สำหรับ EP.9-10 นี้ต้องยกให้เป็น 2 ตอนที่แอดร้องไห้หนักมากจนปวดหัว ทุกตัวละครมีความน่าสงสารมากๆ แถมยังเป็นตอนที่สร้างปรากฎการณ์ทั้ง เรตติ้งพีคที่สุดถึง 7.2% และยังติดเทรนด์โลกและเทรนด์ทวิตเตอร์ไทย อันดับ 1 อีกด้วย โดยเรตติ้งของ Ep.9 ในโซลอยู่ที่ 5.9% และ Ep.10 ในโซลอยู่ที่ 4.4%
EP.9 RISK
เมื่อดัลมีรู้ความจริงว่า นัมโดซานในจดหมาย ไม่ใช่โดซานที่เธอรู้จัก แต่กลับเป็น หัวหน้าทีมฮัน เพราะเธอดันไปหยิบโทรศัพท์มือถือของย่าผิด และพบข้อความที่ทำให้เธอต้องออกมาค้นหาความจริง แอดจะไม่พูดถึงดีเทลในเรื่องแล้วกัน แต่สำหรับแอดแล้วแอบมีความเนือยนิดนึง เหมือนแอบสับสนความรู้สึกของตัวละครว่าเราควรรู้สึกตามตัวละครตัวไหน ควรเข้าใจดัลมี เข้าใจโดซาน เข้าใจหัวหน้าทีมฮัน หรือคุณย่าดี เพราะแต่ละคนมีเหตุผลของตัวเองที่เพราะต้องการอยากให้ดัลมีมีความสุขนั่นแหละ แต่สุดท้ายแล้วการเริ่มโกหก เพียงเพราะต้องการสร้างรอยยิ้มให้คนเพียงครั้งหนึ่ง แล้วเรากลับหลงระเริงไปจนพบว่าสายไปเสียแล้วที่จะแก้
“มือสมัครเล่นมักจะโต้ตอบความเห็นผู้ใช้ด้วยอารมณ์ ส่วนมืออาชีพจะตอกกลับด้วยข้อมูล”
ฮันจีพยอง
เมื่อซัมซานเทคพัฒนาแอปพลิเคชัน “นุนกิล” เพื่อช่วยผู้พิการทางสายตา หลังจากที่พวกเขาได้เปิดให้สามารถใช้จริงได้แล้ว และมียอดผู้ใช้เยอะเกิน 10,000 คน สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ การรีวิวแอปพลิเคชันของผู้ใช้งาน ในฐานะของผู้พัฒนาแอป ดัลมี เลือกที่จะฟังเสียงของผู้ใช้หรือ VOC (Voice Of Customer) โดยการอ่านทุกรีวิว ทุกคอมเมนต์ และตอบกลับทุกข้อความ ทำให้กลายเป็นหนึ่งปัญหาเล็กๆที่เกิดขึ้น เพราะคอมเมนต์ด้านลบ หรือการใช้ภาษาของคนรีวิวทำให้เธอหงุดหงิดใจ แต่ข้อดีของเรื่องนี้ก็คือ มันทำให้เธอรู้ว่าแอปพลิเคชันของเธอมีปัญหาอะไรผ่านผู้ใช้งานจริง เช่น ทำให้เธอรู้ว่าแอปพลิเคชันนุนกิล กินแบตเตอร์รี่ และทำให้โดซานหาทางเพื่อแก้ไขปัญหานี้เพื่อพัฒนาแอปฯ
EP.10 DEMO DAY
สารภาพตามตรงว่า อีพีนี้มีเรื่องให้เขียนน้อยมากเพราะแอดมัวแต่ร้องไห้อยู่ แต่สิ่งที่ชอบในการวางตัวละครอย่างหนึ่งคือ คาแรคเตอร์ของดัลมีในฐานะ CEO ที่แม้ว่าจะต้องเจอกับเรื่องที่หนักในชีวิต แต่เธอก็ยังพยายามเข้มแข็งและแยกแยะเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวแม้ว่าจะยากที่ต้องมาเจอคนที่ทำให้เธอเสียใจในที่ทำงานทั้ง 2 คนก็ตาม และก็ยังชอบที่ดัลมีเลือกที่จะฟังเหตุผลของการกระทำ จากหัวหน้าทีมฮัน ถ้าเป็นซีรีส์เรื่องอื่นหรือละครไทยก็คงมีฟีลวิ่งไหน ไม่ฟังอะไรแล้วทั้งนั้น
“ความฝันจำเป็นต้องสำเร็จด้วยหรอครับ
เป็นคนไม่ได้หรอ”
นัมโดซาน
ในตอนนี้ อเล็กซ์ จากบริษัททูโทส บริษัทด้านเทคโนโลยีที่มีธุรกิจอยู่ที่ Sillicon valley มาเสนอให้โดซาน ย้ายไปทำงานกับเขา ซึ่งจะทำให้โดซานได้รับเงินเดือนจำนวนมาก ได้หุ้น และมีชื่อเสียง ซึ่งเป็นก้าวที่สำคัญและโอกาสที่ยิ่งใหญ่มากในการจะเติบโตแต่โดซานกลับปฏิเสธ ข้อเสนอนี้ไป ซึ่งแอดเข้าใจว่า น่าจะเป็นเพราะโดซานอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ดัลมีประสบความสำเร็จมากกว่าการทำตามความฝันของเขาเอง โธ่เอ๊ยพ่อพระพุทธเจ้าตัวเป็นๆ จริงๆ อะไรจะเป็นคนดีขนาดนี้
Sillicon Valley หรือ หุบเขาซิลิคอน เป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีไฮเทค และนวัตกรรมของโลก เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ อย่าง Facebook, Netflix, Apple, Microsoft, Google, Tesla และ Intel
Sillicon Valley ตั้งอยู่บริเวณทางใต้ของอ่าวซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดย Sillicon Valley กำเนิดขึ้นด้วยความคิดของผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย Leland Stanford ในการที่จะสร้างเมืองใหม่ในที่ที่ห่างไกลความเจริญเพื่อดึงดูดคน และเกิดเป็น มหาวิทยาลัย Stanford ในปี 1885 หลังจากนั้น 60 ปี Frederick Terman ก็ได้ผลักดันให้เกิด Sillicon valley โดยการขอแบ่งพื้นที่จากมหาวิทยาลัย Stanford ส่วนหนึ่งเพื่อนำมาพัฒนาเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมในอนาคต และดึงเอาผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมมาตั้งบริษัท ทำให้มีบริษัทอย่าง HP และ GE (General Electric) มาตั้งสำนักงาน ด้วยชื่อเสียงของรุ่นพี่ใน Stanford ในฐานะนักปั้นนักธุรกิจด้านนวัตกรรม ทำให้บรรดาบริษัทต่างๆ อยากที่จะเข้ามาเพื่อตามหาความฝันและหานักลงทุนใน Sillicon Valley จึงทำให้ Sillicon Valley กลายเป็นเหมือนเสาหลักในการขับเคลื่อน Ecosystem ธุรกิจนวัตกรรมนั่นเอง
แต่แหมะ พึ่งจะเคลียร์ปมจดหมายไป ในตอนท้ายของตอนก็เปิดปมใหม่มาอีกแล้ว ต้องยอมรับเลยจริงๆ เป็นเรื่องที่มีการเรียงลำดับเรื่องได้ออกมาดีมากๆ โดยที่ไม่ได้รู้สึกว่าถูกยัดเยียดหรือเวิ่นเว้ออะไร และรอดูกันว่า อเล็กซ์จะเข้ามาช่วยทำให้สิ่งที่โดซานต้องการสำเร็จหรือไม่ในสัปดาห์หน้า
วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 21.00 น. ทาง Netflix นะคะ
ศัพท์คู่ซีรีส์
Demo Day : กิจกรรมที่สตาร์ทอัพจะได้มีโอกาสในการนำเสนอไอเดีย แผนธุรกิจที่คิดไว้ให้กับนักลงทุน ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญของเหล่าสตาร์ทอัพนั่นเอง
VOC (Voice Of Customer) : เสียงของลูกค้า กระบวนการเข้าใจความต้องการของลูกค้าซึ่งอาจทำได้จากหลายวิธี เช่น การรีวิว การสอบถามทางช่องทางต่างๆ เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงและพฤติกรรมที่เกี่ยวกับลูกค้า เพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้
You must be logged in to post a comment Login