Connect with us

Social

การปฏิรูปเชิงโครงสร้างครั้งที่ 2 ของประเทศไทย | The Second Great Reform

Published

on

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสังคายนา ยกร่างธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการขับเคลื่อนระบบราชการเพื่ออนาคต  

ยังคงนำเสนอแนวคิดเพื่อขับเคลื่อนประเทศในระดับโครงสร้างอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้นำเสนอบทความเพื่อการปฎิรูปประเทศอย่างเป็นระบบ สำนักข่าวโตโจ้นิวส์ขอนำมาเผยแพร่ดังนี้ 

 “การปฏิรูปเชิงโครงสร้างครั้งที่ 2 ของประเทศไทย | The Second Great Reform 

ประเทศไทยกำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องทำสงครามต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ ทำสงครามต่อสู้กับปัญหาความยากจน ตลอดจนทำสงครามต่อสู้กับความไม่สงบภายในประเทศ 

ในทศวรรษจากนี้ไป ประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ จนทำให้ปัญหาที่มีอยู่เดิมมีความซับซ้อนและทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น อันได้แก่ 

– สงครามต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำในหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการเรียนรู้ ความเหลื่อมล้ำทางโอกาส หรือความเหลื่อมล้ำของรายได้และทรัพย์สิน  

– สงครามต่อสู้กับภัยคุกคามไม่ตามแบบในปัจจุบัน อาทิโรคระบาด โรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ เครือข่ายยาเสพติดข้ามชาติ เครือข่ายการก่อการร้ายข้ามชาติ สงครามไซเบอร์ รวมถึงการครอบงำโดยประเทศมหาอำนาจในรูปแบบใหม่

การปฏิรูปเชิงโครงสร้างครั้งที่ 2 ของประเทศไทย 

หากย้อนดูประวัติศาสตร์ร่วมสมัย อาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีการ “ปฏิรูปเชิงโครงสร้าง” 

ที่นำไปสู่การพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยะประเทศเพียงครั้งเดียว นั่นคือการปฏิรูปประเทศในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช รัชกาลที่ 5 นับเป็น “The First Great Reform” ซึ่งเป็นผลมาจากภัยคุกคามจากลัทธิล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ประกอบกับวิสัยทัศน์และพระปรีชาสามารถของพระองค์ ทำให้บ้านเมืองเกิดความเป็นปึกแผ่น เกิดการสร้างรัฐชาติไทยที่เข้มแข็ง มีการเลิกทาส การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการนำเทคโนโลยี วิทยาการ และการบริหารจัดการที่นำสมัยจากต่างประเทศ มาประยุกต์ให้เหมาะกับบริบทของประเทศไทย

อาจกล่าวได้ว่า กระบวนทัศน์การพัฒนาที่อยู่เบื้องหลัง “The First Great Reform” คือ “การพัฒนาที่มุ่งสู่ความทันสมัย” เพื่อเร่งให้รัฐชาติไทยก้าวทันประเทศที่พัฒนาแล้วในประชาคมโลก 

ต่างจากในยุคปัจจุบัน ประเทศไทยต้องเผชิญกับแรงปะทะสองแนว ทั้ง “แรงกดดันจากภายนอก” อาทิ ระบบทุนนิยมโลก การจัดระเบียบโลกใหม่ ภัยคุกคามไม่ตามแบบ รวมถึงลัทธิล่าอาณานิคมในรูปแบบใหม่ และ “แรงประทุจากภายใน” อาทิ ความขัดแย้งที่รุนแรง ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากร ปัญหาชุมชนและการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ตลอดจนปัญหาคุณค่าและวัฒนธรรมในท้องถิ่นที่ถูกกลืนโดยวัตถุนิยม บริโภคนิยม และสุขนิยม ที่เป็นผลข้างเคียงจากความมักง่ายในการรับเอาระบบทุนนิยมมาใช้โดยไม่มีการเตรียมพร้อม

การจะพัฒนาประเทศให้ก้าวข้ามปัญหาวิกฤตและภัยคุกคามต่างๆเหล่านี้ จำเป็นจะต้องผลักดันให้เกิด “The Second Great Reform” ซึ่งมีกระบวนทัศน์การพัฒนาที่แตกต่างจาก “The First Great Reform” อย่างสิ้นเชิง จากการพัฒนาที่ “มุ่งสู่ความทันสมัย” (Modernism) ไปสู่การพัฒนาที่ “มุ่งสู่ความยั่งยืน” (Sustainism) เพื่อนำพาความเป็นปกติสุขมาสู่ประเทศไทยและประชาคมโลก

 “The Second Great Reform” ที่จะตอบโจทย์การพัฒนาที่ “มุ่งสู่ความยั่งยืน” 

ในโลกหลังโควิด ประกอบไปด้วย “ 7 วาระประเทศไทย”  

วาระที่ 1| สร้างสังคมที่เป็นธรรม 

วาระที่ 2| ปูฐานราก ปักเสาหลัก ประชาธิปไตย 

วาระที่ 3| ซ่อมวัฒนธรรมเดิม สร้างวัฒนธรรมใหม่ 

วาระที่ 4| รู้จักเติม รู้จักพอ รู้จักปัน 

วาระที่ 5| สร้างรัฐที่น่าเชื่อถือ 

วาระที่ 6| เปลี่ยนกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 

วาระที่ 7| เตรียมคนไทยสู่โลกที่หนึ่ง** 

กุญแจสำคัญที่จะทำให้ “The Second Great Reform” ประสบผลสำเร็จก็คือ…การเชื่อมโยงหลักคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในโลกหลังโควิด  

**รายละเอียดของแต่ละวาระประเทศไทย ผมได้โพสท์ไว้ใน fb นี้ก่อนหน้านั้นแล้วครับ”

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Click to comment

You must be logged in to post a comment Login

Leave a Reply

Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: