ภาพจาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร (seub.or.th)
รุ่งสางของวันที่ 1 กันยายน 2533 ที่บ้านพักเจ้าหน้าที่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
เสียงปืนนัดหนึ่ง ดัง ขึ้นท่ามกลางป่าใหญ่ เสียงปืนนัดนั้นมิได้ เงียบหาย ไปเหมือนเสียงปืนนัดอื่นๆ
แต่ เสียงปืนนัดนั้น ยังดังก้องสะท้อนต่อมาอีกนับหลายสิบปี
เสียงปืนนัดนั้น ไม่เพียงส่งผลให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ต้องรีบเร่งมาประชุมที่ ห้วยขาแข้ง เพื่อหารือถึงมาตรการในการดูแลรักษาป่า
ไม่เพียงทำให้คนทั่วประเทศได้ รับรู้ ว่ากำลังกำลังเกิดอะไรขึ้นกับสัตว์ป่าและผืนป่าอนุรักษ์
แต่ยังทำให้ห้วยขาแข้งกลายเป็นผืนป่าที่คนทั้งประเทศรักและหวงแหน
และส่งผลให้ การอนุรักษ์สัตว์ป่าและผืนป่า เป็นประเด็นที่สาธารณชนให้ความสำคัญ
สืบ นาคะเสถียร มีชื่อเดิมว่า “สืบยศ” มีชื่อเล่นว่า “แดง” เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม 2492
ที่ตำบลท่างา อำเภอเมืองจังหวัดปราจีนบุรี เป็นลูกของนายสลับ นาคะเสถียร
อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีน และนางบุญเยี่ยม นาคะเสถียร มีพี่น้องทั้งหมด 3 คน
สืบ เข้าเรียนชั้นประถมตอนต้นที่โรงเรียนประจำจังหวัดปราจีนบุรี มีผลการเรียนดีมาตลอด
เมื่อจบประถมศึกษาปีที่ 4 ได้เรียนต่อที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
ครั้นจบมัธยมศึกษาปีที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2511 ได้เข้าศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2514
หลังจากสำเร็จการศึกษาได้เข้าทำงานที่การเคหะแห่งชาติ จนถึงปี พ.ศ. 2517
ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทในสาขาวิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2518
เมื่อสำเร็จปริญญาโท สืบเข้ารับราชการเป็นพนักงานป่าไม้ตรี กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้
ขณะนั้นกองอนุรักษ์สัตว์ป่าเพิ่งก่อตั้งขึ้น สืบเลือกทำงานในหน่วยงานนี้
เพราะต้องการงานเกี่ยวกับสัตว์ป่า
งานแรกของสืบคือการประจำอยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี
ณ ที่แห่งนี้เอง ที่สืบเริ่มรับรู้ว่า มีผู้ทรงอิทธิพล บุกรุกทำลายป่าเป็นจำนวนมาก
ต่อมาปี พ.ศ. 2522 สืบได้รับทุนการศึกษาจากบริติชเคาน์ซิล จึงศึกษาระดับปริญญาโท
สาขาอนุรักษวิทยา มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ และสำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2524
เมื่อเรียนจบก็กลับมารับตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ มีส่วนร่วมฝึกอบรม
พนักงานพิทักษ์ป่าหลายรุ่น
ปี พ.ศ. 2526 สืบขอย้ายไปเป็นนักวิชาการประจำกองอนุรักษ์สัตว์ป่า
เพื่อทำหน้าที่วิจัยสัตว์ป่าเพียงอย่างเดียว
ในระยะนี้ สืบ มีโอกาสทำงานทางวิชาการอันเป็นที่รักของเขาอย่างเต็มที่ จึงผูกพันกับสัตว์และป่า
งานวิจัยในช่วงแรก ว่าด้วยจำนวน ชนิด พฤติกรรม และการทำรังของนก สืบ ยังริเริ่มในการใช้
เครื่องมือสมัยใหม่เพื่อบันทึกการวิจัย เช่น กล้องวีดิทัศน์ กล้องถ่ายภาพ และการสเก็ตซ์ภาพ
ข้อมูลของ สืบ กลายเป็นผลงานวิจัยสัตว์ป่าชิ้นสำคัญในภายหลัง เช่น สไลด์ภาพสัตว์ป่าหายาก
กับทั้งวีดิโอบันทึกความเป็นอยู่ของสัตว์ป่าและการทำลายป่าในประเทศไทย ที่ สืบ ถ่ายเองกับมือ
ในปี พ.ศ. 2528 สืบ ได้ติดตามนักวิจัยชาวต่างชาติซึ่งได้รับทุนจากนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟิก
พร้อมด้วยอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าไปสำรวจกวางผา สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ในดอยม่อนจอง
จังหวัดเชียงใหม่ เวลานั้น ชาวบ้านจุดไฟล่าสัตว์จนเกิดไฟป่า คณะของสืบ หนีไฟป่ากันอย่างโกลาหล
เป็นเหตุให้ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ตกหน้าผาถึงแก่ความตาย 1 คน
ในปี พ.ศ. 2529 สืบได้เป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เขื่อนรัชชประภา
(เขื่อนเชี่ยวหลาน) บริเวณแก่งเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
สืบได้ช่วยอพยพสัตว์ป่าที่ตกค้างอยู่ในแก่งเพราะปัญหาการสร้างเขื่อนจนเกิดน้ำท่วม
ช่วยเหลือสัตว์ได้ 1,364 ตัว ส่วนมากที่เหลือถึงแก่ความตาย
สืบ จึงเข้าใจว่า งานวิชาการเพียงอย่างเดียว ไม่อาจช่วยพิทักษ์ป่า ซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติได้
ในภายหลัง สืบ ได้ร่วมกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์หลายอย่าง เช่น คัดค้านรัฐบาล
ในการที่จะสร้างเขื่อนน้ำโจน บริเวณทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี
สืบ ยังได้รายงานผลการอพยพสัตว์ต่อสาธารณชน
เพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักภัยป่า โดยยืนยันว่าการสร้างเขื่อนมีโทษมากกว่าคุณ
เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติชนิดที่ชดเชยภายหลังมิได้
จนกระทั่งนักอนุรักษ์ได้รวมกลุ่มสนับสนุน สืบ โครงการสร้างเขื่อนน้ำโจน จึงระงับไปในที่สุด
ระหว่างนั้น สืบได้เป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จังหวัดสุราษฏร์ธานีอีกตำแหน่ง
ในปี พ.ศ. 2530 ได้ปฏิบัติงานในโครงการศึกษาผลกระทบสภาพแวดล้อมเพื่อพัฒนา
พื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดงในจังหวัดนราธิวาสด้วย
ปี พ.ศ. 2531 สืบกลับเข้ารับราชการที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่า และพยายามเสนอให้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง เป็นมรดกโลกเพื่อเป็นหลักประกันว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดังกล่าว
จะได้รับการพิทักษ์รักษาถาวร
ปลายปี พ.ศ. 2532 สืบ ได้รับทุนศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ
พร้อมกับได้รับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งด้วย
ปี พ.ศ. 2533 สืบ จึงตั้งกองทุนเพื่อรักษาป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร ได้ดำเนินกิจกรรม
หลายประการเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและอพยพ สัตว์ป่าที่ยังตกค้างอยู่ใน แก่งเชี่ยวหลาน
ความพยายามของสืบนั้นไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ไม่ให้ความสนใจ
ชาวบ้านท้องถิ่น ก็สนใจปัญหาปากท้องตัวเองมากกว่า เปิดช่องทางให้ผู้มีอิทธิพลเข้ารุกรานป่า
โดยผ่านการจ้างวานชาวบ้านในท้องถิ่นอีกที เป็นปัญหาที่ไร้ทางออก
สืบเสนอให้สร้างแนวป่ากันชนเพื่อกันชาวบ้านออกนอกแนวกันชน และพัฒนาพื้นที่ในแนวกันชน
ให้เป็นป่าชุมชนที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ได้ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นกัน
รุ่งสางของวันที่ 1 กันยายน 2533 ที่บริเวณบ้านพักเจ้าหน้าที่ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
เสียงปืนนัดหนึ่ง ดัง ขึ้นท่ามกลางป่าใหญ่ เสียงปืนนัดนั้นมิได้ เงียบหาย ไปเหมือนเสียงปืนนัดอื่นๆ
แต่ เสียงปืนนัดนั้น ยังดังก้องสะท้อนต่อมาอีกนับหลายสิบปี
สืบ นาคะเสถียร จากไปแล้วแต่เจตนารมณ์ในการอนุรักษณ์ ยังคงอยู่
18 กันยายน 2533 ผู้ใหญ่ในสังคมและพ้องเพื่อนนักอนุรักษ์ ได้ร่วมกันก่อตั้ง มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
เพื่อทำงานอนุรักษณ์ สืบทอดเจตนารมณ์ ของ สืบ นาคะเสถียร
26 เมษายน 2536 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินมาที่
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อทรงเปิด อนุสรณ์สถาน สืบ นาคะเสถียร
ข้อมูลจาก
สืบ นาคะเสถียร – วิกิพีเดีย (wikipedia.org)
ประวัติ สืบ นาคะเสถียร – มูลนิธิสืบนาคะเสถียร (seub.or.th)
You must be logged in to post a comment Login