Connect with us

Business

ธนาคารกลางยุโรป มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เพื่อต่อสู้กับสถานการณ์เงินเฟ้อ ยอมเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย

Published

on

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2023 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาด โดยเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 9 ติดต่อกัน ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากดีดตัวสู่ระดับ 3.75% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ระดับ 4.50% ส่วนอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์อยู่ที่ระดับ 4.25%

ทั้งนี้ ธนาคารกลางยุโรป ได้เริ่มวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนับตั้งแต่เดือน ก.ค.2565 เพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนได้ชะลอตัวจากระดับ 6.1% ในเดือนพ.ค. สู่ระดับ 5.5% ในเดือนมิ.ย. แต่ก็ยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางยุโรป ที่ระดับ 2%

คริสตีน ลาการ์ด ประธาน ECB

“เงินเฟ้อยังคงชะลอตัวลง แต่ก็มีการคาดการณ์กันว่าเงินเฟ้อจะยังคงอยู่สูงเกินไป และนานเกินไป”

“การตัดสินใจในอนาคตของธนาคารกลางยุโรป จะรับประกันว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ในระดับที่เข้มงวดเพียงพอและนานเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายในระยะกลางที่ระดับ 2% ในเวลาที่เหมาะสม และ ธนาคารกลางยุโรป จะยังคงจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่ได้รับ เพื่อพิจารณาระดับและระยะเวลาในการใช้อัตราดอกเบี้ยที่เข้มงวด” กรรมการธนาคารกลางยุโรป ระบุในแถลงการณ์

ปัญหาของ ธนาคารกลางยุโรป คือ อัตราเงินเฟ้อลดลงช้าเกินไป และอาจจะต้องใช้เวลาจนถึงปี 2025 กว่าที่อัตราเงินเฟ้อจะลดลงเหลือ 2% ตามเป้าหมาย เนื่องจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นได้ไหลเข้าสู่เศรษฐกิจในวงกว้างผ่านการขึ้นราคาสินค้าและค่าบริการ

ขณะที่ตลาดแรงงานยังตึงตัวเป็นพิเศษ เนื่องจากอัตราการว่างงานต่ำเป็นประวัติการณ์ เพิ่มความเสี่ยงที่ค่าจ้างจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีต่อ ๆ ไป เนื่องจากสหภาพแรงงานอาจใช้อำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชย “รายได้ที่แท้จริง” ที่สูญเสียไปเพราะอัตราเงินเฟ้อ

ทั้งนี้คณะกรรมการธนาคารกลางยุโรป มองว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูง มีราคาที่ต้องจ่ายน้อยกว่าการไม่ปรับขึ้นให้สูงพอ แต่แนวโน้มเศรษฐกิจน่า จะลดความอหังการของ ธนาคารกลางยุโรป ลงได้ เนื่องจากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาบ่งชี้ว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงนั้นส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ทำให้เศรษฐกิจสหภาพยุโรปตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ตามหลังยูโรโซน ซึ่งเข้าสู่ภาวะถดถอยไปก่อนแล้ว

ในอีกด้านหนึ่ง ความอ่อนแอของเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้นเนื่องจากภาคครัวเรือนสูญเสียกำลังซื้อ อาจกดให้ราคาสินค้าและบริการลดลงเร็วกว่าที่คาดไว้ ส่งผลให้ธนาคารกลางมีงานน้อยลง

นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ เริ่มเปลี่ยนความสนใจจากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรปจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งหรือไม่ ไปสนใจว่า อัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ในระดับสูงไปอีก
นานเท่าใด

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: