Connect with us

Published

on

เรามาลองย้อนไปดูประวัติของแท็กซี่ไทยกันว่าแรกเริ่มเขาคิดราคายังไงกันนะ?

ป็นที่ฮือฮาไม่น้อย สำหรับการประกาศ ราชกิจจานุเบกษา กระทรวงคมนาคม แท็กซี่สามารถคิดค่าบริการเพิ่มเติม สำหรับสัมภาระ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา สังคมออนไลน์ได้มีมุมมองในเรื่องนี้หลากหลาย แต่จะว่าไปเรามาลองย้อนไปดูประวัติของแท็กซี่ไทยกันว่าแรกเริ่มเขาคิดราคายังไงกันนะ?

ไทยเริ่มมี ‘แท็กซี่’ให้บริการเป็นครั้งแรกในปี 2466  โดย พระยาเทพหัสดินร่วมกับพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ เป็นผู้ก่อตั้ง ‘บริษัท แท็กซี่สยาม’ ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อช่วยทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่ 1 ให้มีอาชีพหลังจากปลดจากราชการ โดยนำเอารถเก๋งออสติน (Austin) ขนาดเล็กออกวิ่งรับจ้าง โดยติดป้ายรับจ้างไว้ข้างหน้า-หลังของตัวรถ โดยมีรถให้บริการ 14 คัน คิดค่าบริการตามไมล์ ไมล์ละ 0.15 บาท หรือ 15 สตางค์  (1 ไมล์ = 1.609344 กิโลเมตร) 

หลังจากเลิกกิจการไปแล้ว กรุงเทพฯ ก็ไม่มีรถแท็กซี่อีก จนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2490 มีผู้นำรถยนต์นั่งมาให้บริการในลักษณะรถแท็กซี่ ซึ่งได้รับความนิยมจนมีการจัดตั้งเป็นบริษัทเดินรถแท็กซี่ขึ้นมา ใน 3 – 4 ปีต่อมา โดยคิดค่าโดยสารกิโลเมตรละ 2 บาท รถที่นำมาบริการในช่วงนั้นเป็นรถยี่ห้อเรโนลต์ สมัยนั้นจึงเรียกแท็กซี่ว่า “เรโนลต์” ได้รับความนิยมจากคนทั่วไปเป็นอย่างมาก เนื่องจากสะดวกรวดเร็วกว่ารถจักรยานสามล้อถีบ ซึ่งมีชุกชุมในยุคนั้น 

ต่อมาการจ่ายค่าโดยสาร เป็นไปตามการต่อรองระหว่างผู้โดยสารและผู้ให้บริการ เมื่อยุคสมัยผ่านไป ในช่วงเวลาหนึ่ง ‘แท็กซี่’กลายเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาจราจรเนื่องจากการจอดต่อรองราคา

ในปี 2535 ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยมีการออกกฎหมายให้รถแท็กซี่ที่จดทะเบียนใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 เป็นต้นไป ต้องติดมิเตอร์ อีกทั้งกรมการขนส่งทางบกยังได้เปลี่ยนระบบป้ายทะเบียนแท็กซี่ ให้จดทะเบียนได้ในราคาถูกลงจากเดิม (เป็นหลักพันบาท) แต่จำกัดอายุของรถแท็กซี่ไว้มิให้เกิน 12 ปี หากเกินจากนี้จะต้องปลดประจำการไม่สามารถเป็นรถแท็กซี่ได้อีก และยังได้สั่งให้เปลี่ยนสีรถแท็กซี่บุคคล จากสี ‘ดำ-เหลือง’ ในระบบป้ายแบบเก่า เป็นสี ‘เขียว-เหลือง’ ในระบบป้ายแบบจำกัดอายุ

ปัจจุบันแท็กซี่ในเมืองไทยเป็นรถปรับอากาศ ติดมิเตอร์คิดอัตราค่าโดยสารตามระยะทางและเวลา โดยเริ่มต้นที่ 35 บาท โดยระยะทาง 1 กิโลเมตรแรก 35.00 บาท ระยะทางเกินกว่า 1 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 10 กิโลเมตรละ 5.50 บาท ระยะทางเกินกว่า 10 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 20 กิโลเมตรละ 6.50 บาท ระยะทางเกินกว่า 20 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 40 กิโลเมตรละ 7.50 บาท

ขณะที่ ปี 2560 ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยาสารและค่าบริการอื่นสำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็นคน (TAXI-METER) ที่จดทะเบียนในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร (แท็กซี่ต่างจังหวัด) เริ่มต้นที่ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 40 บาท ระยะทางเกินกว่า 2 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 10 กิโลเมตรละ 6 บาท และระยะทางเกินกว่า 10 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 10 บาท โดยกรณีรถไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้เกินกว่า 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตรานาทีละ 1 บาท 

ทั้งนี้ ค่าบริการอื่น กรณีการจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสารหรือระบบสื่อสารทาง อิเล็กทรอนิกส์ของผู้รับจ้าง ให้เรียกเก็บค่าบริการเพิ่มขึ้นจากที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสารอีก 20 บาท

และล่าสุดได้มีประกาศกรณีการจ้างโดยมีบริการพิเศษสำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกผู้โดยสารไม่เกิน 7 คน หรือ Taxi Meter ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร  พ.ศ. 2563 โดยเป็นการแก้ไขปรับปรุงอัตราค่าบริการอื่นให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ได้แก่

  1. การจ้างที่มีการบรรทุกสัมภาระที่มีขนาดความกว้าง, ความยาว หรือ ความสูง ด้านใดด้านหนึ่งเกินกว่า 26 นิ้วขึ้นไป ให้เรียกเก็บค่าบริการในอัตราชิ้นละไม่เกิน 20 บาท
  2. การจ้างที่มีการบบทุกสัมภาระที่มีขนาดความกว้าง, ความยาว, หรือ ความสูงด้านใดด้านหนึ่งไม่เกิน 26 นิ้ว เกินกว่า 2 ชิ้น ให้เรียกเก็บค่าบริการตั้งแต่ชิ้นที่ 3 ขึ้นไปในอัตราชิ้นละไม่เกิน 20 บาท ทั้งนี้ไม่นับรวมกับสัมภาระตามข้อ 1
  3. การจ้างที่มีการบรรทุกสัมภาระเป็นอุปกรณ์การกีฬาเช่น ถุงฟอล์ฟ, รถจักรยาน, วินด์เซิร์ฟ รวมไปถึงเครื่องดนตรีที่มีขนาดตั้งแต่ 50 นิ้วขึ้นไป สามารถเรียกเก็บค่าบริการในอัตราชิ้นละไม่เกิน 100 บาท
  4. การจ้างที่มีการบรรจุสัมภาระที่เป็นสินค้า, สิ่งของ, อุปกรณ์, เครื่องมือ, เครื่องใช้ที่บรรจุกล่อง และ ไม่ได้มีการบรรจุกล่อง แต่มีการมัดรวมหรือหีบห่อที่รวมกันเอาไว้ ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 50 นิ้วขึ้นไป ให้เรียกเก็บค่าบริการในอัตราที่บรรจุกล่องมัดรวมหรือหีบห่อ ได้ไม่เกินชิ้นละ 100 บาท
  5. การวัดขนาดของสัมภาระ ไม่ให้วัดล้อ หรือ อุปกรณ์ที่ช่วยในการเคลื่อนที่รวมคำนวณเป็นขนาดของสัมภาระด้วย

ทั้งนี้ คำว่า”สัมภาระ” ติดตัวหมายถึงสัมภาระที่อยู่ในความดูแลของคนโดยสารระหว่างการเดินทาง เช่น กระเป๋าถือ กระเป๋าคอมพิวเตอร์ เป้สะพายหลังและให้หมายถึงของใช้ส่วนตัวที่ติดตัวคนโดยสารด้วย

จากข้อมูลกรมการขนส่งทางบกพบว่า มียอดร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำผิดของรถแท็กซี่ทั้งหมดกว่า 12,000 ราย โดยปัญหาสุดคลาสสิกคือการปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร มีมากกว่า 1,585 ราย ซึ่งพ.ร.บ.การจราจรทางบก มาตรา 93 วรรคหนึ่ง ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ปฏิเสธไม่รับจ้างบรรทุกผู้โดยสารโดยไม่มีเหตุอันควร ถือเป็นความผิด มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท และเป็นข้อหาที่ต้องถูกบันทึกคะแนน 20 คะแนน อีกทั้งยังถูกยึดใบอนุญาตขั้บขี่อีกด้วย 

ต้องมาติดตามกันว่าการปรับให้มีการเก็บค่าสัมภาระครั้งนี้ จะส่งผลอะไรกับสังคมบ้าง?

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Click to comment

You must be logged in to post a comment Login

Leave a Reply

Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: