Connect with us

News

จีนเตือนชาติสมาชิกอาเซี่ยน ระวังเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย กลายเป็นสมรภูมิ ‘ยูเครน 2’ ในภูมิภาคนี้

Published

on

เมื่อวันเสาร์ 2 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา นายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวเตือนประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในอาเซี่ยน ว่า โศกนาฏกรรมจากสงครามแบบยูเครน ต้องไม่เกิดขึ้นซ้ำรอยในเอเชีย พร้อมเตือนว่า ไม่ควรปล่อยให้ชาติของตน กลายเป็นเบี้ยเดิมพันของประเทศมหาอำนาจ

นายหวัง อี้ ยังกล่าวหาด้วยว่า มีกองกำลังไม่ทราบฝ่าย กำลังจุดชนวนความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในหมู่ประเทศสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซี่ยน) เพื่อขัดขวางข้อตกลงเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ ซึ่งกำลังคลี่คลายไปในทางที่ดี ซึ่งแต่เดิมนั้น การอ้างกรรมสิทธิ์เหนืออาณาเขตในทะเลจีนใต้ของจีน ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศมาอย่างยาวนาน

นายหวัง อี้ ยังกล่าวระหว่างการปราศรัยผ่านระบบวิดีโอในเวทีสัมมนา ซึ่งจัดโดย ประชาคมนโยบายต่างประเทศแห่งอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยในกรุงจาการ์ตา ว่า “เราควรเปิดโปงกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังเหล่านี้ ซึ่งพยายามโหมกระพือปัญหาต่างๆ ในภูมิภาค เพื่อบ่อนทำลายสันติภาพของชาติสมาชิก ด้วยประเด็น ทะเลจีนใต้ มานานหลายปี เพื่อเป้าหมายในทางยุทธศาสตร์ของชาติตนเอง”

นายหวัง อี้กล่าวต่อว่า “แนวคิดแบบสงครามเย็นและยุทธการที่ไม่มีผลดีกับใคร ควรถูกพับเก็บไปได้แล้ว ต้องกันภูมิภาคแห่งนี้ ออกจากการถูกผนวกไปเป็นพรรตพวกในทางภูมิรัฐศาสตร์ อย่ากลายเป็นเบี้ยในการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจ” พร้อมทั้งเตือนว่า “วิกฤตการที่ ยูเครน คือสัญญาณเตือนถึงมนุษยชาติ และโศกนาฏกรรมเช่นนั้น ต้องไม่เกิดขึ้นซ้ำรอยในเอเชีย”

แม้นาย หวัง อี้ จะไม่ได้ระบุชื่อ “ขุมกำลังภายนอก” ที่กำลังเป่าหูประเทศในอาเซี่ยน แต่ผู้เชี่ยวชาญการเมืองระหว่างประเทศในประเด็นที่เกี่ยวกับจีน เชื่อกันว่า หมายถึงสหรัฐฯ หรือประเทศพันธมิตรของอเมริกา

โจว เฉินหมิง นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านการทหารหยวน หวัง ในกรุงปักกิ่ง แสดงความคิดเห็นว่า “คำพูดของนายหวัง อี้ สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลใจของจีน เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่แผนยุทธศาสตร์สหรัฐฯ จะก่อให้เกิดวิกฤตบางอย่างในภูมิภาคนี้ ซึ่งคล้ายๆ กับความขัดแย้งทางทหารระหว่างรัสเซียกับยูเครน”

“การที่สหรัฐฯ เพิ่มทหารประจำการในคาบสมุทรเกาหลี เพื่อรักษาความได้เปรียบในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ทั้งข้อตกลง Aukus ของสหรัฐฯ กับออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร รวมถึงความเคลื่อนไหวในทางอื่นๆ ทำให้ทราบว่า อเมริกา กำลังบ่อนทำลายความแข็งแกร่งของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน เมื่อต้องรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกันในหลายๆทาง หากเกิดสงครามในกรณีที่เกี่ยวกับไต้หวัน” นาย โจว เฉินหมิง กล่าว

ด้านนาย สง จงปิง อดีตครูฝึกของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ระบุว่า ไต้หวัน คือจุดเดือดที่อันตรายที่สุด แต่เกาหลีเหนือและข้อพิพาทด้านเขตแดนของจีนกับบรรดาชาติเพื่อนบ้านทั้งหลายก็อาจเป็นชนวนของวิกฤตได้เช่นกัน

นาย สง จงปิง ระบุด้วยว่าการแสดงความเห็นของ นายหวัง อี้ เป็นการส่งเสียงเตือนไปยังกลุ่มประเทศอาเซี่ยน ให้ระแวดระวังความพยายามของสหรัฐฯ ในการจัดฉาก “สงครามตัวแทน” ให้เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้

สำหรับนาย หวัง อี้ เพิ่งกลับมาดำรงตำแหน่งเดิมในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศ หลังจาก นายฉิน กัง ผู้สืบทอดเก้าอี้ของเขา ถูกถอดจากตำแหน่งโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

นาย หวัง อี้ ได้เรียกร้องบรรดาชาติสมาชิกอาเซี่ยน หาทางจัดเจรจาหาข้อสรุปในการจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in the South China Sea: COC) ที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย กระบวนการที่ยืดเยื้อมานานหลายปี และพลาดเส้นตายที่กำหนดไว้สำหรับบรรลุข้อตกลงกันในปีที่แล้ว

“ยังไม่น่าเป็นไปได้ที่ข้อตกลง COC จะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างจีนและผู้อ้างสิทธิ์รายอื่นๆ ยังมีอยู่ในระดับสูงมากเกินไป” จาง หมิงเหลียง ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาทะเลจีนใต้ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยจี่หนาน กล่าว

“อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งคือ จีนยืนกรานว่าการเจรจาควรแยก ‘กองกำลังภายนอก’ เช่นสหรัฐฯ ออก ไปก่อน แต่คู่เจรจาในอาเซียนไม่เห็นด้วย อีกประการหนึ่งคือวิธีกำหนดบทลงโทษสำหรับจรรยาบรรณที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย”

ก่อนหน้านี้ จีน ได้กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่เกือบทั้งหมดเหนือน่านน้ำในทะเลจีนใต้ ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีมูลค่ามหาศาล แต่ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน คัดค้าน
คำกล่าวอ้างดังกล่าว

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ @SouthChinaMorningPost

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: