Connect with us

On this day

๑๒ สิงหาคม วันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

Published

on

ภาพจาก
พระพันปีหลวงในโว้กอเมริกา! ย้อนชมภาพสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ในโว้กเมื่อ 57 ปีที่แล้ว (vogue.co.th)

เนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ขณะที่พระราชสวามีเสด็จออกผนวช
ระหว่างวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ – ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙
พระองค์จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 
เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ถือเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์ที่สอง
ของกรุงรัตนโกสินทร์ต่อจากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๕

จอมพลหญิง จอมพลเรือหญิง จอมพลอากาศหญิง นายกองใหญ่ 
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 
นามเดิม หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถ
ในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 
เป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
 และโดยพระชนมพรรษาจึงนับเป็นพระกุลเชษฐ์พระองค์ปัจจุบันในพระบรมราชจักรีวงศ์

ภาพจาก แม่นมาก..คำทำนายของแขกเลี้ยงวัว ทักอนาคตสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ – ความลับระดับ Top secret (talk–secret.blogspot.com)

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เป็นธิดาในหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร 
(ภายหลังคือ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร
(ราชสกุลเดิม สนิทวงศ์) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๕
ณ บ้านของพลเอก เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) 
บ้านเลขที่ ๑๘๐๘ ถนนพระรามที่ ๖ ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร 
อันเป็นบ้านของพระอัยกาฝ่ายพระราชมารดา มีพระเชษฐาสองคน
คือหม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากรและหม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร 
และมีพระขนิษฐาหนึ่งคนคือท่านผู้หญิงบุษบา สธนพงศ์

สำหรับพระนาม “สิริกิติ์” ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 
มีความหมายว่า “ผู้เป็นศรีแห่งกิติยากร” เรียกโดยลำลองว่า “คุณหญิงสิริ”
ส่วนพระราชสวามีจะทรงเรียกว่า “แม่สิริ”

เมื่อหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์มีอายุราว ๒ ขวบ ขณะที่พี่เลี้ยงอุ้มอยู่นั้นก็มีแขกเลี้ยงวัว
เข้ามาทำนายทายทัก ว่าเด็กผู้หญิงคนนี้จะมีบุญวาสนาได้เป็นราชินีในอนาคต
ดังที่ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ได้เล่าไว้ ความว่า

หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ในวัยเยาว์
ภาพจาก แม่นมาก..คำทำนายของแขกเลี้ยงวัว ทักอนาคตสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ – ความลับระดับ Top secret (talk–secret.blogspot.com)

“…วันหนึ่งขณะที่พี่เลี้ยงอุ้ม ม.ร.ว.สิริกิติ์
เดินเล่น พอดีขณะนั้นมีแขกเลี้ยงวัว ซึ่งเป็นเพื่อนของแขกยามประจำบ้านมาหากัน
พอแขกที่มาเหลือบเห็น ม.ร.ว.สิริกิติ์
ก็จ้องมองพร้อมทั้งกวักมือเรียกพี่เลี้ยงขอให้เห็นใกล้ ๆ หน่อย เมื่อเข้ามาใกล้มองดูสักครู่ก็พูดว่า “ต่อไปจะเป็นมหารานี” พี่เลี้ยงได้ฟัง
ก็ชอบใจเที่ยวเล่าให้คุณยายและใครต่อใครฟัง
ถึงไม่เชื่อแต่ก็ปลื้มใจ
ต่อมาเมื่อ ม.ร.ว.สิริกิติ์ เจริญวัยขึ้น เลยเป็นเหตุให้คุณพี่ชายทั้งสองคนเอามาล้อเลียนเป็นที่ขบขันว่าเป็นราชินีแห่งอบิสซีเนีย [เอธิโอเปียในปัจจุบัน] บางครั้งถึงกับทำให้ผู้ถูกล้อต้องนั่งร้องไห้ด้วยความอายและเจ็บใจ แต่พี่ชายทั้งสองก็ยังไม่หยุดล้อ กลับเอาเศษผ้าขาด ๆ มาทำเป็นธงโบกอยู่ไปมา พร้อมทั้งบอกว่าเป็นธงประจำตัวของราชินี “

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง – วิกิพีเดีย (wikipedia.org)

ในระหว่างยังทรงพระเยาว์ สถานการณ์บ้านเมืองไม่สู้สงบนัก เนื่องจากเพิ่งพ้นจากช่วงของ
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ มาได้ไม่นาน
หม่อมเจ้านักขัตรมงคลต้องทรงออกจากราชการทหาร โดยรัฐบาลแต่งตั้งให้ไปรับตำแหน่ง
เลขานุการเอกประจำสถานทูตสยาม ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา 
ส่วนหม่อมหลวงบัว ซึ่งมีครรภ์แก่ยังคงอยู่ในสยาม แต่ได้เดินทางไปสมทบ
ภายหลังจากให้กำเนิดหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้ ๓ เดือน โดยมอบหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์
ให้อยู่ในความดูแลของเจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์)
และท้าววนิดาพิจาริณี (บาง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) บิดาและมารดาของหม่อมหลวงบัว
ดังนั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์จึงต้องอยู่ไกลจากบิดามารดาตั้งแต่อายุน้อย
บางคราวต้องเดินทางไปต่างจังหวัด เช่น พ.ศ. ๒๔๗๖ หม่อมเจ้าอัปษรสมาน กิติยากร
พระมารดาของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ได้ทรงรับนัดดา
ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปอยู่ที่จังหวัดสงขลา

ปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๗ หม่อมเจ้านักขัตรมงคล ทรงลาออกจากราชการแล้วกลับมาสยาม
จึงทำให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ซึ่งขณะนั้นอายุได้ ๒ ปี ๖ เดือน
ได้กลับมาอยู่พร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว ณ ตำหนักในวังเทเวศร์ 
บริเวณถนนกรุงเกษม ปากคลองผดุงกรุงเกษม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
พ.ศ. ๒๔๗๙ เมื่อหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์มีอายุได้ ๔ ปี
ก็ได้เข้ารับการศึกษาครั้งแรกในชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินี 
ต่อมาได้ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ เพราะอยู่ใกล้วังบิดา
ได้เรียนที่นั่นตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ จนถึงชั้นมัธยมศึกษา
หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้เริ่มเรียนเปียโน ซึ่งเรียนได้ดีและเร็วเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ยังได้ศึกษาภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสซึ่งทรงสันทัดเช่นกัน

พ.ศ. ๒๔๘๙ ครั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง หม่อมเจ้านักขัตรมงคลต้องเสด็จ
ไปดำรงตำแหน่งอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำสำนักเซนต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ 
ทั้งนี้ได้ทรงพาครอบครัวทั้งหมดไปอยู่ด้วย ในเวลานั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ มีอายุได้ ๑๓ ปีเศษ
และเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ แล้ว 

ภาพจาก ความลับระดับ Top secret (talk–secret.blogspot.com)

ขณะที่อยู่ในประเทศอังกฤษ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้ศึกษาต่อทั้งวิชาภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส
และวิชาเปียโนกับครูพิเศษ หลังจากนั้นไม่นาน บิดาย้ายไปประเทศเดนมาร์กและฝรั่งเศสตามลำดับ
ขณะที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ก็ยังคงเรียนเปียโนและตั้งใจจะศึกษาต่อในวิทยาลัยการดนตรี
ที่มีชื่อเสียงของกรุงปารีสจนจบ

ระหว่างที่อยู่ในประเทศฝรั่งเศส หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้มีโอกาสรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
(ขณะนั้นทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์)
ซึ่งพระองค์เสด็จประพาสกรุงปารีสเพื่อทอดพระเนตรโรงงานทำรถยนต์
ทั้งนี้เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดการดนตรีเป็นพิเศษ
ขณะที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ก็สนใจศิลปะเช่นกัน ทำให้เกิดความสัมพันธ์ขึ้น

วันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์
ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโดยมีหม่อมหลวงบัว
และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เข้าเฝ้าฯ เยี่ยมพระอาการเป็นประจำ
และในช่วงระยะเวลาที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์อยู่เฝ้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ที่สวิตเซอร์แลนด์นั้น สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ทรงรับเป็นธุระจัดการ
ให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เข้าศึกษาในโรงเรียน Pensionnat Riante Rive
ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำแห่งหนึ่งของโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงหายจากอาการประชวรแล้ว
ก็ได้ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เป็นการภายในเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๒

หลังจากทรงหมั้นแล้ว หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ยังคงศึกษาต่อ กระทั่ง พ.ศ. ๒๔๙๓
เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินนิวัตประเทศไทย
เพื่อร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล 
พระองค์ท่านโปรดฯ ให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ตามเสด็จพระราชดำเนินกลับด้วย

ภาพจาก ความลับระดับ Top secret (talk–secret.blogspot.com)

เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส
ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์จึงจัดขึ้น ณ วังสระปทุม 
โดยมีสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จฯ เป็นองค์ประธาน
ในการนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงลงพระปรมาภิไธยในทะเบียนสมรส
และโปรดให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร พร้อมทั้งสักขีพยาน ลงนามในทะเบียนนั้น
หลังจากนั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จออกในพระราชพิธีถวายน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์
แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและทรงรดน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์แด่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์
ในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสตามโบราณราชประเพณี
ต่อมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชโปรดเกล้าฯ
ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรขึ้นเป็น “สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์
พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์
อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ในการนี้ด้วย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ขณะเสด็จเยือนประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี พ.ศ. 2503
ภาพจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง – วิกิพีเดีย (wikipedia.org)

ต่อมา ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ทรงพระราชดำริว่า ตามโบราณราชประเพณีเมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า
ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ย่อมโปรดให้สถาปนาเฉลิมพระเกียรติ
ยศสมเด็จพระอัครมเหสีขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ดังนั้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น 
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี หลังจากนั้นทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ
กลับไปยังสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงรักษาพระองค์และทรงศึกษาต่อ
จนกระทั่ง พระองค์มีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี 
และเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอมีพระชันษาได้ ๓ เดือน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีจึงเสด็จนิวัติประเทศไทย

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทรงให้สัตย์ปฏิญาณในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภา 
ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๙
ภาพจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง – วิกิพีเดีย (wikipedia.org)

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชประสงค์จะผนวช
เป็นพระภิกษุระหว่างวันที่ ๒๒ ตุลาคม ถึง ๕ พฤศจิกายน เป็นระยะเวลา ๑๕ วัน
จึงต้องมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนั้นพระองค์ทรงพระราชดำริว่าสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้ทรงพระปรีชาสามารถในอันที่จะรับพระราชภารกิจในคราวนี้ได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในระหว่างที่ผนวช

ต่อมา ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคมปีเดียวกันนี้
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการประกาศว่า
ตามราชประเพณี เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี
ได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เคยมีประกาศให้ออกพระนามว่า
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
พระบรมราชินีได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ผนวช
และได้ปฏิบัติพระราชภารกิจแทนพระองค์ด้วยพระปรีชาสามารถ สนองพระราชประสงค์เป็นที่เรียบร้อย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีว่า
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” นับว่าทรงเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ
พระบรมราชินีนาถพระองค์ที่ ๒ ในประเทศไทย โดยพระองค์แรก
คือสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ
(ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง)

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถกับงานมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ
ภาพจาก กำเนิดมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ฯ สยามรัฐ (siamrath.co.th)

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจมากมาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต อาชีพ และความเป็นอยู่ของบุคคลผู้ยากไร้
และประชาชนในชนบทห่างไกล ได้โดยเสด็จพระราชดำเนิน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทั่วทุกหนแห่งในแผ่นดินไทยนี้

โครงการที่มีสาขาขยายกว้างขวางไปทั่วประเทศโครงการหนึ่งก็คือ โครงการส่งเสริมศิลปาชีพ 
ซึ่งในภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ก่อตั้ง เป็นรูปมูลนิธิ พระราชทานนามว่า
“มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในพระบรมราชินูปถัมภ์” เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๙
และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้เปลี่ยนชื่อ เป็น มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
พระบรมราชินีนาถ อันเป็นการส่งเสริมอาชีพและขณะเดียวกันยังอนุรักษ์
และส่งเสริมงานศิลปะพื้นบ้านที่มีความงดงามหลายสาขา เช่น การปั้น การทอ การจักสาน เป็นต้น

นอกจากนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ยังทรงเอาพระทัยใส่ในกิจการด้านสาธารณสุข 
โดยได้ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทย และหากเสด็จฯ เยือนต่างประเทศ
ก็มักจะทรงถือโอกาสเสด็จฯ ทอดพระเนตรกิจการกาชาดของประเทศนั้น ๆ
เพื่อทรงนำมาปรับปรุงกิจการสภากาชาดไทยอยู่เสมอ

เช้าตรู่วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ทรงมีอาการเวียนพระเศียรและเซขณะทรงออกพระกำลัง ณ โรงพยาบาลศิริราช
ที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชประทับอยู่
คณะแพทย์ตรวจพระองค์โดยวิธีสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็กแล้วแถลงว่า
ทรงประสบภาวะพระสมองขาดเลือด (ischemic stroke)

พระองค์จึงประทับรักษาพระวรกายอยู่ ณ โรงพยาบาลศิริราช
และทรงงดเว้นพระราชกิจนับแต่นั้น รวมถึงการเสด็จออกมหาสมาคม
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๕ พรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕

ต่อมาวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๖ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเผยถึงพระอาการว่า
ทรงได้รับการรักษาและบำบัดจนทรงหายดีขึ้นเป็นที่น่าพอใจของแพทย์
ทรงพระดำเนินได้คล่องแคล่วและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
แต่แพทย์ยังให้พระองค์เว้นพระราชกิจไปก่อน

ครั้นวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ได้แปรพระราชฐานไปยังพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล
พร้อมพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
สำนักพระราชวังแถลงว่า ทรงปวดพระอังสากับข้อพระกรซ้าย
คณะแพทย์ตรวจแล้วพบว่าพระนหารูอักเสบ จึงถวายพระโอสถและกายภาพบำบัด

สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการส่วนพระองค์
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๒ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
ภาพจาก พระพันปีหลวง ในหลวง พระราชินี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการส่วนพระองค์ (khaosod.co.th)

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถปรากฏพระองค์ ขณะเสด็จฯ
ตามพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ออกจากโรงพยาบาลศิริราช ณ วันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
โดยทรงโบกพระหัตถ์ให้แก่ประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จฯก่อนเสด็จกลับพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 
หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี ผู้ถวายงาน กล่าวว่าพระองค์ทรงมีพลานามัยแข็งแรงดี


ข้อมูลจาก

Continue Reading
Advertisement ad-02-doosoft.jpg
Click to comment

You must be logged in to post a comment Login

Leave a Reply

Advertisement QK6ZtN.png

Copyright © 2022 TOJO.NEWS

%d bloggers like this: