้ผู้คนในการมามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นวิสาหกิจชุมชน ภาคเอกชน และหน่วยงานสนับสนุนต่างๆ ประกอบกับการร่วมทุนกับพันธมิตรในภูมิภาคตะวันออกกลาง ในการสร้าง Tree Farm ขนาด 300,000 ตร.ม. ที่ซาอุดิอาราเบีย ทำให้ยักษ์เขียวมีความแข็งแกร่งอย่างโดดเด่น และเป็นผู้นำในการทำเรื่องต้นไม้ส่งออกแบบครบวงจรทั้งในไทยและตะวันออกกลาง
“นำองค์ความรู้ ประสบการณ์ที่มี มาแบ่งปัน และหารือการสร้างโอกาสให้วิสากิจชุมชนบ้านถ้ำเสือ ให้เป็นต้นแบบ”
หลังจากการบรรยายสรุปให้ความรู้ ทางคุณสุเทพ พิมพ์ศิริ ผู้นำชุมชนบ้านถ้ำเสือ ร่วมกับทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ก็ให้เกียรติเชิญ คณะผู้เชี่ยวชาญ ทั้ง บริษัท ยักษ์เขียว จำกัด (YAK GREEN) ร่วมกับ ผู้นำชุมชนต่างๆ, ผู้เชี่ยวชาญจาก ธนาคารกรุงเทพ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญจาก Urban Risk Lab, Massachusetts Institute of Technology (MIT) ลงดูพื้นที่ชุมชนบ้านถ้ำเสือ โดย YAK GREEN ได้ให้คำปรึกษา พิจารณาพื้นที่ โอกาสในการพัฒนาโครงการร่วมกัน และโอกาสเพิ่มรายได้ภายในระยะเวลา 2-3 ปี และยังสามารถพัฒนาเป็นโครงการที่ยั่งยืนในระยะยาวต่อไป ก่อนจะร่วมกันรับประทานอาหารกลาง ที่ชาวบ้านจัดเตรียมไว้ให้ที่ตลาดริมน้ำจามจุรีบ้านถ้ำเสือในบรรยากาศสบายๆ โอบล้อมไปด้วยต้นไม้ และธรรมชาติ
อีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่ “บ้านถ้ำเสือ” อาจเป็นอีกต้นแบบให้วิสาหกิจชุมชนไทย ได้ทำงานร่วมกับบริษัทชั้นนำ อย่างยักษ์เขียว (YAK GREEN) ในการเพิ่มโอกาสความสำเร็จ เพิ่มรายได้ และลดความเสี่ยงที่จะถูกหลอก หรือปลูกแล้วไม่สามารถขายได้ โดยอาศัยจุดแข็งที่ บจ.ยักษ์เขียว เชี่ยวชาญในตลาดที่ตนส่งออก พร้อมสามารถการันตีราคารับซื้อ ทั้งมีรูปแบบการทำงานร่วมกันที่หลากหลาย สิ่งเหล่านี้หากพันธมิตรธุรกิจ และวิสาหกิจชุมชนที่ใดสนใจ รอติดตามความคืบหน้าที่เราชาว TOJO NEWS จะติดตามมารายงานให้ฟังอย่างต่อเนื่อง หรือสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.yakgreen.com
บทสรุป
การจับมือระหว่าง บจ.ยักษ์เขียว (YAK GREEN) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เพื่อพัฒนาชุมชนบ้านถ้ำเสือ โดยการริเริ่มของ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ถือเป็นก้าวสำคัญในการนำเอาศักยภาพของชุมชนและประเทศไทยเข้าสู่ตลาดระดับโลก ผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน และการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน
#การปลูกต้นไม้ยั่งยืน #การส่งออกต้นไม้ #ฟาร์มต้นไม้#YAK GREEN #ยักษ์เขียว #พอช
#กอบศักดิ์ภูตระกูล #โอฬารวีระนนท์ #ปารณชาตกุล#สุเทพพิมพ์ศิริ #จันทนาเบญจทรัพย์
อย่าลืมกดติดตาม Tojo News เพื่อพบกับข่าวสาร และบทความใหม่ ๆ จากเรา